ความหมาย ลิ้นลายแผนที่ (Geographic Tongue)
Geographic Tongue หรือลิ้นลายแผนที่ เป็นภาวะที่ลิ้นเกิดการอักเสบ โดยปุ่มบนลิ้นจะหายไป และมีปื้นที่ดูคล้ายแผนที่เกิดขึ้นบริเวณผิวลิ้นด้านบนหรือด้านข้างลิ้น ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายลิ้นและทำให้ลิ้นไวต่ออาหารที่มีรสเผ็ดหรืออาหารร้อน อย่างไรก็ตาม ลิ้นลายแผนที่ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่อันตราย ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งแต่อย่างใด และในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนี้
อาการของลิ้นลายแผนที่
ส่วนใหญ่ผู้ป่วย Geographic Tongue มักไม่มีอาการใด ๆ บางรายอาจไม่สังเกตเห็นว่าลิ้นมีรูปร่างเปลี่ยนไปจนกว่าจะได้รับการตรวจจากแพทย์ แต่บางรายจะรู้ก็ต่อเมื่อสังเกตเห็นรอยปื้นที่เรียบและเป็นสีแดงที่ผิวลิ้นด้านบนหรือด้านข้างลิ้น ซึ่งทำให้ลิ้นดูคล้ายกับแผนที่ และรอยปื้นดังกล่าวอาจเปลี่ยนตำแหน่งการเกิดไปเรื่อย ๆ รวมทั้งอาจมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป โดยบริเวณขอบรอยปื้นอาจมีสีขาว มีสีซีดจาง และอาจมีพื้นผิวนูนขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายลิ้น เจ็บ หรือปวดแสบปวดร้อนที่ลิ้น โดยเฉพาะเวลาที่รับประทานอาหารที่เผ็ดหรือเปรี้ยว และลิ้นของผู้ป่วยอาจมีความไวต่อสารเคมีบางอย่าง ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือควันบุหรี่
อย่างไรก็ตาม รอยปื้นดังกล่าวอาจเกิดขึ้นและหายไปเองภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรืออาจเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายวัน หลายเดือน หลายปี และอาจกลับมาเกิดซ้ำได้อีก และแม้โดยทั่วไปลิ้นลายแผนที่อาจไม่ใช่สัญญาณอันตราย แต่หากรอยปื้นไม่หายไปภายใน 10 วัน ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะรอยปื้นที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหรือโรคที่อาจส่งผลต่อร่างกายโดยรวมได้
สาเหตุของลิ้นลายแผนที่
แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิด Geographic Tongue อย่างแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น
- ภาวะลิ้นแตกเป็นร่อง เพราะผู้ป่วย Geographic Tongue มักมีภาวะลิ้นแตกเป็นร่องร่วมด้วย
- โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มักทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกแบ่งตัวมากผิดปกติจนเกิดแผ่นปื้นที่หนาและตกสะเก็ดตามร่างกาย จนส่งผลให้รู้สึกคันและไม่สบายตัว โดย Geographic Tongue เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยเป็น Geographic Tongue มาก่อนก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
การวินิจฉัยลิ้นลายแผนที่
Geographic Tongue มีอาการที่สังเกตเห็นได้ง่าย ซึ่งเมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์อาจใช้ไฟฉายส่องหาความผิดปกติบนลิ้นหรือในช่องปากของผู้ป่วย โดยอาจให้ผู้ป่วยพลิกลิ้นไปมา หรือค่อย ๆ แตะลิ้นผู้ป่วยเบา ๆ เพื่อดูว่าผู้ป่วยเจ็บลิ้นหรือลิ้นมีพื้นผิวและลักษณะเปลี่ยนไปหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจหาสัญญาณการติดเชื้ออย่างอาการไข้หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโตที่คอ หรืออาจตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การอักเสบด้วย
การรักษาลิ้นลายแผนที่
ผู้ป่วยมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา เพราะภาวะ Geographic Tongue ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงแม้จะทำให้รู้สึกไม่สบายลิ้นในบางครั้ง รวมทั้งอาการที่ปรากฏอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการระคายเคืองหรืออาการไวต่อสิ่งกระตุ้นของลิ้นได้ เช่น หากรู้สึกระคายเคืองลิ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสจัด เผ็ดร้อน หรือมีกรด ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านั้น รวมทั้งควรงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีรสเผ็ดร้อนด้วย เป็นต้น ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง อาจรับประทานยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน วิตามินเสริม หรือใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาในปาก เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดบนผิวลิ้น รวมถึงอาจใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาต้านฮิสตามีนหรือ เพื่อช่วยลดการอักเสบ การระคายเคือง และอาการเจ็บปวด
ภาวะแทรกซ้อนของลิ้นลายแผนที่
โดยปกติ Geographic Tongue ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนระยะยาวตามมา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีภาวะลิ้นแตกเป็นร่อง ซึ่งมักเกิดร่วมกับ Geographic Tongue และอาจทำให้ระคายเคืองหรือรู้สึกเจ็บลิ้นในบางครั้ง รวมทั้งผู้ป่วยอาจรู้สึกอายหรือกังวลจนเครียดได้ เนื่องจากลิ้นมีลักษณะที่ผิดแปลกไป ขึ้นอยู่กับว่ารอยปื้นเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนมากน้อยเพียงใด
การป้องกันลิ้นลายแผนที่
แม้จะยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะนี้ แต่ผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลิ้นเกิดการระคายเคืองได้ เช่น งดรับประทานอาหารบางประเภท ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากบางชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองลิ้น หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่อาจเป็นสาเหตุของ Geographic Tougue และเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากมีภาวะลิ้นแตกเป็นร่อง เป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือหากคนในครอบครัวมีภาวะ Geographic Tougue เป็นต้น