ความหมาย ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (IUGR)
IUGR (Intrauterine Growth Retardation) หรือ ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า เป็นภาวะที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยทารกจะมีขนาดตัวที่เล็ก และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่อยู่ในช่วงอายุครรภ์เดียวกัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ระหว่างอยู่ในครรภ์จนถึงหลังคลอด ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของรก เด็กได้รับออกซิเจนหรือสารอาหารไม่เพียงพอ และความผิดปกติของโครโมโซมในตัวทารก เป็นต้น
อาการของภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
อาการของ IUGR จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของแต่ละราย โดยทั่วไปแล้วทารกที่เผชิญภาวะนี้จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ของทารกที่อยู่ในช่วงอายุครรภ์เดียวกัน ซึ่งหลังจากคลอดทารกอาจมีผิวที่แห้งและบางซีด สายสะดือบางและหมองคล้ำ มีระดับออกซิเจนและน้ำตาลในเลือดน้อย อุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ มีปัญหาเรื่องการหายใจเนื่องจากสำลักขี้เทา และมีภูมิต้านทานต่ำ
โดยอาการของ IUGR อาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
- Symmmetric IUGR หรือภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าแบบได้สัดส่วน อวัยวะทุกส่วนของทารกในกลุ่มนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตช้า โดยอวัยวะภายในของทารกจะมีขนาดเล็กในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมักเกิดตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์
- Asymmetric IUGR หรือภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าแบบไม่ได้สัดส่วน ทารกในกลุ่มนี้จะมีอวัยวะขนาดเล็กทุกส่วน ยกเว้นศีรษะและสมองที่มีขนาดปกติหรืออาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าอวัยวะส่วนอื่น ๆ ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติในช่วงระยะท้ายของการตั้งครรภ์
สาเหตุของของภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
IUGR อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- ความผิดปกติของรก เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ทารกได้รับออกซิเจนหรือสารอาหารไม่เพียงพอ
- ความผิดปกติของทารก เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมในทารก หรือความพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
- สุขภาพของมารดาขณะตั้งครรภ์ โรคบางชนิดที่เกิดกับมารดาอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคเกี่ยวกับปอด โรคโลหิตจาง โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ภาวะทุพโภชนาการ และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบางชนิดอย่างโรคหัดเยอรมัน ไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus) ทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) และซิฟิลิส (Syphilis) เป็นต้น นอกจากนี้ น้ำหนักตัวของมารดาที่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะ IUGR ได้
- พฤติกรรมของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้สารเสพติดต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อภาวะ IUGR ได้ เช่น การตั้งครรภ์แฝด การติดเชื้อบางชนิดขณะอยู่ในครรภ์ ภาวะน้ำคร่ำน้อย และความผิดปกติของสายสะดือ เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามข้อมูลส่วนตัวของมารดาอย่างละเอียด ทั้งประวัติทางการแพทย์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ประสบภาวะ IUGR หลังจากนั้นอาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- วัดความสูงของยอดมดลูก แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อกะประมาณขนาดของทารกในครรภ์ด้วยการวัดระยะห่างระหว่างส่วนบนของมดลูกกับกระดูกหัวหน่าว โดยระยะห่างที่วัดได้มักสอดคล้องกับอายุครรภ์ หากระยะห่างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อาจเป็นสัญญาณว่าทารกมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติ
- ชั่งน้ำหนัก แพทย์อาจตรวจและบันทึกน้ำหนักของมารดาเป็นระยะ หากน้ำหนักตัวของมารดาไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร อาจเป็นสัญญาณของภาวะนี้ได้
- ตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง วิธีนี้ช่วยให้แพทย์เห็นภาพของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจดูการเจริญเติบโตของทารก ทั้งยังช่วยให้แพทย์วัดขนาดศีรษะและช่องท้องของทารกได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เครื่องมือนี้ช่วยประเมินปริมาณน้ำคร่ำ หากมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะนี้ได้
- ตรวจด้วย Doppler Flow เป็นการใช้คลื่นเสียงเพื่อวัดปริมาณและความเร็วของการไหลเวียนเลือดผ่านหลอดเลือด โดยแพทย์อาจตรวจสอบการไหลเวียนของเลือดในสายสะดือและหลอดเลือดในสมองของทารก
- ตรวจด้วย Fetal Monitoring เป็นการทดสอบโดยการวางขั้วไฟฟ้าไว้บนหน้าท้องของมารดา เพื่อวัดอัตราการเต้นและรูปแบบการเต้นของหัวใจทารก
- เจาะน้ำคร่ำ เป็นการนำตัวอย่างน้ำคร่ำมาตรวจหาความผิดปกติของทารก ประเมินความสมบูรณ์ของปอดทารก และตรวจหาการติดเชื้อหรือความผิดปกติของโครโมโซม
การรักษาภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ รวมทั้งสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งการรักษาภาวะนี้มีหลายวิธี ดังนี้
- การตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด แพทย์จะติดตามอาการของมารดาอย่างใกล้ชิดจนกว่าอายุครรภ์จะครบ 34 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น โดยอาจมีการตรวจร่างกายเพื่อตรวจดูสุขภาพของมารดา และตรวจอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ โดยแพทย์อาจนัดหมายทุก 2-6 สัปดาห์จนกว่าจะคลอด
- การดูแลโภชนาการ การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมอาจช่วยเพิ่มน้ำหนักครรภ์และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกให้ดีขึ้น โดยแพทย์อาจช่วยวางแผนและแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมทั้งอาจเสริมวิตามินที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ด้วย
- การพักผ่อน การพักผ่อนอย่างเพียงพออาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพ ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงในท่าทางเฉพาะ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปยังทารกได้ดีขึ้น
- การพิจารณาทำคลอด แพทย์อาจต้องชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดในกรณีที่อายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์และแพทย์ประเมินว่าภาวะ IUGR อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก ส่วนผู้ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 34 สัปดาห์ อาจจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดเช่นกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจน การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาในกลุ่มไนเตรท และการสร้างแรงกดบนท้องเป็นระยะ ๆ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
IUGR อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างต่อทารกตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์จนถึงหลังคลอด ซึ่งในขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น แพทย์อาจแนะนำให้คลอดก่อนกำหนดด้วยการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดหรือผ่าคลอดหากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อมารดาหรือทารกในครรภ์
ส่วนทารกที่มีภาวะ IUGR หากคลอดออกมาแล้วอาจมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีระดับออกซิเจนและน้ำตาลในเลือดน้อย มีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ การรักษาอุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ และมีภูมิต้านทานต่ำจนอาจเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ ทารกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ การรับประทานอาหาร ระบบประสาท และอาจมีอาการสำลักขี้เทาด้วย ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะตายคลอด ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือเสียชีวิตขณะคลอด
การป้องกันภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกัน IUGR เนื่องจากเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพแข็งแรง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้
- รักษาสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้พลังงานที่เพียงพอต่อทารกในครรภ์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาจจดบันทึกน้ำหนักตัวเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้ติดเชื้อได้
- เฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ หากทารกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม
- เข้ารับการตรวจตามนัดหมายแต่ละครั้งให้ครบถ้วนสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสุขภาพครรภ์
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยารักษาโรคใด ๆ เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้