Levofloxacin (ลีโวฟลอกซาซิน)

Levofloxacin (ลีโวฟลอกซาซิน)

Levofloxacin (ลีโวฟลอกซาซิน) เป็นยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ในการต่อสู้และยั้งยับเชื้อแบคทีเรียภายในร่างกาย โดยยาดังกล่าวมักใช้รักษาอาการติดเชื้อที่ผิวหนัง ไซนัส ไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และรักษาอาการหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม อีกทั้งยังใช้ในการรักษาและป้องกันโรคแอนแทรกซ์อีกด้วย ยาชนิดนี้มีทั้งแบบชนิดรับประทาน ชนิดยาฉีด และยาหยอดต

Levofloxin

Levofloxacin เป็นยาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ โดยยาชนิดนี้มักใช้ในกรณีที่ยาปฏิชีวนะตัวอื่น ๆ ที่ปลอดภัยกว่าใช้ไม่ได้ผล

เกี่ยวกับยา Levofloxacin

 

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาฉีด และยาหยอดตา

 

คำเตือนเกี่ยวกับการใช้ยา Levofloxacin

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทันทีหากมีอาการแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยา Levofloxacin รวมถึงยาปฏิชีวนะในกลุ่มควินโนโลน (Quinolone Antibiotic)
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดคลื่นหัวใจมีสัญญาณ QT ยาวผิดปกติ หรือผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ยาชนิดนี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา หากผู้ป่วยมีการใช้ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmics) ยาละลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคซึมเศร้า (Asenapine) ยารักษาอาการกรดไหลย้อน (Cisapride) ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Nilotinib) หรือยารักษาโรคฮันติงตัน (Tetrabenazine)
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเอ็น กระดูก ข้ออักเสบ หรือปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในเด็ก และผู้ป่วยโรคตับโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • หากเคยมีประวัติโรคลมชัก โรคชักชนิดอื่น ๆ หรือผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องได้รับยาชนิดรับประทานและฉีดอินซูลินควรปรึกษาแพทย์ เพราะยาทั้ง 2 ชนิดอาจทำปฏิกิริยากับตัวยา Levofloxacin ได้
  • สตรีมีครรภ์ห้ามใช้ยาชนิดดังกล่าว เว้นแต่แพทย์จะเป็นผู้สั่ง โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะได้รับ

ปริมาณการใช้ยา Levofloxacin

ชนิดรับประทาน

  • รักษาอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 500 มิลลิกรัม 1 ครั้ง ติดต่อกัน 10-14 วัน
  • รักษาโรคปอดอักเสบชุมชน และการติดเชื้อที่ผิวหนังและโครงสร้างผิวหนัง (Complicated Skin and Skin Structure Infections) ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 500 มิลลิกรัม 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 7-14 วัน
  • รักษาและป้องกันการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อแอนแทรกซ์ที่ติดต่อผ่านการหายใจ ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 500 มิลลิกรัม 1 ครั้ง ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ เด็ก อายุมากกว่า 6 เดือน น้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานปริมาณ 8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ห้ามเกิน 250 มิลลิกรัมต่อครั้ง หากน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม รับประทาน 500 มิลลิกรัม ทุก ๆ 24 ชั่วโมง ติดต่อกัน 60 วัน
  • รักษาการกำเริบของเชื้อแบคทีเรียจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 500 มิลลิกรัม 1 ครั้ง ติดต่อกัน 7-10 วัน
  • รักษาภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 500 มิลลิกรัม 1 ครั้ง ติดต่อกัน 7-10 วัน
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 250 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 3 วัน

ชนิดให้ทางหลอดเลือดดำ

  • รักษาโรคปอดอักเสบชุมชน และการติดเชื้อที่ผิวหนังและโครงสร้างผิวหนัง (Complicated Skin and Skin Structure Infections) ผู้ใหญ่ ให้วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 7-14 วัน ใช้เวลาในการให้อย่างน้อย 60 นาที
  • รักษาและป้องกันการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อแอนแทรกซ์ที่ติดต่อผ่านการหายใจ ผู้ใหญ่ ให้วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ใช้เวลาในการให้อย่างน้อย 60 นาที เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป น้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ห้ามเกิน 250 มิลลิกรัมต่อครั้ง ให้ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 60 วัน น้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัมให้ 500 มิลลิกรัม ทุก ๆ 24 ชั่วโมง ติดต่อกัน 60 วัน
  • รักษาการกำเริบของเชื้อแบคทีเรียจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ใหญ่ ให้วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 28 วัน ใช้เวลาในการให้อย่างน้อย 60 นาที
  • การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะชนิดมีภาวะแทรกซ้อน (Complicated Urinary Tract Infections) ผู้ใหญ่ ให้วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 7-14 วัน ใช้เวลาในการให้อย่างน้อย 60 นาที
  • รักษาภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) ผู้ใหญ่ ให้วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 7-10 วัน ใช้เวลาในการให้อย่างน้อย 60 นาที
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผู้ใหญ่ ให้ 250 มิลลิกรัม ทุก ๆ 24 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3 วัน

ชนิดหยอดตา

  • รักษาอาการเยื่อบุตาอักเสบเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย เด็กอายุมากกว่า 1 ปีและผู้ใหญ่ ใช้ยา Levofloxacin ชนิดความเข้มข้น 0.5% โดยในวันที่ 1-2 ใช้ครั้งละ 1-2 หยด ทุก ๆ 2 ชั่วโมงขณะที่ตื่น ไม่เกินวันละ 8 ครั้ง วันที่ 3-7 ใช้ครั้งละ 1-2 หยด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงขณะที่ตื่น ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
  • รักษาแผลที่กระจกตาเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย เด็กอายุมากกว่า 6 ปีและผู้ใหญ่ ใช้ยา Levofloxacin ชนิดความเข้มข้น 0.5% โดยในวันที่ 1-3 ใช้ครั้งละ 1-2 หยด ทุก ๆ 30 นาทีขณะที่ตื่นและประมาณ 4-6 ชั่วโมงหลังจากเข้านอน ตั้งแต่วันที่ 4 ไปจนอาการหายสนิท ใช้ครั้งละ 1-2 หยด ทุก ๆ 1-4 ชั่วโมงขณะที่ตื่น ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง

การใช้ยา Levofloxacin

ยาชนิดนี้เป็นยาที่ควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และหากเป็นยาเม็ดควรอ่านคู่มือการใช้ยาอย่างละเอียด ในการใช้ยา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาก่อนอาหารได้ หากเป็นยาน้ำควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง และควรดื่มน้ำตามมาก ๆ ในขณะที่ยาฉีด ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา Levofloxacin เป็นผู้ฉีดให้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการได้รับยาเกินขนาด นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้ยาร่วมกัน โดยเฉพาะในเด็ก แม้จะมีอาการเหมือนกันก็ตาม การเก็บรักษายาควรเก็บในที่แห้งและไม่อับชื้น หากยามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรนำมาใช้และควรทิ้งให้เป็นที่ เพื่อป้องกันผู้อื่นนำยาไปใช้และทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์

การรับประทานยา Levofloxacin ควรใช้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกว่ายาที่แพทย์สั่งจะหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการหยุดหลังจากอาการหายโดยทันทีอาจทำให้การติดเชื้อครั้งต่อไปเกิดภาวะเชื้อดื้อยา และควรพึงระลึกไว้ว่ายาชนิดนี้ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัส อาทิ ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ได้ อีกทั้งการใช้ยาอาจทำให้ผลการตรวจสารเสพติดเกิดความผิดพลาด ดังนั้นก่อนทำการตรวจควรแจ้งกับผู้ตรวจว่ากำลังใช้ยา Levofloxacin อยู่

สตรีมีครรภ์ห้ามใช้ยานี้ เพราะจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ แต่หากใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผลและจำเป็นต้องใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องศึกษาความเสี่ยงและปรึกษากับแพทย์เพื่อหาทางออกในการใช้ยาที่จะส่งผลเสียน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังห้ามใช้ในสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรด้วย เพราะตัวยาอาจเจือปนลงไปในน้ำนมแม่จนเป็นอันตรายต่อเด็กได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Levofloxacin

ยาชนิดนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และอาจส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยบางคนได้ ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการท้องเสียและนอนไม่หลับ ขณะที่ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่

  • อาการปวดบริเวณช่องท้อง หรือตะคริวที่ท้องอย่างรุนแรง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • ไข้ขึ้นสูง
  • ตัวสั่น
  • มีอาการคัน และบวมแดงบริเวณผิวหนัง
  • รู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง มีแผลพุพองขึ้นตามผิวหนัง
  • กระสับกระส่าย มึนงง รู้สึกเหมือนคนอื่นได้ยินความคิดของตนเอง หรือกำลังควบคุมพฤติกรรมของตนเองอยู่
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ยา Levofloxacin ยังอาจทำให้เกิดอาการบวมหรือการฉีกขาดของกล้ามเนื้อได้ โดยเฉพาะบริเวณเอ็นร้อยหวายที่ส้นเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากหยุดยาชนิดนี้แล้ว และอาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากผู้ป่วยมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่ใช้ยาที่ผสมสเตียรอยด์ และผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น หัวใจ ไต และปอด เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะดีที่สุด