ความหมาย ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance)
Lactose Intolerance หรือภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้หมด โดยมักพบน้ำตาลชนิดนี้ในนมสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ซึ่งแล็กโทสที่เหลือจากการย่อยจะทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย เป็นต้น ภาวะนี้พบได้ทั่วไปในผู้ใหญ่และเป็นภาวะที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้
อาการของภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
ภาวะ Lactose Intolerance จะแสดงอาการหลังจากรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไปแล้วประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำตาลแล็กโทสที่เข้าสู่ร่างกาย และปริมาณเอนไซม์แล็กเทส (Lactase) ที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อนำมาย่อยแล็กโทส
โดยอาการที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- ปวดท้อง
- ท้องอืด มีลมในลำไส้
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้ และอาจตามมาด้วยการอาเจียน
- มีเสียงท้องร้องจากการบีบตัวในกระเพาะอาหาร
ผู้ที่มีภาวะ Lactose Intolerance บางรายอาจรับประทานนมได้เล็กน้อยโดยไม่มีอาการใด ๆ แต่บางคนก็อาจมีอาการรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะ Lactose Intolerance ต่างกับอาการแพ้นมวัวซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัวที่ส่งผลให้อาเจียน หายใจติดขัด และมีผื่นลมพิษขึ้นตามร่างกาย โดยอาการแพ้นมวัวจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากดื่มนม
สาเหตุของภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
ภาวะ Lactose Intolerance เกิดจากร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้หมด ซึ่งตามปกติน้ำตาลชนิดนี้จะถูกย่อยโดยเอนไซม์แล็กเทสที่อยู่ในลำไส้เล็ก แต่เมื่อแล็กเทสมีปริมาณน้อยจะทำให้แล็กโทสหลงเหลือไปถึงลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแบคทีเรียที่สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำตาลแล็กโทสได้ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกายตามมา
โดยสาเหตุที่อาจทำให้เอนไซม์แล็กเทสมีจำนวนน้อยลง มีดังนี้
ร่างกายผลิตเอนไซม์แล็กเทสน้อยลง เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะนี้ ซึ่งโดยทั่วไปร่างกายจะสร้างเอนไซม์แล็กเทสในปริมาณมากตอนยังเป็นทารก เพราะสามารถดื่มนมแม่ได้เพียงอย่างเดียวจึงทำให้ต้องสร้างแล็กเทสมาเพื่อช่วยย่อยนมแม่ แต่การสร้างเอนไซม์ชนิดนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี ซึ่งการผลิตแล็กเทสน้อยลงนี้อาจสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด Lactose Intolerance ขึ้นได้ นอกจากนี้ เชื้อชาติก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่มีเชื้อสายเอเชีย แอฟริกา อเมริกา สเปน และลาตินอเมริกา จะเสี่ยงเผชิญภาวะนี้มากกว่าคนเชื้อชาติอื่น ๆ
ผลกระทบจากโรคหรือการรักษา โรคบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น โรคลำไส้ติดเชื้อ โรคแพ้กลูเตน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือโรคโครห์น เป็นต้น นอกจากนี้ การผ่าตัด การได้รับบาดเจ็บที่ลำไส้เล็ก หรือการทำเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็งก็อาจเป็นสาเหตุของ Lactose Intolerance ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ระดับเอนไซม์แล็กเทสอาจกลับสู่สภาวะปกติหลังหายจากโรคหรือเมื่อการรักษาต่าง ๆ สิ้นสุดลง
มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก โดยเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูก ส่งผลให้ทารกเกิดมาพร้อมกับภาวะ Lactose Intolerance เมื่อทารกได้รับนมจากแม่ก็จะเกิดอาการท้องเสียเพราะในน้ำนมมีแล็กโทสผสมอยู่ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของเด็กสูญเสียน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ การคลอดก่อนกำหนดก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกประสบภาวะนี้ได้ เพราะเอนไซม์แล็กเทสจะถูกผลิตขึ้นเมื่อทารกในครรภ์มีอายุตั้งแต่ประมาณ 34 สัปดาห์ขึ้นไป
การวินิจฉัยภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
แพทย์อาจวิเคราะห์ภาวะนี้ได้โดยดูจากอาการและการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเมื่อลดปริมาณนมที่ดื่ม หากยังไม่ชัดเจนก็อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
ตรวจอุจจาระ มักใช้ตรวจผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือผู้ที่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีอื่นได้ โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระไปตรวจหาค่าความเป็นกรดว่ามีมากกว่าปกติหรือไม่ เพราะเมื่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ทำปฏิกิริยากับน้ำตาลแล็กโทสก็จะปล่อยกรดออกมา ทำให้สามารถบอกได้ว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยแล็กโทสหรือไม่
ตรวจระดับไฮโดรเจนในลมหายใจ เป็นวิธีที่ง่ายและมีความแม่นยำสูง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มของเหลวที่ผสมน้ำตาลแล็กโทสแล้วหายใจผ่านเครื่องตรวจ วิธีนี้สามารถบอกปริมาณของไฮโดรเจนในลมหายใจที่เปลี่ยนไปได้ หากไฮโดรเจนสูงขึ้น แสดงว่าร่างกายมีความบกพร่องในการย่อยแล็กโทส เพราะไฮโดรเจนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากแบคทีเรียทำปฏิกิริยากับน้ำตาลแล็กโทสในลำไส้ใหญ่
ทดสอบความสามารถในการย่อยน้ำตาลแล็กโทส แพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มของเหลวที่ผสมน้ำตาลแล็กโทสปริมาณสูง หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงจะเจาะเลือดเพื่อดูค่ากลูโคสในเลือดที่ได้มาจากการย่อยแล็กโทส หากระดับของน้ำตาลกลูโคสในเลือดไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ป่วยมีปัญหาในการย่อยและการดูดซึมแล็กโทส
ตรวจชิ้นเนื้อลำไส้เล็ก เป็นวิธีที่แพทย์อาจนำมาใช้หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ โดยแพทย์จะหย่อนกล้องเอนโดสโคป (Endoscope) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเล็กและบางผ่านเข้าไปในหลอดอาหาร เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณลำไส้เล็กมาตรวจสอบเอนไซม์แล็กเทส
การรักษาภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการ Lactose Intolerance ได้ แต่ผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม หรือรับประทานในปริมาณที่น้อยลง
- เลือกรับประทานอาหารที่มีแล็กโทสในปริมาณน้อย หรือไม่มีแล็กโทสเลย เช่น โยเกิร์ต นมพร่องมันเนย หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ระบุว่ามีแล็กโทสในปริมาณน้อย เป็นต้น
- ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มเอนไซม์แล็กเทสก่อนรับประทานอาหารที่ทำจากนม
ทั้งนี้ เมื่อหลีกเลี่ยงการดื่มนมก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่สำคัญได้ เนื่องจากนมมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีทั้งโปรตีน แคลเซียม วิตามิน แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่ประสบภาวะ Lactose Intolerance จึงควรเลือกรับประทานอาหารชนิดอื่นที่มีสารอาหารทดแทนนม เช่น
- ถั่วเหลือง และถั่วชนิดต่าง ๆ
- เต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้
- ปลาทูน่า ปลาแซลม่อน ปลาซาดีน
- น้ำมันตับปลา
- ผักใบเขียว
- อาหารเสริมที่มีขายทั่วไป แต่ควรบริโภคภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
แล็กโทสจะช่วยดูดซึมแร่ธาตุแมกนีเซียมและสังกะสีที่มีความสำคัญกับกระดูก หากขาดแล็กโทสจะทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่ใช้ในการบำรุงและซ่อมแซมกระดูก ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกบางหรือกระดูกพรุน หากรุนแรงก็อาจทำให้กระดูกแตกหรือหักได้
นอกจากนี้ การขาดแล็กโทสอาจส่งผลให้น้ำหนักลดลงหรือทำให้เกิดโรคขาดสารอาหารด้วย ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ทำให้รู้สึกเหนื่อยเพลียตลอดเวลา แผลหายช้า เป็นต้น และหากเกิดภาวะนี้ในเด็กก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน
การป้องกันภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
Lactose Intolerance เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ แต่อาจป้องกันอาการกำเริบได้โดยหลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ รับประทานอาหารที่มีแล็กโทสน้อยลง หรือเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่มีแล็กโทสแทน