Methyl Salicylate (เมทิลซาลิไซเลต)
Methyl Salicylate (เมทิลซาลิไซเลต) เป็นยาระงับปวดชนิดใช้เฉพาะที่สำหรับบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อจากภาวะตึงหรือเคล็ด ข้อต่ออักเสบ ช้ำ หรือปวดหลัง เป็นต้น โดยยานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเย็นบริเวณผิวหนังในตอนแรก จากนั้นจะค่อย ๆ อุ่นขึ้น ซึ่งช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากการรู้สึกถึงอาการปวด นอกจากนี้ ยังอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
ยา Methyl Salicylate มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Methyl Salicylate
กลุ่มยา | ยาระงับปวด |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาใช้เฉพาะที่ |
คำเตือนในการใช้ยา Methyl Salicylate
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มซาลิไซเลต รวมทั้งยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย
- หญิงตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยานี้ก่อนใช้ยาเสมอ
- ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้บริเวณเต้านม
- ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- ระวังอย่าให้ยาเข้าตา จมูก ปาก ช่องคลอด หรือทวารหนัก หากสัมผัสกับยาในบริเวณดังกล่าว ควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
ปริมาณการใช้ยา Methyl Salicylate
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ
ยาใช้เฉพาะที่ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง
- ผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ใช้แผ่นยาแปะลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการปวดเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง และอาจแปะซ้ำอีกครั้งได้ แต่ห้ามใช้เกินวันละ 2 แผ่น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
ยาใช้เฉพาะที่ชนิดครีม บาล์ม สเปรย์ แท่ง หรือโฟม
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- เด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไปและผู้ใหญ่ ทาหรือพ่นยาบริเวณที่มีอาการปวด 3-4 ครั้ง/วัน ห้ามใช้ยากับผิวหนังบริเวณที่มีแผลเปิดหรือผิวหนังที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ควรใช้ยาร่วมกับแผ่นแปะให้ความร้อน
การใช้ยา Methyl Salicylate
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยในการใช้ยา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะใช้ยาและเช็ดให้แห้งก่อนใช้ยา
- ห้ามใช้ยากับผิวหนังที่มีแผลเปิิด ผิวไหม้แดด ผิวหนังอักเสบจากการถูกลมแรง ผิวแห้ง หรือผิวแตก เพราะอาจเกิดการระคายเคือง
- หากใช้ยาชนิดครีม เจล โลชั่น ออยล์ ขี้ผึ้ง หรือสเปรย์ ให้ทาบาง ๆ ในบริเวณที่มีอาการปวด และนวดเบา ๆ ให้ยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง
- การใช้ยาชนิดน้ำหรือแท่ง ให้ทายาบริเวณที่มีอาการปวด จากนั้นนวดช้า ๆ จนยาซึมลงผิวหนัง
- การใช้ยาชนิดแผ่นแปะ ให้ลอกแผ่นฟิล์มออก จากนั้นแปะบริเวณที่มีอาการปวดให้แนบสนิทไปกับผิวหนัง โดยใช้วันละ 1-2 ครั้ง ตามต้องการ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันทีหลังจากใช้ยา หากทายาบริเวณมือหรือนิ้ว ให้รออย่างน้อย 30 นาที แล้วค่อยล้างมือ
- อาจใช้ถุงมือยาง ถุงนิ้วยาง สำลีก้อน หรือกระดาษทิชชู่สะอาดในการทายา เพื่อป้องกันยาติดนิ้วมือ
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการชาหรือแสบบริเวณที่ทาได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะทุเลาลงและหายไปเอง หากรู้สึกแสบมากหรือไม่สบายผิว ให้ล้างยาออกด้วยสบู่และน้ำเย็น แต่ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อแสบผิวอย่างรุนแรง เจ็บ บวม หรือผิวพุพอง
- ห้ามใช้ผ้าพันแผลหรือแผ่นแปะให้ความร้อนปิดลงบนบริเวณที่ทายา เพราะอาจทำให้รู้สึกแสบมากขึ้น
- ระมัดระวังอย่าให้ยาเข้าตา หากยาเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที รวมทั้งไม่ควรให้ยาสัมผัสโดนคอนแทคเลนส์ ฟันปลอม หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ต้องนำมาใช้กับผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่บอบบางของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ทันทีหลังจากอาบน้ำหรือโกนหนวด เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้
- หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาไปแล้ว 7 วัน อาการแย่ลง หรืออาการดีขึ้นแล้วกลับมาเป็นซ้ำภายใน 2-3 วัน ให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
- กรณีที่สงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยวางไว้ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Methyl Salicylate
การใช้ยา Methyl Salicylate อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวระคายเคือง แสบ แดง มีอาการชา รู้สึกปวดคล้ายเข็มทิ่มตามผิวหนัง เกิดภาวะภูมิไวเกิน เป็นต้น และหากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยา Methyl Salicylate ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม เป็นต้น
- มีอาการแสบอย่างรุนแรง เจ็บ บวม หรือพุพองในบริเวณที่ใช้ยา หากพบอาการดังกล่าวให้รีบล้างยาออกก่อนและไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน