เมทฟอร์มิน (Metformin)
Metformin (เมทฟอร์มิน) เป็นยารักษาโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีภาวะดื้ออินซูลิน โดยจะใช้รักษาร่วมกับอินซูลินหรือยาชนิดอื่นด้วย ตัวยาจะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือกลูโคส โดยลดกระบวนการสร้างกลูโคสจากตับ ลดการดูดซึมกลูโคสภายในลำไส้ และกระตุ้นความไวต่ออินซูลินในร่างกาย ทำให้มีการนำกลูโคสกลับเข้าไปในเซลล์และนำกลูโคสไปใช้เพิ่มขึ้น
เกี่ยวกับยา Metformin
กลุ่มยา | ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic Agents) |
ประเภทยา | ยาตามใบแพทย์สั่ง |
สรรพคุณ | รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ และผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาสามารถขับออกทางน้ำนมและอาจส่งผลกระทบต่อทารก |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด |
คำเตือนในการใช้ยา Metformin
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา Metformin ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Metformin ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) อยู่แล้วควรแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยา Metformin เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ยาซ้ำซ้อน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคไต โรคตับ มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง และมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด
- ห้ามใช้ยาในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี และหากเป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์นาน (Extended-release Formulations) ห้ามใช้ยาในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และยังไม่เคยตรวจการทำงานของไตมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่ายา Metformin สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- การใช้ยา Metformin เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยจะต้องรักษาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอด้วย
ปริมาณการใช้ยา Metformin
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Metformin ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Metformin เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีดังนี้
เด็ก ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
ผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 850 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์นานให้รับประทานครั้งละ 500–1,000 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกินวันละ 2,000–2,550 มิลลิกรัม
การใช้ยา Metformin
การใช้ยา Metformin จะใช้ในกรณีที่มีการวินิจฉัยพบว่าป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด การรับประทานยาควรรับประทานหลังอาหาร โดยให้กลืนยาลงไปในคราวเดียว ไม่ควรหักหรือกัดยาขณะที่รับประทาน
ผู้ป่วยไม่ควรปรับปริมาณการรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการใช้ยาในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงจนเป็นอันตราย และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Lactic Acidosis) ได้ด้วย
ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานยาให้เร็วที่สุดเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้านึกขึ้นได้ตอนใกล้กับเวลารับประทานยามื้อถัดไปให้รับประทานยาในครั้งถัดไปเพียงครั้งเดียว และควรเก็บยาในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน และแสง เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา Metformin กับยาอื่น
ยา Metformin อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยากลุ่มคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (Carbonic Anhydrase Inhibitors) ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดยาขับปัสสาวะ สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด
- ยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่น เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) และยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยากันชักเฟนิโทอิน (Phenytoin) ยาคุมกำเนิด และยาขับปัสสาวะ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาในการต้านการแข็งตัวของเลือด
ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Metformin เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Metformin
การใช้ยา Metformin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดชนิดอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หัวใจวาย มีภาวะติดเชื้อรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ หรือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
ผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการใช้ยา Metformin ที่มักพบได้บ่อย เช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- หายใจเร็ว หรือหายใจตื้น
- มีไข้ หนาวสั่น
- รู้สึกไม่สบายตัว
- รู้สึกไม่สบายท้อง
- ปวดหลัง หรือปวดกล้ามเนื้อ
- ปัสสาวะติดขัด
- ง่วงซึมตลอดเวลา
- มีภาวะขาดวิตามินบี 12
นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก มองไม่ชัด เหงื่อออกมาก หิวบ่อย ผิวซีดลง วิตกกังวล ซึมเศร้า และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการข้างเคียงใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจปรับลดปริมาณยา หรือเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย