ความหมาย ไลเคน พลานัส (Lichen Planus)
Lichen Planus คืออาการอักเสบชนิดเรื้อรังที่พบได้ตามบริเวณผิวหนัง เส้นผม เล็บ และเนื้อเยื่อเมือกหรือเยื่อเมือกบุผิว สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้น ทั้งนี้ Lichen Planus ไม่ใช่โรคติดต่อและมักไม่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจหายดีได้โดยไม่ต้องใช้วิธีรักษาทางการแพทย์ เพียงดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้นและหมั่นสังเกตอาการ แต่หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
อาการของไลเคน พลานัส
ลักษณะอาการของโรคนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดการอักเสบ ซึ่งโดยทั่วไปมักพบบริเวณที่มีเนื้อเยื่อเมือก เช่น ภายในช่องปาก หนังศีรษะ และเล็บ อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- เกิดผื่นหรือตุ่มนูนแบนสีม่วงคล้ำบริเวณแขนด้านใน ข้อมือ ข้อเท้า หรืออวัยวะเพศด้านนอก
- มีตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งหากตุ่มน้ำแตกออกจะเกิดเป็นแผลตกสะเก็ดตามมา
- คันบริเวณที่มีผื่นขึ้น
- มีลายเส้นสีขาวคล้ายลูกไม้ภายในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก ริมฝีปาก หรือลิ้น
- มีแผลในปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ
- หนังศีรษะเปลี่ยนสี ผมร่วง
- มีปัญหาเกี่ยวกับเล็บ เช่น เล็บเสียหาย เล็บหลุด เป็นต้น
ทั้งนี้ แผลที่เกิดขึ้นอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ และต้องใช้เวลานานกว่า 6-16 เดือน กว่าผื่นหรือแผลต่าง ๆ จะหายไปจนหมด แต่อาการที่เกิดขึ้นมักไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม หากมีผื่นหรือตุ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามความเหมาะสม
สาเหตุของไลเคน พลานัส
Lichen Planus เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและเข้าทำลายเซลล์ผิวหนังและเนื้อเยื่อเมือกในร่างกาย โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่ามีปัจจัยที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนี้
- อายุ โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักพบในผู้ป่วยวัยกลางคน พบได้น้อยมากในเด็กและผู้สูงอายุ
- เพศ โรค Lichen Planus ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังพบได้ทั้งในเพศชายและหญิง แต่รอยโรคที่เกิดขึ้นภายในปากนั้นพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า
- กรรมพันธุ์ ในบางครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยด้วยโรคนี้ อาจพบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกหลานได้
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง โรคนี้มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีรอยขีดข่วนหรือเคยได้รับบาดเจ็บ
- โรคผิวหนังบางชนิด อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ตามมา เช่น โรคงูสวัด เป็นต้น
- ความเครียด ส่งผลต่อการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
- การแพ้จากการสัมผัส เช่น วัสดุในการอุดฟันที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองภายในช่องปาก แต่พบได้น้อย หรือการสัมผัสสารหนู สารประกอบไอโอดีน และสารย้อมสีบางชนิด
- การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบซี ที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาควีนิน ยาควีนิดีน ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โรคนี้มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
การวินิจฉัยไลเคน พลานัส
หากพบผื่นที่ผิวหนัง มีแผลภายในช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม โดยแพทย์จะตรวจร่างกายและซักอาการ รวมทั้งสอบถามประวัติการรักษาโรคต่าง ๆ หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรค Lichen Planus แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การทดสอบการแพ้ ในบางกรณีแพทย์อาจให้ผู้ป่วยทดสอบว่ามีอาการแพ้สารประกอบใดที่อาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติหรือไม่
- การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่มีอาการไปตรวจหาความผิดปกติด้วยกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากไวรัสตับอักเสบซีสามารถส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้เนื่องจากติดเชื้อดังกล่าว แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
ทั้งนี้ หากประเมินแล้วว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเป็น Lichen Planus ที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น หู ปาก หลอดอาหาร หรืออวัยวะเพศ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีที่เฉพาะเจาะจงลงไป เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างตรงจุดต่อไป
การรักษาไลเคน พลานัส
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนักอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากอาการจะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 2 ปี จึงจะหายสนิท และหากเป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อเมือก การรักษาอาจเป็นไปได้ยากหรือเสี่ยงกลับไปเป็นซ้ำได้
Lichen Planus เป็นโรคที่ยังไม่มีการรักษาโดยตรง แต่บรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดนี้ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ โดยมีทั้งชนิดยารับประทาน ยาทา หรือยาฉีด ทว่ายานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังระคายเคือง ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง ปวดท้อง หรือเกิดเชื้อราในปากได้ และควรใช้ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- การใช้ยาแก้แพ้ ยาแก้แพ้มีฤทธิ์ช่วยป้องกันสารฮีสตามีนที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอักเสบ และช่วยลดอาการคันหรือเจ็บปวดที่เกิดจาก Lichen Planus
- การใช้ยาปรับภูมิคุ้มกัน แพทย์อาจใช้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันหรือปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง แต่เป็นยาที่ต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- การรักษาด้วยแสง อาการของ Lichen Planus ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบรรเทาได้ด้วยการใช้แสงอัลตราไวโอเลต โดยต้องเข้ารับการรักษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลาหลายสัปดาห์ จึงจะหายสนิท ทว่าการรักษาวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดแผลไหม้แดด และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งผิวหนัง หรือโรคต้อกระจกได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวให้แน่ใจก่อนเข้ารับการรักษา
- การใช้ยาเรตินอยด์ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ร่วมด้วยเพื่อช่วยลดการอักเสบ โดยมีทั้งชนิดยาทาและยารับประทาน แต่การใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้น หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยา เพื่อความปลอดภัย
ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณแผล ซึ่งบรรเทาได้ด้วยการทาครีมที่มีฤทธิ์ลดอาการแพ้ ลดการอักเสบ หรืออาจใช้การประคบเย็นก็ได้ และควรหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณแผลเพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคืองรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทาแก้คันเสมอ เพราะยาดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่ใช้อยู่จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้
ส่วน Lichen Planus ที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก ผู้ป่วยควรรักษาความสะอาดของช่องปากให้มากขึ้น และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารที่มีรสจัดหรือมีกรดมาก เพื่อช่วยลดอาการเจ็บภายในช่องปากที่เกิดขึ้นจากโรคนี้
ภาวะแทรกซ้อนของไลเคน พลานัส
โรค Lichen Planus มักไม่มีอาการรุนแรงและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากการอัักเสบเกิดขึ้นบริเวณปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงหรือเกิดแผลเป็นหลังจากอาการสงบลงแล้ว นอกจากนี้ Lichen Planus ที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศในระยะยาวตามมา
การศึกษาบางส่วนยังพบว่าโรคนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะแควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma: SCC) มะเร็งช่องปาก มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งที่อวัยวะเพศชาย ดังนั้น ในระหว่างการรักษา แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่มีอาการไปตรวจหามะเร็งเป็นระยะ เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อย่างทันท่วงที
การป้องกันไลเคน พลานัส
Lichen Planus เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ทราบกลไกการเกิดแน่ชัด สิ่งที่พอจะทำได้คือการหมั่นสังเกตตนเอง หากพบความผิดปกติหรือสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา