Jet Lag (เจ็ตแล็ก)

ความหมาย Jet Lag (เจ็ตแล็ก)

Jet Lag หรือเจ็ตแล็ก เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการนอนหลับ โดยจะเกิดขึ้นชั่วคราวจากการเดินทางโดยเครื่องบินข้ามเขตเวลาโลกแล้วร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเขตเวลาใหม่ได้ ทำให้มีอาการนอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป อ่อนเพลียในตอนกลางวัน ขาดสมาธิ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมถึงอาจมีปัญหาในระบบทางเดินอาหารด้วย

อาการ Jet Lag โดยส่วนใหญ่จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 1–2 วันเมื่อผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวและปรับตัวได้ แต่สำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น อาการ Jet Lag จึงอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวพักผ่อน การติดต่อธุรกิจการงาน และการใช้ชีวิตหลังการเดินทาง จนผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ได้เช่นกัน

Jet Lag

สาเหตุของอาการ Jet Lag

อาการ Jet Lag เกิดจากการเดินทางบินข้ามเขตเวลาโลกแล้วร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเขตเวลาใหม่ได้ในทันที โดยปัจจัยหลักที่อาจทำให้เกิดอาการ Jet Lag ได้แก่

นาฬิกาชีวิตของร่างกายถูกรบกวน

ปกติเซลล์ในร่างกายจะถูกควบคุมให้ระบบต่าง ๆ ทำงานตามปกติภายในรอบเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งรวมไปถึงกิจวัตรประจำวันสำคัญที่ร่างกายต้องทำในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนด้วย หากต้องเดินทางข้ามเขตเวลา ร่างกายต้องปรับนาฬิกาชีวิตใหม่ให้เข้ากับเขตพื้นที่ที่เดินทางไปถึง จึงกระทบต่อร่างกายและการทำกิจวัตรเหล่านั้น เช่น ด้านการนอนและการกิน จนเกิดเป็นอาการ Jet Lag

อิทธิพลของแสงแดด

แสงแดดมีอิทธิพลต่อการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายทำงานตามปกติ และมีส่วนสำคัญในการปรับนาฬิกาชีวิตของร่างกายด้วยการส่งสัญญาณกระตุ้นให้ร่างกายทราบเมื่อถึงเวลาที่ควรนอนหลับพักผ่อน จึงควรให้ร่างกายได้สัมผัสแสงแดดช่วงกลางวันในพื้นที่เขตเวลาใหม่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับเขตเวลาใหม่ได้

สภาพอากาศและแรงดันอากาศในเครื่องบิน

การเปลี่ยนแปลงของแรงดันอากาศและระดับความสูงระหว่างการโดยสารเครื่องบิน อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Jet Lag ได้แม้ไม่ได้บินข้ามเขตเวลา รวมทั้งสภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำ อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำจนนำไปสู่การเกิดอาการ Jet Lag ได้

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับอาการ Jet Lag 

ในบางคนอาจเกิดอาการ Jet Lag ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น

  • ผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลาโลก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลาโลกหลาย ๆ เขต
  • ผู้ที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ เช่น นักบิน ลูกเรือ พนักงานบริการบนเครื่องบิน และนักธุรกิจที่ใช้เวลาบนเครื่องบินเป็นเวลานาน หรือต้องเดินทางข้ามเขตเวลาโลกบ่อย ๆ
  • ผู้ที่เดินทางข้ามเขตเวลาโลกไปทางทิศตะวันออกมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่เดินทางข้ามเขตเวลาไปทางทิศตะวันตก เพราะร่างกายจะปรับตัวได้ดีกว่าเมื่อเดินทางไปในเขตพื้นที่ที่เวลาล่าช้ากว่า เช่น เราอาจปรับการเข้านอนให้ช้ากว่าปกติได้ง่ายกว่าการฝืนนอนหลับเร็วกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีอายุมากหรืออยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับอาการที่รุนแรงกว่า และใช้เวลานานกว่า ทั้งในการฟื้นตัวจากอาการและการปรับตัวเข้ากับเขตเวลาใหม่

อาการ Jet Lag

อาการ Jet Lag สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยอาการที่พบจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหากเดินทางเป็นเวลานาน หรือผ่านเขตเวลาที่แตกต่างกันหลาย ๆ แห่ง โดยอาการที่มักปรากฎมีดังนี้

  • มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ตื่นกลางดึก ตื่นเร็ว หรือนอนมากเกินไป
  • เมื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ง่วงนอนในตอนกลางวัน
  • ขาดสมาธิและประสิทธิภาพภาพในการทำงานได้ตามปกติ
  • มีปัญหาด้านความจำ
  • มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย ไม่อยากอาหาร 
  • รู้สึกเหมือนไม่สบาย ปวดหัว วิงเวียน สับสนมึนงง เหงื่อไหล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล

อาการเจ็ตแล็กที่ควรไปพบแพทย์

อาการ Jet Lag มักเกิดขึ้นชั่วคราวและดีขึ้นเองภายใน 1–2 วัน แต่หากมีอาการรุนแรง ประสบปัญหาจากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตเวลาบ่อย ๆ หรือมีอาการ Jet Lag อยู่เสมอ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและวางแผนการรับมือกับอาการ Jet Lag ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นต่อไป

การวินิจฉัยอาการ Jet Lag

แพทย์อาจวินิจฉัยอาการ Jet Lag ด้วยการสอบถามประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ หรือสอบถามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อดูว่ามีผู้ป่วยสัญญาณของการเกิดอาการ Jet Lag หรือไม่ รวมถึงแพทย์จะดูความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการนอนหลับที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะสามารถกำหนดแนวทางและวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

การรักษาอาการ Jet Lag

อาการ Jet Lag มักจะดีขึ้นและหายไปภายใน 1–2 วันเมื่อร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับเขตเวลาใหม่ได้และอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาการไม่ดีขึ้น หรือมีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตเวลาบ่อย ๆ แพทย์อาจแนะนำแนวทางการรักษาหรือรับมือกับอาการ Jet Lag ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ผู้ที่มีอาการ Jet Lag อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้

  • ควรปรับตัวให้เข้ากับเขตเวลาใหม่ให้เร็วที่สุด เช่น การปรับตารางเวลา กิจกรรม และกิจวัตรประจำวัน โดยพยายามรับประทานอาหาร เข้านอน และตื่นนอนตามเวลาปกติของเขตเวลาใหม่
  • แม้จะมีอาการอ่อนล้าหรือง่วงนอนหลังเดินทางข้ามเขตเวลาเป็นเวลานาน แต่ก็ควรพยายามตื่นตัวจนกว่าจะถึงเวลานอนตามปกติของเขตเวลาใหม่
  • ควรทำกิจกรรมนอกบ้านหรือออกไปพบสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อให้แสงสว่างจากธรรมชาตินอกบ้านช่วยปรับนาฬิกาชีวิตของร่างกาย และเพื่อปรับร่างกายให้คุ้นชินกับสภาพเวลาในปัจจุบัน

การใช้ยา

แพทย์อาจจ่ายยานอนหลับเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน โดยอาจใช้ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะเซปีน (Nonbenzodiazepines) เช่น ยาโซลพิเดม (Zolpidem) หรือยากลุ่มเบนโซไดอะเซปีน (Benzodiazepines) เช่น ยาไตรอะโซแลม (Triazolam)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องใช้ยาอย่างถูกต้องภายใต้คำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ เพราะยานอนหลับอาจมีฤทธิ์คล้ายยาเสพติด และควรรีบปรึกษาแพทย์หากพบผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง วิงเวียนศีรษะ สับสนมึนงง หรือง่วงนอนแม้เพิ่งตื่นนอน 

นอกจากนี้ แม้ในปัจจุบันจะมีการโฆษณายาที่ช่วยแก้หรือป้องกันอาการ Jet Lag มากมาย แต่การใช้ยานอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เพื่อตรวจรักษา ไม่ควรรับประทานยารักษาใด ๆ ด้วยตนเองโดยไม่ผ่านคำแนะนำจากแพทย์

การรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนิน

สารเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นจากต่อมไพเนียลในสมอง ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนอนหลับและการตื่นนอน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปรับนาฬิกาชีวิตของร่างกาย การรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินจึงอาจช่วยปรับวงจรการนอนให้เป็นปกติ และช่วยแก้ปัญหาอาการ Jet Lag ได้

การรับประทานเมลาโทนินอาจเป็นประโยชน์ต่อบางคน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพของฮอร์โมนเมลาโทนินอย่างชัดเจน ทั้งนี้ วิธีการรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินที่แนะนำคือ

  • รับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินในตอนกลางคืนของวันที่เดินทาง และช่วงกลางคืนในอีก 2–3 วันหลังเดินทางถึงที่หมายแล้ว
  • หากต้องบินข้ามเขตเวลาไปทางฝั่งตะวันออก ควรรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินในช่วงเย็น 2–3 วันก่อนการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ เพราะฮอร์โมนเมลาโทนินอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่ รวมทั้งอาจทำปฏิกิริยาต่อยาตัวอื่นที่กำลังใช้อยู่ด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคลมชัก หรือผู้ที่กำลังรับประทานยาในกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin)

การบำบัดด้วยแสง

แสงสว่างในตอนกลางวันจะช่วยปรับนาฬิกาชีวิตของร่างกายด้วยการกระตุ้นให้สมองสั่งการร่างกายตื่นขึ้นมาในตอนเช้า และกระตุ้นให้ทราบเมื่อถึงเวลาเข้านอนในตอนกลางคืน สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางเป็นเวลานานอาจใช้วิธีการบำบัดด้วยแสง เช่น การรับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังการเดินทางข้ามเขตเวลา หรือการใช้แสงจากโคมไฟเพื่อช่วยกระตุ้นในช่วงเวลาที่ต้องตื่นนอน

ภาวะแทรกซ้อนของอาการ Jet Lag

อาการ Jet Lag อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • ขาดสมาธิ มีปัญหาด้านความจำชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ไม่สามารถท่องเที่ยวพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เพราะมีสภาพจิตใจและสภาพร่างกายที่อ่อนล้าจากอาการป่วย
  • เสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุจากอาการง่วงนอนตอนกลางวัน เพราะมีปัญหาในการนอนตอนกลางคืน โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ และการใช้เครื่องจักร

การป้องกันอาการ Jet Lag

ผู้ที่มีอาการ Jet Lag อาจลองใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อช่วยรับมือหรือป้องกันการเกิดอาการ Jet Lag ได้อย่างเหมาะสม

  • หลีกเลี่ยงการเดินทางเป็นเวลานาน ๆ หากเป็นไปได้ควรเลือกการเดินทางที่ใช้เวลาน้อยกว่าแทน
  • วางแผนการเดินทางล่วงหน้า เมื่อต้องเดินทางข้ามเขตเวลา หากเป็นไปได้ควรวางแผนการเดินทางให้ไปถึงที่หมายล่วงหน้าก่อนวันนัดหมาย 2–3 วัน เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาปรับตัวกับเขตเวลาใหม่
  • ปรับเวลานอนก่อนออกเดินทาง 2–3 วัน โดยเข้านอนเร็วกว่าเวลานอนปกติ 1 ชั่วโมงหากต้องเดินทางข้ามเขตเวลาฝั่งตะวันออก และเข้านอนช้ากว่าเวลานอนปกติ 1 ชั่วโมงหากต้องเดินทางข้ามเขตเวลาฝั่งตะวันตก
  • ปรับตารางเวลาหรือกำหนดการต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับเวลาในสถานที่ปลายทาง เช่น เวลาในการรับประทานอาหาร และปรับเวลาในนาฬิกาตั้งแต่ก่อนออกเดินทางด้วย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้อาการ Jet Lag ได้
  • พยายามนอนหลับบนเครื่องบิน หากสถานที่เป้าหมายที่จะไปถึงตรงกับช่วงเวลากลางคืน โดยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างหูฟังและผ้าปิดตาเพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และพยายามไม่นอนหลับ หากสถานที่เป้าหมายที่จะไปถึงตรงกับช่วงเวลากลางวัน
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ทั้งในขณะเครื่องขึ้นบินและหลังเครื่องบินลงจอด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเดินทาง
  • สัมผัสแสงแดดเมื่อไปถึงปลายทางหากเป็นไปได้ โดยผู้ที่เดินทางข้ามเขตเวลาฝั่งตะวันออกควรรับแสงแดดในตอนเช้า ส่วนผู้ที่เดินทางข้ามเขตเวลาฝั่งตะวันตกควรรับแสงแดดในตอนบ่าย