Hydrocortisone (ไฮโดรคอร์ติโซน)
Hydrocortisone (ไฮโดรคอร์ติโซน) เป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง และรักษาโรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ข้ออักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคไต โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองอย่างโรคลูปัส และรักษาผู้ที่ต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตสารไฮโดรคอร์ติโซนได้ตามปริมาณปกติ หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Hydrocortisone มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Hydrocortisone
กลุ่มยา | คอร์ติโคสเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการอักเสบ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่และเด็ก |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาทาเฉพาะที่ ยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Hydrocortisone
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือมีการติดเชื้อราตามร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยหรือประสิทธิภาพของยาบางชนิด
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังป่วยด้วยโรคที่รุนแรง มีการติดเชื้อ หรือเป็นไข้ รวมไปถึงหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือรับการรักษาอย่างฉุกเฉิน เพราะอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วย
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นโรคหรือมีการติดเชื้อในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะยาสเตียรอยด์สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือทำให้อาการป่วยติดเชื้อที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- ผู้ที่เป็นโรค เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ วัณโรค โรคกระดูกพรุน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้อหิน ต้อกระจก โรคเริมที่ตา มีแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ ถุงลำไส้อักเสบ โรคซึมเศร้า อาการผิดปกติทางจิต ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติเป็นมาลาเรีย อาจต้องรับการทดสอบทางการแพทย์เป็นพิเศษ และอาจต้องปรับปริมาณการใช้ยา เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในระหว่างที่ใช้ยารักษานี้
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine) ในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะยาอาจทำให้วัคซีนเชื้อเป็นบางชนิดมีประสิทธิภาพน้อยลง
- ห้ามหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีเลี่ยงอาการถอนยา และควรไปพบแพทย์หากพบอาการถอนยาหลังหยุดใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมทั้งแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากตั้งครรภ์ในระหว่างที่กำลังใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากพบว่าเด็กมีการเจริญเติบโตผิดปกติระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะยาสเตียรอยด์สามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้
- หากต้องรับการตรวจวินิจฉัยใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่ากำลังใช้ยานี้ เพราะยาอาจมีผลกระทบต่อการทดสอบทางการแพทย์บางชนิด
- ไม่ควรใช้เครื่องสำอางบริเวณที่กำลังรักษาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Hydrocortisone ชนิดใช้เฉพาะที่ทาบริเวณใบหน้า รักแร้ อวัยวะเพศ และทวารหนักติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยา Hydrocortisone
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
การอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อน
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 100-200 มิลลิกรัม
ข้ออักเสบ
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าที่ข้อปริมาณ 5-50 มิลลิกรัม ตามอาการ
ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20-30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 400-800 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง
ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าเส้นเลือดปริมาณ 100-500 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน ตามความรุนแรงและการตอบสนองของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยควรได้รับน้ำและเกลือแร่ตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อควบคุมอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ และผู้ป่วยสามารถรับยาจากการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อได้เช่นกัน แต่ร่างกายอาจตอบสนองต่อยาช้าลง
เด็ก อายุต่ำกว่า 1 ปี ฉีดยาปริมาณ 25 มิลลิกรัม
อายุ 1-5 ปี ฉีดยาปริมาณ 50 มิลลิกรัม
อายุ 6-12 ปี ฉีดยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม
โดยผู้ป่วยควรได้รับน้ำและเกลือแร่ตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อควบคุมอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ และผู้ป่วยสามารถรับยาจากการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อได้เช่นกัน แต่ร่างกายอาจตอบสนองต่อยาช้าลง
ผู้ใหญ่ ใช้ยาในรูปแบบครีม ยาขี้ผึ้ง หรือโลชั่นที่มีความเข้มข้น 0.1-2.5 เปอร์เซ็นต์ ทาบริเวณที่มีอาการ
การใช้ยา Hydrocortisone
- ใช้ยาตามฉลากและคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- หากใช้ยา Hydrocortisone ชนิดครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น สเปรย์ หรือยาน้ำ ให้ค่อย ๆ ทายาลงบนผิวหนังเฉพาะบริเวณที่มีอาการ และล้างมือให้สะอาดหลังทายาเสร็จ ระมัดระวังอย่าให้ยาเข้าตาหรือปาก นอกจากนั้น ห้ามใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณที่มีอาการหากแพทย์ไม่ได้แนะนำ หรือหากต้องใช้ยาบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมเด็ก ห้ามใส่ผ้าอ้อมเด็กแน่นจนเกินไป
- การใช้ยา Hydrocortisone ชนิดครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น สเปรย์ หรือยาน้ำ อาการควรดีขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่เริ่มใช้ยา แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ควรใช้ยานี้ให้ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
- พกนามบัตรหรือห้อยป้ายข้อมือที่แสดงว่าตนเป็นผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะช่วยให้แพทย์หรือผู้ให้การช่วยเหลือทราบว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยาสเตียรอยด์อยู่
- หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ
- หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งยาทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Hydrocortisone
หากพบผลข้างเคียงจากการใช้ยา Hydrocortisone ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีความผิดปกติในการมองเห็น
- หายใจไม่อิ่ม
- ตัวบวม หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- อาการชัก
- ไอเป็นเลือด อุจจาระปนเลือดหรือมีสีดำ
- ตับอ่อนอักเสบ ทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องส่วนบนอย่างรุนแรงลามไปที่หลัง คลื่นไส้ อาเจียน และหัวใจเต้นเร็ว
- โพแทสเซียมต่ำ ทำให้มีอาการ เช่น สับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ กระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะมากกว่าปกติ รู้สึกไม่สบายตัวบริเวณขา กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีอาการชา
- ความดันโลหิตสูงอย่างเป็นอันตราย ทำให้มีอาการ เช่น มองเห็นไม่ชัด ปวดศีรษะรุนแรง ได้ยินเสียงหวี่ในหู สับสน วิตกกังวล เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีอาการชัก
- มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง ความคิดหรืออารมณ์ผิดปกติ
- อาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ลมพิษ ใบหน้าบวม ลิ้นบวม คอบวม และริมฝีปากบวม
นอกจากนี้ ยังมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น แต่พบได้น้อย เช่น อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ สิวขึ้น ผิวแห้ง ผิวบาง มีรอยช้ำ คัน ระคายเคือง แสบผิว สีผิวเปลี่ยนไป มีตุ่มแดงหรือตุ่มขาวขึ้นตามผิวหนัง มีตุ่มแดงหรือผื่นคันขึ้นรอบปาก แผลหายช้า เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของอวัยวะในร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก แขนและขา เป็นต้น หากผู้ป่วยเผชิญกับอาการเหล่านี้ แล้วพบว่าอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
ส่วนผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายหลังใช้ยา ได้แก่ กดการสร้างกระดูก เพราะยาจะลดการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร และอาจทำให้กระดูกพรุน หากใช้ยาเป็นเวลานานในเด็ก อาจทำให้เด็กโตช้า และยับยั้งการสร้างคอลลาเจน จนอาจทำให้แผลหายช้า รวมไปถึงอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวังในการใช้ยานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวาน