Listeriosis

ความหมาย Listeriosis

Listeriosis หรือโรคลิสเทริโอซิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่พบได้ทั่วไปในดิน แหล่งน้ำ หรือมูลสัตว์ โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สด ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ปรุงสุกหรือไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อโรคที่สะอาดเพียงพอ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาจไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่เชื้อลิสเทอเรียอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเมื่อเกิดกับเด็กแรกเกิดและทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา รวมทั้งผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน 

listeriosis

อาการ Listeriosis

ในช่วง 2-3 วันแรกหลังจากรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อลิสเทอเรีย ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งอาการอาจคงอยู่นานถึง 30 วัน แต่หากเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาทก็จะส่งผลให้เกิดอาการอื่นตามมา เช่น ปวดศีรษะ มีอาการคอแข็ง เซื่องซึม รู้สึกสับสน ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป เสียการทรงตัว หรือชัก เป็นต้น  

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้ออาจได้รับผลกระทบต่อตนเองไม่มากนัก โดยอาจมีอาการเหมือนผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ แต่เด็กในครรภ์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง บางกรณีพบว่าเด็กอาจเสียชีวิตในครรภ์มารดาหรือเกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อชีวิตภายใน 2-3 วันหลังคลอด โดยทารกแรกเกิดที่ได้รับเชื้อลิสเทอเรียอาจมีอาการไม่ดื่มนม ซึม กระสับกระส่าย มีไข้ หรืออาเจียน

ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีที่มีไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง มีอาการคอแข็ง รู้สึกสับสน ตาแพ้แสง มีผื่นหรือตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของ Listeriosis

Listeriosis เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส โดยเชื้อนี้พบได้ทั่วไปในดิน แหล่งน้ำ มูลสัตว์ อีกทั้งเชื้อลิสเทอเรียยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอากาศเย็นหรือแม้แต่ในช่องแช่แข็ง จึงอาจพบการปนเปื้อนเชื้อนี้ในอาหาร อาหารแช่เย็น และอุปกรณ์การผลิตอาหารได้ อย่างไรก็ตาม เชื้อจะถูกทำลายเมื่อได้รับความร้อนหรือกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยการพาสเจอไรส์  

สาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อลิสเทอเรีย โดยประเภทอาหารที่มักพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อได้บ่อย ได้แก่ ผักและผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างไส้กรอกหรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังที่ทำจากเนื้อ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรมควัน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรส์ อย่างไอศกรีมหรือเนยแข็งชนิดนิ่ม 

ในกรณีของทารกในครรภ์อาจได้รับเชื้อลิสเทอเรียผ่านทางรกของมารดา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารกได้

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลิสเทอเรียได้ง่ายกว่าคนทั่วไป คือ กลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยคีโมบำบัด
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไต
  • ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกันจำพวกยาเพรดนิโซโลน หรือยารักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองอย่างโรครูมาตอยด์
  • ผู้ได้รับยาลดปฏิกิริยาการต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้มีปัญหาโรคตับหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง

การวินิจฉัย Listeriosis

แพทย์จะวินิจฉัย Listeriosis ด้วยการตรวจเลือดเพื่อตรวจดูภาวะการติดเชื้อลิสเทอเรีย แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การตรวจปัสสาวะการตรวจรกของหญิงตั้งครรภ์ หรือตรวจของเหลวในไขสันหลังร่วมด้วย

การรักษา Listeriosis

วิธีการรักษา Listeriosis จะแตกต่างกันไปตามอาการและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หากมีอาการที่ไม่รุนแรงและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยยังอยู่ในระดับที่ดีก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์อาจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักดูแลตนเองที่บ้าน ซึ่งการดูแลตนเองที่บ้านจะใช้วิธีคล้ายกับการดูแลตนเองเมื่อผู้ป่วยเกิดโรคหรือได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารประเภทอื่น ดังนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ เมื่อมีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย 
  • รับประทานยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) สลับกับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่มีไขมันสูง อย่างเนื้อสัตว์ต่าง ๆ

หากผู้ป่วยมีอาการในขั้นรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์มักสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะช่วยยับยั้งการติดเชื้อ และอาจให้ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาทางหลอดเลือดดำ และเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคลิสเทริโอซิส แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อของเด็กในครรภ์ ส่วนเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อจะได้รับยาปฏิชีวนะทันทีหลังคลอด 

โดยปกติแล้วหากมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน อาการมักดีขึ้นภายใน 3-5 วัน แต่หากมีอาการติดเชื้อรุนแรงอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นถึง 6 สัปดาห์ ในเด็กทารกที่มีอาการติดเชื้ออาจได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อต้านการติดเชื้อได้ จึงจำเป็นต้องรับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อนของ Listeriosis

การติดเชื้อลิสเทอเรียส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง แต่บางกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ การติดเชื้อลิสเทอเรียในระหว่างการตั้งครรภ์อาจส่งผลรุนแรงต่อเด็กในครรภ์ ส่วนมากมารดาจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อในระยะแรกของการตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะแท้ง แต่หากเป็นระยะหลังของการตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ภาวะตายคลอด (Stillbirth) คลอดก่อนกำหนด หรือการติดเชื้อรุนแรงหลังคลอดได้ 

การป้องกัน Listeriosis

วิธีการป้องกันโรคลิสเทริโอซิสสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • ล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่ให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังทำอาหาร รวมถึงควรล้างมือหลังจากสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ
  • ล้างอุปกรณ์เครื่องครัวให้สะอาดก่อนนำมาใช้ปรุงอาหาร
  • ล้างผักและผลไม้สดโดยใช้วิธีเปิดน้ำสะอาดให้ไหลผ่านควบคู่กับการใช้แปรงสำหรับทำความสะอาดผิวด้านนอกของผักผลไม้ทุกครั้ง 
  • ปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยอาจใช้เทอร์โมมิเตอร์ช่วยวัดอุณหภูมิของอาหารได้ 
  • ตั้งอุณหภูมิของตู้เย็นให้มีความเย็นเพียงพอ แม้ว่าเชื้อลิสเทอเรียจะไม่ถูกทำลายในอากาศเย็น แต่อากาศเย็นสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ โดยอุณหภูมิในตู้เย็นสำหรับช่องธรรมดาที่แนะนำ คือ 4.4 องศาเซลเซียส และสำหรับช่องแช่แข็ง คือ -17.8 องศาเซลเซียส
  • หากเป็นหญิงตั้งครรภ์หรือเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรระมัดระวังในการรับประทานอาหาร โดยอาจหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อลิสเทอเรีย อย่างเนื้อสัตว์ดิบและผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรส์ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ฟาร์มปศุสัตว์