ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)

ความหมาย ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)

Hypomagnesemia (ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ) เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีระดับของแมกนีเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง สั่น หรือกระตุก มีอารมณ์หงุดหงิด และนอนไม่หลับ เนื่องจากแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ และระบบประสาท โดยภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น บริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมน้อยเกินไป อาเจียน ท้องเสีย ติดสุรา หรือใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

1825 Hypomagnesemia rs

อาการของภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

หากมีระดับแมกนีเซียมต่ำกว่าปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากแมกนีเซียมลดต่ำลงเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้มีอาการบางอย่างตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง เบื่ออาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ หากระดับแมกนีเซียมลดต่ำลงมากขึ้น อาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย สับสน เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • เหน็บชา เป็นตะคริว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง สั่น กระตุก หรือหดเกร็ง
  • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
  • ชัก

สาเหตุของภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ Hypomagnesemia มีดังนี้

  • การบริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบน้อยเกินไป
  • การอาเจียนและท้องเสีย
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคกรดไหลย้อนบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาขับปัสสาวะ อินซูลิน และยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น
  • ปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตบางชนิด โรคเกี่ยวกับลำไส้ โรคแพ้กลูเตน โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคพิษสุรา เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น เข้ารับการผ่าตัด ได้รับบาดเจ็บรุนแรง มีแผลไฟไหม้ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยโดยสอบถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย โรคประจำตัว และยาที่กำลังใช้อยู่ รวมไปถึงตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยแพทย์อาจทดสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับของแมกนีเซียมในเลือด และอาจตรวจระดับแคลเซียมและโพแทสเซียมในเลือดด้วย
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดปริมาณของแมกนีเซียมที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย

การรักษาภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

ภาวะ Hypomagnesemia สามารถรักษาได้โดยให้ผู้ป่วยรับแมกนีเซียมเสริม หรือเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น ผักปวยเล้ง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ นมถั่วเหลือง ธัญพืชเต็มเมล็ด กล้วย อะโวคาโด เป็นต้น โดยในรายที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานแมกนีเซียมเสริมในรูปแบบยาเม็ด ส่วนในรายที่มีอาการระดับปานกลางถึงระดับที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือมีอาการรุนแรงอย่างอาการชัก แพทย์อาจต้องให้แมกนีเซียมผ่านทางหลอดเลือดดำ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

หากภาวะ Hypomagnesemia และโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษา ร่างกายอาจมีระดับแมกนีเซียมต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายอย่างหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหดเกร็ง ชัก หรือกระทั่งเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้

การป้องกันภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ Hypomagnesemia สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ควบคุมอาการของโรคประจำตัวตามที่แพทย์สั่ง เพราะการเจ็บป่วยบางอย่างอาจทำให้ระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำได้ เช่น อาการท้องเสียเรื้อรัง โรคเบาหวาน และภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
  • รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมเป็นประจำทุกวัน โดยสามารถสอบถามปริมาณที่เหมาะสมต่อวันได้จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางโภชนาการ
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมแมกนีเซียมได้น้อยลง และอาจทำให้ร่างกายขจัดแมกนีเซียมออกมาพร้อมกับปัสสาวะในปริมาณมากเกินไป
  • อาจรับประทานแมกนีเซียมเสริม แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด