ความหมาย Malignant Hyperthermia
Malignant Hyperthermia คือ ภาวะไข้สูงอย่างรุนแรงที่เกิดจากการตอบสนองต่อยาสลบที่มากผิดปกติ ส่งผลให้มีไข้สูง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตลดต่ำลง ซึ่งบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดย Malignant Hyperthermia พบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อผิดปกติบางชนิด
ภาวะดังกล่าวเป็นความผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมและพบได้ค่อนข้างน้อย โดยทั่วไปจะไม่มีอาการหรือสัญญาณผิดปกติให้เห็นจนกว่าร่างกายจะได้รับยาสลบหรือยาอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้น ดังนั้น หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยภาวะไข้สูงชนิดนี้ ควรแจ้งแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือทันตกรรมใด ๆ
อาการของ Malignant Hyperthermia
อาการของภาวะนี้มักเกิดขึ้นภายในชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยาสลบ แต่ในบางรายอาจปรากฏอาการขึ้นภายใน 12 ชั่วโมงหลังจากนั้น โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้
- มีไข้สูงอย่างรวดเร็ว โดยอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการตัวแดงหรือเหงื่อออกร่วมด้วย
- ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งเกร็งหรือกระตุกอย่างรุนแรง
- หัวใจเต้นรัวหรือเต้นผิดจังหวะ
- ผิวเขียวคล้ำ
- หายใจติดขัด หายใจเร็ว หรือหายใจหอบ
- มีเลือดออกผิดปกติหรือเลือดหยุดไหลช้า
- ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย ปัสสาวะมีสีดำปนน้ำตาลเข้มคล้ายสีโค้ก
- ความดันโลหิตลดต่ำลงจนอาจช็อกและเสียชีวิตได้
สาเหตุของ Malignant Hyperthermia
ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นกรรมพันธุ์หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อบางชนิด โดยภาวะนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หากบุคคลนั้นมีญาติสายตรงอย่างพ่อ แม่ พี่ หรือน้อง มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยภาวะดังกล่าว แต่ในกรณีที่เป็นญาติสายรอง อย่างลุง ป้า น้า อา ที่เคยป่วยเป็นภาวะนี้ บุคคลนั้นอาจมีความเสี่ยงอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ภาวะไข้สูงชนิดนี้ไม่ได้ปรากฏในผู้ที่มียีนดังกล่าวทุกคน
การวินิจฉัย Malignant Hyperthermia
เนื่องจากภาวะนี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้สังเกตเห็นได้ จนกระทั่งได้รับยาสลบบางชนิด ดังนั้น หากแพทย์สังเกตเห็นความผิดปกติระหว่างการผ่าตัด อย่างมีไข้สูง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือหัวใจเต้นเร็ว แพทย์จะทำการตรวจเลือด เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงภายในเลือด เช่น สารเคมีในเลือด การแข็งตัวของเลือด ปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซต์ รวมทั้งค่ากรดและด่างของเลือด จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
ในผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้วหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว แพทย์อาจทำการตรวจดีเอ็นเอ (Genetic Test) เพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงภาวะไข้สูงชนิดนี้ โดยทั่วไป ทั้ง 2 วิธีเป็นวิธีที่ใช้เวลาในการตรวจนานกว่าการตรวจเลือดทั่วไป จึงมักใช้ตรวจในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะฉุกเฉิน
การรักษา Malignant Hyperthermia
หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าว แพทย์จะหยุดการใช้ยาสลบและการผ่าตัดทันที จากนั้นแพทย์อาจให้ยาแดนโทรลีน (Dantrolene) เพื่อคลายกล้ามเนื้อ และลดอุณหภูมิร่างกายลงด้วยการใช้แผ่นประคบเย็น ผ้าห่มไฟฟ้าเย็น (Cold Blanket) พัดลม เครื่องปรับอากาศ และฉีดสารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้ภายใน 12 - 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาอื่น ๆ รักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาความดัน ยาควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจาก Malignant Hyperthermia
อาการที่รุนแรงและการรักษาที่ไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- ตัดแขน ขา หรืออวัยวะส่วนที่เกิดความผิดปกติ
- เซลล์กล้ามเนื้อเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้
- มือและเท้าบวมจากภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง (Compartment Syndrome)
- ไตวายและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
- เสียชีวิต
การป้องกัน Malignant Hyperthermia
โรคนี้เกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติจึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทุกครั้งก่อนเข้ารับการผ่าตัดและทำทันตกรรม ถึงภาวะการเจ็บป่วยของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะภาวะ Malignant Hyperthermia โรคลมแดด ภาวะตัวร้อนเกิน และโรคกล้ามเนื้อผิดปกติบางชนิด โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงและเตรียมการรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ ควรงดการใช้สารเสพติด อย่างโคเคน ยาอี และยาบ้า เนื่องจากยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการที่คล้ายกับภาวะนี้ได้เช่นกัน