ความหมาย Hyperphosphatemia (ฟอสเฟตในเลือดสูง)
Hyperphosphatemia คือภาวะที่ระดับฟอสฟอรัส (Phosphorus) หรือฟอสเฟตในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการทำงานของไตที่ผิดปกติหรือการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ฟอสเฟตในเลือดสูงอาจส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกและกล้ามเนื้อ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับแคลเซียมและวิตามินดีในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ช่วยสร้างเซลล์ในร่างกาย และเป็นแหล่งพลังงาน โดยปกติไตจะช่วยกรองและขจัดฟอสเฟตส่วนเกินออกจากเลือด เมื่อไตได้รับความเสียหายหรือทำงานผิดปกติไป อย่างเช่นเป็นโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) อาจเสี่ยงต่อ Hyperphosphatemia ได้ง่าย
อาการของ Hyperphosphatemia
ผู้ป่วย Hyperphosphatemia มักไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็น แต่หากเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว อาจมีอาการของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia) เช่น ชารอบปาก ตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อนแอ และเกิดผื่นคัน
บางรายอาจมีอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคไตอย่างไตวาย ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หายใจหอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และมีปัญหาในการนอนหลับ หากมีอาการไตวายรุนแรงอาจมีอาการชักและอาการทางประสาทอื่น ๆ ซึ่งควรไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุของ Hyperphosphatemia
ตามปกติแล้วร่างกายจะเก็บฟอสฟอรัสในรูปของฟอสเฟต โดยฟอสฟอรัสจะได้จากการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง และอาหารที่ผ่านกระบวนการเติมฟอสฟอรัส เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เนื้อวัว เนื้อหมู ปลา ถั่ว รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น เนื้อสัตว์แช่แข็ง อาหารจานด่วน โซดา เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกาย และเบียร์
ไตมีหน้าที่รักษาระดับฟอสฟอรัสในร่างกายด้วยการกำจัดฟอสเฟตส่วนเกินออกจากร่างกาย หากไตทำงานผิดปกติ เช่น มีโรคไตเรื้อรัง จะไม่สามารถกำจัดฟอสเฟตได้ตามปกติ และอาจนำไปสู่ Hyperphosphatemia ได้
นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง เช่น
- ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอ
- ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยร่างกายสร้างกรดคีโตน (Ketone) ออกมาในปริมาณมาก ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด
- ร่างกายมีวิตามินดีสะสมสูงเกินไป
- การได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย
- การติดเชื้อเป็นวงกว้างในร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงปริมาณมาก
- การได้รับยาระบายที่มีฟอสฟอรัส เพื่อส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
การวินิจฉัย Hyperphosphatemia
Hyperphosphatemia เป็นภาวะที่ยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ในเบื้องต้นแพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย เพื่อนำไปตรวจวัดความเข้มข้นของฟอสเฟตในเลือด หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงกว่า 5.5 มิลลิอิควิวาเลนต์/ลิตร (mEq/L) ถือว่ามีฟอสฟอรัสในเลือดสูง
การตรวจนี้จะช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของ Hyperphosphatemia นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจการทำงานของไต ตรวจวัดระดับแคลเซียม โปรตีน และสารอื่น ๆ ในร่างกายผู้ป่วยด้วย
การรักษา Hyperphosphatemia
การรักษา Hyperphosphatemia จะใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยจำกัดการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่ว รวมทั้งอาหารแปรรูป น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง อาหารกระป๋อง และอาหารที่มีสารปรุงแต่งหรือสารกันเสีย เนื่องจากร่างกายจะดูดซึมฟอสฟอรัสจากอาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการเติมฟอสฟอรัสเหล่านี้มากกว่าฟอสฟอรัสที่พบในอาหารตามธรรมชาติ
หากเป็นผู้ป่วยโรคไตมักต้องได้รับการฟอกไต ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยขจัดของเสีย โซเดียม น้ำส่วนเกิน และสารเคมีอื่น ๆ อย่างฟอสเฟตออกจากเลือด นอกจากนี้ ต้องมีการใช้ยาที่ช่วยกำจัดฟอสเฟตส่วนเกิน และลดการดูดซึมฟอสเฟตในลำไส้จากการรับประทานอาหาร เช่น ยาแลนทานัม (Lanthanum) ยาเซเวลาเมอร์ (Sevelamer) และยาแคลเซียมอะซิเตท (Calcium Acetate)
ภาวะแทรกซ้อนของ Hyperphosphatemia
โดยปกติแล้ว แคลเซียมและฮอร์โมนพาราไทรอยด์จะช่วยรักษาระดับฟอสฟอรัสให้อยู่ในระดับปกติ
หากผู้ป่วยมีภาวะ Hyperphosphatemia แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงแบบทุติยภูมิ (Secondary Hyperparathyroidism) เนื่องจากร่างกายกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนเร่งการสลายแคลเซียมในกระดูกเข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการชัก โรคกระดูกในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (Renal Osteodystrophy) การสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ (Metastatic Calcification) และหากเป็นผู้ป่วยโรคไตรุนแรงที่มีอาการ Hyperphosphatemia อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การป้องกัน Hyperphosphatemia
เนื่องจาก Hyperphosphatemia เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไต โดยทั่วไปควรดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรง และเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการทำงานของไต
สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารจานด่วน ผลิตภัณฑ์นม ชีส ไอศกรีม น้ำอัดลม นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และรับประทานยาที่ช่วยควบคุมและรักษาอาการของโรค เช่น
- ยาควบคุมความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin II Receptor Blockers และกลุ่ม ACE Inhibitor เพราะความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปยังไตอ่อนแอลง
- ยาขับปัสสาวะ จะช่วยระบายของเหลวและโซเดียมส่วนเกิน และรักษาสมดุลของในร่างกาย