ความหมาย ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
Hydrocephalus หรือภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เป็นภาวะที่มีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังในโพรงสมองมากเกินไป ทำให้โพรงสมองมีขนาดใหญ่ เกิดการกดทับและทำลายเนื้อสมอง เป็นเหตุให้การทำงานของสมองผิดปกติ จนพัฒนาการของร่างกายและสติปัญญาบกพร่อง โดยทั่วไป Hydrocephalus มักเกิดขึ้นกับเด็กทารกและผู้สูงอายุ
อาการภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
ผู้ป่วยภาวะนี้จะมีอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของ Hydrocephalus และช่วงอายุของผู้ป่วย ดังนี้
Hydrocephalus ในเด็กหรือผู้ใหญ่
Hydrocephalus ในเด็กหรือผู้ใหญ่มักทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะ และมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้นหลังตื่นนอน เนื่องจากน้ำในสมองระบายได้ไม่ดีในท่านอน และอาจมีการคั่งน้ำเพิ่มมากขึ้นขณะนอนหลับ แม้การลุกขึ้นนั่งครู่หนึ่งหลังตื่นนอนอาจช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แต่ต่อมาผู้ป่วยอาจปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องได้
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมกับปวดศีรษะด้วย ดังนี้
- ปวดคอ
- คลื่นไส้ พะอืดพะอม โดยมีอาการรุนแรงขึ้นในตอนเช้า
- มองเห็นเลือนราง หรือเห็นภาพซ้อน
- สับสนมึนงง
- มีปัญหาด้านการจำ การควบคุมสมาธิ และทักษะการคิด
- มีปัญหาในการเดิน และการทรงตัว
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางรายอาจกลั้นอุจจาระไม่ได้ด้วย
- ตื่นยาก ง่วงซึม อาจร้ายแรงถึงขั้นโคม่า หรือหมดสติขั้นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใด ๆ ได้
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ หรือ Hydrocephalus ในผู้สูงอายุ (Normal Pressure Hydrocephalus)
ภาวะนี้มักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ดังนี้
- ปวดศีรษะ
- มีปัญหาในการเดินและการทรงตัว
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- กลั้นอุจจาระไม่ได้
- มีปัญหาในการจำ การคิด และการใช้เหตุผล
- ตอบสนองช้า
- ภาวะสมองเสื่อม
สาเหตุของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
สาเหตุของ Hydrocephalus ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักมีสาเหตุจากอาการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่กระทบต่อสมอง ทำให้เกิดการอุดตันในสมองจนน้ำสมองไม่สามารถระบายไปส่วนต่าง ๆ ได้ สมองผลิตน้ำหล่อเลี้ยงออกมามากเกินไป หรือหลอดเลือดสมองอาจไม่สามารถดูดซับน้ำสมองได้ตามปกติจนเกิดภาวะ Hydrocephalus ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของ Hydrocephalus แต่ละชนิด มีดังนี้
Hydrocephalus ในเด็กหรือผู้ใหญ่
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน
- ภาวะเลือดออกในสมอง เช่น เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง
- เกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- มีเนื้องอกในสมอง
- ทางผ่านของน้ำในสมองแคบตั้งแต่กำเนิด ทำให้กีดขวางการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
Hydrocephalus ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยวัยนี้มักเผชิญภาวะ Hydrocephalus ชนิดความดันปกติ โดยหาสาเหตุไม่ได้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- สมองได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน
- ภาวะเลือดออกในสมอง
- ภาวะติดเชื้อ
- การเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่กระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
การวินิจฉัยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
ในกรณีเด็ก แพทย์จะตรวจหาภาวะตาโหล การตอบสนองช้า หรืออาการกระหม่อมโป่งพอง และวัดเส้นรอบศีรษะว่ามีขนาดใหญ่กว่าเกณฑ์อายุของเด็กหรือไม่ ส่วนผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น และอาจตรวจร่างกายทางระบบประสาท เช่น ตรวจสมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว และสภาวะทางจิต
หลังจากนั้น แพทย์อาจส่งตรวจวินิจฉัย Hydrocephalus ด้วยวิธีอื่นต่อไป ดังนี้
- การวินิจฉัย Hydrocephalus ในเด็กและผู้ใหญ่
แพทย์มักตรวจวินิจฉัยด้วย ซีที สแกน (CT Scan) ซึ่งเป็นการเอกซเรย์และสร้างภาพสมองด้วยคอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan) ซึ่งเป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงฉายภาพอวัยวะภายในร่างกาย การสแกนสมองจะแสดงภาพของเหลวที่ก่อตัวขึ้นในสมอง แรงกดที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างของสมองที่บกพร่อง - การวินิจฉัย Hydrocephalus ในผู้สูงอายุ
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำที่เกิดในผู้สูงอายุอาจวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากมีอาการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย และมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วยโดยวิเคราะห์จากหลายปัจจัย เช่น ผลการสแกนสมอง ลักษณะท่าทางในการเดิน การควบคุมระบบขับถ่ายปัสสาวะ และความสามารถทางปัญญา
การรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
Hydrocephalus รักษาได้ด้วยการผ่าตัด เพื่อลดแรงกดของสมอง และระบายของเหลวในสมองออกไป ดังนี้
- การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง เป็นการใส่ท่อที่ยาว ยืดหยุ่นได้ และมีลิ้นเปิดปิด เพื่อระบายของเหลวจากสมองให้ไหลไปถูกทิศด้วยอัตราความเร็วที่เหมาะสม แพทย์จะผ่าตัดนำปลายท่อด้านหนึ่งไว้ที่โพรงสมอง แล้วสอดท่อไว้ใต้ผิวหนังผ่านไปยังส่วนอื่นของร่างกายที่สามารถดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่มากเกินไปได้ เช่น บริเวณช่องท้อง โดยผู้ป่วย Hydrocephalus จำเป็นต้องใส่ท่อระบายนี้ไปตลอดชีวิต และเข้ารับการตรวจอย่างต่อเนื่อง
- การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องในโพรงสมอง แพทย์จะรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยจะผ่าตัดและใช้กล้องขนาดเล็กส่องภายในโพรงสมอง และผ่าตัดสร้างรู เพื่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองให้ออกมายังเนื้อสมองส่วนที่สามารถดูดซับน้ำสมองได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วย Hydrocephalus ที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากนักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคสมองเสื่อม หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
ผู้ป่วย Hydrocephalus อาจมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่ยากต่อการระบุอาการได้ โดยอาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ความบกพร่องทางสติปัญญา
- ความบกพร่องทางร่างกาย
- ความบกพร่องทางพัฒนาการด้านต่าง ๆ
ส่วนผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เคยมีปัญหาด้านการจำหรือทักษะการคิด โดยทั่วไปมักจะฟื้นฟูให้หายเป็นปกติได้ยาก และอาการเหล่านั้นอาจยังคงอยู่ แม้หลังรับการรักษา Hydrocephalus ไปแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ การผ่าตัดรักษาภาวะ Hydrocephalus ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น
- การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง น้ำในสมองอาจหยุดระบาย หรือระบายได้ไม่ดี เนื่องจากเครื่องมืออาจทำงานผิดปกติ เกิดการอุดตันในสายระบาย หรือเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
- การผ่าตัดในโพรงสมอง วิธีรักษานี้ อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณแผลผ่าตัด เช่น รูระบายน้ำในสมองปิด เนื้อสมองบริเวณนั้นไม่สามารถดูดซับน้ำได้ มีเลือดออกในสมอง และเกิดการติดเชื้อ
หากรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ได้ผล ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจต้องผ่าตัดแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ได้แก่
- ปวดศีรษะ
- มีไข้สูง
- อาเจียน
- ง่วงซึม
- มีปัญหาในการมองเห็น
- คอแข็งเกร็ง
- ปวดท้อง กรณีที่ลิ้นปิดเปิดของสายระบายอยู่ในช่องท้อง
- มีรอยแดง เจ็บปวด กดแล้วเจ็บบริเวณผิวหนังที่เป็นทางผ่านของสายระบายน้ำในสมอง
- มีอาการเบื้องต้นของภาวะ Hydrocephalus ที่กลับมาเป็นซ้ำอีก
การป้องกันภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
Hydrocephalus เป็นอาการป่วยที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม วิธีต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้
- ป้องกันโรคติดเชื้อ เข้ารับการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ วัย และเพศ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และป่วยโรคต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะ Hydrocephalus ได้
- ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ควรป้องกันศีรษะจากการบาดเจ็บกระทบกระเทือน เช่น ใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอยู่เสมอ คาดเข็มขัดนิรภัยให้เหมาะสมกับวัย ตรวจสอบอุปกรณ์ของเด็ก อย่างคอกเด็ก รถเข็น ชิงช้า หรือเก้าอี้ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย เหมาะสมกับขนาดตัว และพัฒนาการของเด็ก และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งขณะขี่จักรยาน มอเตอร์ไซต์ เล่นสเกตบอร์ด หรือกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายต่อศีรษะได้
- รักษาควบคุมอาการของโรคในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมทั้งโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบโลหิต ควรเข้ารับการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Hydrocephalus
- สังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของ Hydrocephalus หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนของภาวะนี้ได้