เนื้อตายเน่า (Gangrene)

ความหมาย เนื้อตายเน่า (Gangrene)

Gangrene หรือเนื้อตายเน่า เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายตายจนทำให้เกิดการเน่า โดยอาจมีอาการบวมหรือเกิดเป็นตุ่มพองขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณนั้น ภาวะนี้เกิดจากเนื้อเยื่อขาดเลือด หรือได้รับเลือดจากระบบไหลเวียนเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย

อวัยวะส่วนที่มักได้รับผลกระทบ คือ อวัยวะที่อยู่บริเวณไกลจากหัวใจ เช่น แขน ขา นิ้วมือ และนิ้วเท้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Gangrene สามารถเกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะภายในรวมถึงกล้ามเนื้อด้วย และอาจแพร่กระจายลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จนอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น การเจ็บป่วยนี้จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันที

อาการของเนื้อตายเน่า

โดยทั่วไป Gangrene มักทำให้เกิดอาการบวม มีตุ่มน้ำพองขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ มีกลิ่นเหม็นโชยออกมา รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณนั้น โดยผิวหนังจะบาง มันวาว ไม่มีขนขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างผิวหนังบริเวณที่มีสุขภาพดีกับบริเวณที่เกิดความเสียหายได้อย่างชัดเจน และผู้ป่วยจะรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสโดน ในบางกรณีก็อาจมีอาการปวดอย่างฉับพลันรุนแรง และอาจมีอาการชาเกิดขึ้นตามมาด้วย

ทั้งนี้ ลักษณะอาการที่ปรากฏอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของ Gangrene ด้วย ได้แก่

Dry Gangrene

เนื้อตายเน่าชนิดแห้งอาจมีอาการ ดังนี้

  • ผิวหนังจะแห้งและเหี่ยวย่น
  • ผิวหนังบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมม่วงจนกลายเป็นสีดำ และจะหลุดออกมาในที่สุด
  • ผิวหนังจะเย็นและรู้สึกชา
  • อาจมีหรือไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

Wet Gangrene

เนื้อตายเน่าชนิดเปียกอาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้

  • มีตุ่มน้ำพองหรือแผลมีหนองขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่เรียกว่าเนื้อตายเน่าชนิดเปียก
  • มีอาการบวมบริเวณตุ่มน้ำที่พองหรือเกิดแผลมีหนอง และมีกลิ่นเหม็นโชยออกมา
  • เจ็บปวดบริเวณที่ติดเชื้อ
  • สีผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาล จนกลายเป็นสีดำคล้ำในที่สุด
  • รู้สึกไม่สบายตัวและมีไข้

Gas Gangrene

ผู้ป่วยที่มีเนื้อตายเน่าชนิดที่มีการปล่อยแก๊สอาจพบอาการต่อไปนี้

  • ผิวหนังจะค่อย ๆ ซีด และสีผิวเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีแดงอมม่วง
  • ผิวหนังจะมีลักษณะสัมผัสคล้ายลม หากกดลงบนบริเวณที่เกิดอาการจะมีเสียงกรอบแกรบ เนื่องจากมีแก๊สอยู่ภายในเนื้อเยื่อ
  • มีทั้งหนองและลมอยู่ภายในบริเวณที่เกิดอาการ
  • มีไข้ต่ำและรู้สึกไม่สบายตัว
  • เนื้อเยื่อบวมและรู้สึกเจ็บปวดมาก

Internal Gangrene

เนื้อตายเน่าที่อวัยวะภายในอาจทำให้เกิดอาการ เช่น

  • มีไข้และรู้สึกไม่สบายตัวโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานาน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เจ็บปวดภายในร่างกายบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

Fournier's Gangrene

โรคเนื้อตายเน่าบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์อาจส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดและมีอาการบวมบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
  • มีไข้และรู้สึกไม่สบายตัว
  • มีกลิ่นเหม็นออกมาจากเนื้อเยื่อผิวหนังที่เกิดอาการ
  • อาจเกิดภาวะขาดน้ำและภาวะเลือดจางด้วย

1861 Gangrene rs

สาเหตุของเนื้อตายเน่า

สาเหตุที่สำคัญของ Gangrene คือ การขาดเลือด เนื่องจากเลือดมีหน้าที่สำคัญในการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันด้วย หากเลือดไม่สามารถเดินทางไปยังบริเวณใดของร่างกายได้ เซลล์ในบริเวณนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งการบาดเจ็บและบาดแผลต่าง ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทั้งยังง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอลล์ การใช้ยาหรือสารเสพติดที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น ส่วนโรคบางชนิดก็อาจทำให้เกิด Gangrene ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหลอดเลือดหดตัวเรเนาด์ โรคอ้วน การเกิดลิ่มเลือด ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อ HIV และโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น

โดย Gangrene แต่ละประเภทจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • Dry Gangrene เกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีหรือถูกปิดกั้น พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง โดยมักเกิดบริเวณมือและเท้า แม้มักไม่ค่อยพบการติดเชื้อ Gangrene ชนิดนี้ แต่ก็อาจนำไปสู่ Wet Gangrene ได้เช่นกัน
  • Wet Gangrene เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งมักเป็นผลจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น มีแผลจากการถูกไฟไหม้ หรือเกิดการบาดเจ็บตามร่างกาย เป็นต้น เมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังบริเวณดังกล่าวได้ จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นตาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซึ่งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • Gas Gangrene เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium Perfringens) ซึ่งทำให้เกิดสารพิษที่ปล่อยแก๊สออกมาได้ แม้จะไม่ค่อยพบ Gangrene ประเภทนี้มากนัก แต่ก็มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
  • Internal Gangrene เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะภายในถูกปิดกั้น โดยมักพบในอวัยวะ เช่น ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • Fournier's Gangrene เกิดจากการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ุ โดยมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยเนื้อตายเน่า

ในเบื้องต้น แพทย์อาจประเมินจากอาการรวมทั้งประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และอาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย ดังนี้

การตรวจเลือด

แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งหากมีการติดเชื้อจะตรวจพบว่ามีเซลล์เม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ

การตรวจจากภาพถ่าย

สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเอกซเรย์ การทำ CT Sacn หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการทำ MRI Scan หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อดูโครงสร้างภายในร่างกาย เช่น อวัยวะภายใน กระดูก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ประเมินการแพร่กระจายของ Gangrene ได้ รวมทั้งช่วยให้มองเห็นแก๊สที่อยู่ใต้ผิวหนังด้วย นอกจากนี้ อาจตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดโดยใช้สารทึบรังสีร่วมกับการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดด้วย

การตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่ง

แพทย์อาจนำเนื้อเยื่อตัวอย่างจากบริเวณที่ผิดปกติมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาเซลล์เนื้อเยื่อที่ตาย หรืออาจนำตัวอย่างสารคัดหลั่งจากตุ่มพองไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิด Gas Gangrene ร่วมกับการตรวจเพาะเชื้อ

การผ่าตัด

ในบางกรณี แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อตรวจดูขอบเขตการแพร่กระจายของ Gangrene ภายในร่างกายของผู้ป่วย

การรักษาเนื้อตายเน่า

ผู้ป่วย Gangrene จะต้องได้รับการรักษาทันที โดยวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการด้วย ดังนี้

การใช้ยาปฏิชีวนะ

วิธีนี้เป็นการใช้ยาเพื่อรักษาการติดเชื้อ มีทั้งยาแบบรับประทานและยาที่ต้องฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะด้วย ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาจนกว่าการผ่าตัดครั้งสุดท้ายจะผ่านไปและไม่พบการติดเชื้อแล้ว

การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy)

การบำบัดนี้เป็นการรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจรับออกซิเจนเข้าไปในร่างกายอย่างเต็มที่ โดยเข้าไปอยู่ในอุโมงค์ออกซิเจนซึ่งมีความดันบรรยากาศสูงเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือด เพราะเลือดที่มีออกซิเจนอยู่มากจะชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และยังช่วยทำให้แผลติดเชื้อหายเร็วขึ้นอีกด้วย

การผ่าตัด

แพทย์อาจต้องผ่าตัดกำจัดเนื้อเยื่อส่วนที่ตายแล้วออกไป เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะที่ได้รับผลกระทบออกไปด้วย เช่น แขนหรือขา เป็นต้น เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ โดยผู้ป่วยสามารถใช้แขนหรือขาเทียมในภายหลังได้ เพื่อทดแทนอวัยวะส่วนที่ถูกตัดออกไป นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดหลอดเลือดด้วย เพื่อให้เลือดไหลเวียนผ่านเส้นเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น

การบำบัดด้วยตัวหนอน (Maggot Therapy)

ขั้นตอนนี้เป็นวิธีการรักษาโดยใช้หนอนแมลงวัน ซึ่งหนอนชนิดนี้จะกัดกินเนื้อเยื่อตายบริเวณบาดแผล และยังช่วยลดการติดเชื้อได้ด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้อตายเน่า

โดยทั่วไปแล้ว Gangrene อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ และผู้ป่วยอาจต้องได้รับการศัลยกรรมตกแต่งบริเวณดังกล่าวด้วย แต่หากผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้ออาจลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดภาวะช็อกได้ ซึ่งมักเป็นภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อที่ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ เป็นไข้ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ หายใจถี่ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วย Fournier’s Gangrene อาจเสี่ยงเกิดภาวะโลหิตจางด้วย ซึ่งจะทำให้มีอาการตัวซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดหัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และอาจส่งผลให้หัวใจล้มเหลวได้

การป้องกันเนื้อตายเน่า

โดยทั่วไป อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิด Gangrene ได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เป็นสาเหตุของ Gangrene
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด เป็นต้น
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจทำให้เกิดบาดแผล เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
  • หากเกิดบาดแผลขึ้น ควล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน และหมั่นดูแลให้แผลแห้งจนกว่าจะหายดี
  • ระมัดระวังเมื่อต้องอยู่ในอุณหภูมิที่หนาวเย็น เพราะอากาศที่เย็นจัดสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้
  • ใช้ยาปฏิชีวนะก่อนหรือหลังการผ่าตัดอย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
  • ลดหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต
  • สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งหมั่นตรวจมือและเท้าอยู่เสมอว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะ Gangrene หรือไม่
  • รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีสัญญาณอาการของภาวะนี้ เพราะหากรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้