ความหมาย Ischemic Stroke
Ischemic Stroke เป็นชนิดย่อยของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองได้รับเลือดและออกซิเจนลดลง ตามมาด้วยเซลล์สมองถูกทำลายหรือเซลล์สมองตาย ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจสูญเสียความทรงจำ เกิดภาวะสับสน รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย และสมองอาจถูกทำลายถาวรหากการไหลเวียนของเลือดไม่กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ Ischemic Stroke เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน และ Hemorrhagic Stroke เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากเลือดออกในสมอง โดย Ischemic Stroke เป็นประเภทที่พบได้มากถึงร้อยละ 87 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
อาการของ Ischemic Stroke
อาการของผู้ป่วยจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่หลอดเลือดสมองเกิดการอุดตัน โดยอาการของ Ischemic Stroke ที่พบได้มีดังนี้
- รู้สึกชาที่ใบหน้าหรือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างเฉียบพลัน อาจมีอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัดหรือมีปัญหาในการพูด
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุ
- แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายหรือทั้งสองซีก โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่หลอดเลือดแดงเกิดการอุดตัน
- เสียการทรงตัวหรือมีปัญหาในการเดิน เดินเซหรือเดินลำบาก
- มึนงง วิงเวียนศีรษะหรือมีภาวะบ้านหมุน
- มีปัญหาในการได้ยิน ความจำ การสื่อสารหรือการทำความเข้าใจ รวมถึงมีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือการเห็นภาพซ้อน
หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรนิ่งนอนใจและเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพขั้นรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างถาวร โดยการประเมินอาการในเบื้องต้นทำได้โดยใช้หลักการ FAST ได้แก่ การสังเกตว่าใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งเบี้ยวหรือขยับได้ลำบาก (Face) แขนอ่อนแรงหรือยกแขนได้ลำบาก (Arms) รู้สึกมีปัญหาในการพูด ลิ้นแข็ง หรือพูดไม่ชัด (Speech) และหากพบว่ามีปัญหาที่ใบหน้า แขน และการพูด อาจเป็นสัญญาณว่าถึงเวลา (Time) ที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) ที่มีอาการจะคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันในข้างต้น แต่ส่วนใหญ่อาการมักจะหายไปได้เอง
สาเหตุของ Ischemic Stroke
Ischemic Stroke เกิดขึ้นจากหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดหรือตะกรันไขมันที่เรียกว่าพลัค (Plaque) เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงทำให้เซลล์สมองและเนื้อเยื่อเริ่มตายจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร โดย Ischemic Stroke สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ได้แก่
- Thrombotic Strokes เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปสู่สมอง มักเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวที่เกิดในช่วงสั้น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองตามมา
- Embolic Strokes เกิดขึ้นเมื่อมีลิ่มเลือดที่บริเวณอื่นของร่างกายแล้วไหลไปปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง มักเกิดในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่างภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้วหรือเคยได้รับการผ่าตัดหัวใจมาก่อน โดย Embolic Strokes อาจเกิดอาการขึ้นโดยไม่มีสัญญาณบอกให้ทราบล่วงหน้า
ทั้งนี้ ระบบไหลเวียนเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเกิด Ischemic Stroke ดังนั้น ความเสี่ยงในการอุดตันของหลอดเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นหากถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่อไปนี้
- ความดันโลหิตหรือคอเรสเตอรอลสูง ภาวะน้ำหนักตัวเกินผิดปกติ
- ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
- ภาวะเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว หรือมีภาวะหัวใจขาดเลือดมาก่อน
- โรคเบาหวาน
- ดื่มแอลกอฮอล์มากผิดปกติหรือใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น โคเคนหรือเมตแอมเฟตามีน เป็นต้น
นอกจากนี้ Ischemic Stroke ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อนหรือคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น และมักพบอาการของโรคในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง
การวินิจฉัย Ischemic Stroke
แพทย์จะสอบถามรายละเอียดของอาการ ระยะเวลาที่เกิดอาการ โรคประจำตัวและประวัติของครอบครัวผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นและอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- การตรวจเลือด แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อดูความเร็วในการแข็งตัวของเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือดในกรณีที่มีปริมาณสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือตรวจหาการติดเชื้อ
- การทำซีที สแกน (CT Scan) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะแสดงรายละเอียดภาพสมองเพื่อช่วยในการวินิจฉัย Ischemic Stroke เนื่องจากในบางกรณีอาจพบเนื้องอกหรือเลือดออกในสมอง
- การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Ultrasound) เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และตรวจดูคราบไขมันหรือพลัคที่เกาะอยู่ภายในหลอดเลือด
- การทำเอคโคหัวใจ (Echocardiography) ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำให้ภาพฉายการทำงานของหัวใจ จึงช่วยในการหาตำแหน่งที่เกิดการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณหัวใจ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG หรือ EKG) เพื่อตรวจดูอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ
- การฉีดสารทึบสีเพื่อตรวจดูหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiography) โดยแพทย์จะฉีดสีในสายสวนหลอดเลือดแดงที่ใส่ไว้บริเวณขาหนีบของผู้ป่วย เพื่อตรวจวินิจฉัยการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณสมองและคอโดยตรง
การรักษา Ischemic Stroke
การรักษา Ischemic Stroke จะแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป้าหมายของการรักษาคือทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และการหายใจกลับมาเป็นปกติ โดยวิธีการรักษาที่แพทย์อาจนำมาใช้มีดังนี้
การใช้ยา
แพทย์อาจให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue Plasminogen Activator: tPA) ทางหลอดเลือดดำ โดยจะได้ผลดีหากฉีดให้ผู้ป่วยหลังการเกิด Ischemic Stroke ภายในเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที แต่ไม่ควรใช้ยาสลายลิ่มเลือดในผู้ที่มีอาการ Hemorrhagic Stroke มีเลือดออกในสมอง เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่หรืออุบัติเหตุทางสมอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมอง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาแอสไพริน ยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาต้านลิ่มเลือด เพื่อป้องกันการจับตัวกันของเลือดและป้องกันการเกิด Ischemic Stroke ซ้ำอีกในอนาคต หากผู้ป่วยมีความดันโลหิต ระดับน้ำตาล หรือไขมันในเลือดสูง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาควบคุมภาวะเหล่านี้ด้วย
การผ่าตัด
ในกรณีที่การรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดเอาลิ่มเลือดดังกล่าวออก แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีการอุดตันหรือตีบตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ในสมอง แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดเปิดกระโหลก (Hemicraniectomy) ในการรักษาแทน
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดแดงที่ตีบแคบลงจากการสะสมของตะกรันไขมัน แต่ในกรณีที่ต้องการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอื่นหรือเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาต่อไปนี้
- การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดแดงที่คอ (Carotid Endarterectomy) เป็นการผ่าตัดเอาตะกรันที่อุดตันเกาะพอกด้านในของหลอดเลือดออก
- การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวด (Angioplasty and Stents) โดยนำขดลวดไปถ่างขยายเพื่อไม่ให้หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Ischemic Stroke
Ischemic Stroke สามารถทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายชั่วคราวหรือถาวรได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและตำแหน่งที่สมองขาดเลือด โดยภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- อัมพาตหรือสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ โดยอาจเกิดกับซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อเฉพาะที่ อย่างบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งหรือแขนข้างใดข้างหนึ่ง
- ปัญหาในการพูดและการกลืนอาหาร มีปัญหาในการอ่าน การเขียนและการทำความเข้าใจ เนื่องจาก Ischemic Stroke จะกระทบต่อกล้ามเนื้อในปากและลำคอ
- สูญเสียความทรงจำหรือความสามารถในการคิด การใช้เหตุผลหรือการตัดสินใจ
- มีปัญหาด้านอารมณ์ อาจควบคุมอารมณ์ได้ยากหรือมีภาวะซึมเศร้า
- รู้สึกเจ็บปวดหรือชาในบริเวณที่เกิด Ischemic Stroke
- ความสามารถในการดูแลตนเองลดลงหรือต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นในการทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง
การป้องกัน Ischemic Stroke
การลดความเสี่ยงของการเกิด Ischemic Stroke สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วชนิดต่างๆ รวมถึงผักและผลไม้
- ออกกำลังกายหนักปานกลางอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน เพื่อช่วยลดน้ำหนัก ควบคุมโรคเบาหวาน และลดความเครียด
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาจปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการรับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง
- เลิกบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่จากบุคคลอื่น รวมถึงงดการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน เมตแอมเฟตามีน
- ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นและอาจมีผลต่อยาที่รับประทานอยู่
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตถือว่าเป็นวิธีการป้องกัน Ischemic Stroke ที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เคยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวมาก่อน ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิด Ischemic Stroke ได้