Methylprednisolone (เมทิลเพรดนิโซโลน)
Methylprednisolone (เมทิลเพรดนิโซโลน) เป็นยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่นำมาใช้ต้านการอักเสบหรือกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย รักษาโรคผิวหนังที่ไวต่อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โรคหืดชนิดรุนแรง โรคภูมิแพ้ และป้องกันร่างกายไม่ให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่ในการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยสารที่ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
ยา Methylprednisolone มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Methylprednisolone
กลุ่มยา | ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ต้านการอักเสบ หรือกดภูมิคุ้มกัน |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด ยาอม ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Methylprednisolone
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Methylprednisolone หากมีประวัติแพ้ยานี้ หรือเกิดการติดเชื้อราตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
- ยา Methylprednisolone สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อใด ๆ ภายในไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบก่อนใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือเกิดการติดเชื้อซ้ำ
- ในระหว่างที่ใช้ยา ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะติดเชื้อ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงโรคประจำตัวหรือหรือภาวะเจ็บป่วยใด ๆ โดยเฉพาะภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเริมที่ตา โรคต้อหิน โรคต้อกระจก โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคซึมเศร้า อาการป่วยทางจิต โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคตับหรือไตบกพร่อง หรือมีประวัติอาการชัก เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Methylprednisolone เพราะยาอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดหรือปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงอาจต้องปรับปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวานก่อนใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนชนิดที่ผลิตจากเชื้อมีชีวิตในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยาอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้
- หากป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือโรคหัดในระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้ไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ
- ห้ามหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยา
- ผู้ป่วยควรพกนามบัตรหรือห้อยป้ายข้อมือที่แสดงว่าตนเป็นผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยให้แพทย์หรือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินทราบว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยาสเตียรอยด์อยู่
ปริมาณการใช้ยา Methylprednisolone
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ต้านการอักเสบหรือกดภูมิคุ้มกัน
ยาฉีดเข้าทางข้อต่อ
- ผู้ใหญ่ สำหรับข้อต่อขนาดเล็ก ให้ฉีดยา Methylprednisolone Acetate เข้าทางข้อต่อปริมาณ 4-10 มิลลิกรัม หากเป็นข้อต่อขนาดปานกลาง ให้ฉีดยาเข้าทางข้อต่อปริมาณ 10-40 มิลลิกรัม และข้อต่อขนาดใหญ่ ให้ฉีดยาเข้าทางข้อต่อปริมาณ 20-80 มิลลิกรัม โดยอาจฉีดยาซ้ำทุก 1-5 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
ยาฉีดบริเวณรอยโรค
- ผู้ใหญ่ ฉีดยา Methylprednisolone Acetate เข้าที่รอยโรคปริมาณ 20-60 มิลลิกรัม ทุก 1-5 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- ผู้ใหญ่ ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate ปริมาณ 10-80 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือฉีดยา Methylprednisolone Acetate ปริมาณ 10-80 มิลลิกรัม ทุก 1-2 สัปดาห์
- เด็ก ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate ปริมาณ 0.5-1.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือฉีดยาปริมาณ 5-25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร/ว้น โดยแบ่งฉีดยาทุก 6-12 ชั่วโมง สำหรับการรักษาเป็นระยะ ให้ยาปริมาณ 15-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ไม่ต่ำกว่า 30 นาที วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ
- ผู้ใหญ่ ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate ปริมาณ 10-500 มิลลิกรัม/วัน หากฉีดยาปริมาณไม่เกิน 250 มิลลิกรัม ให้ยาเข้าสู่หลอดเลือดดำเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที หากปริมาณยามากกว่า 250 มิลลิกรัม ให้ยาอย่างช้า ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
- เด็ก ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate ปริมาณ 0.5-1.7 มิลลิกรัม/วัน หรือให้ยาปริมาณ 5-25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร/วัน โดยแบ่งให้ยาทุก 6-12 ชั่วโมง สำหรับการรักษาเป็นระยะ ให้ยาปริมาณ 15-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 30 นาที วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
ยารับประทาน
- ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2-60 มิลลิกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 1-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับโรคที่รักษา
- เด็ก รับประทานยา Methylprednisolone Na Succinate ปริมาณ 0.5-1.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 5-25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 6-12 ชั่วโมง สำหรับการรักษาเป็นระยะ ให้รับประทานยาปริมาณ 15-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง โดยแต่ละครั้งให้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 30 นาทีขึ้นไป วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
รักษาโรคผิวหนังที่ไวต่อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ยาฉีดบริเวณรอยโรค
- ผู้ใหญ่ ฉีดยา Methylprednisolone Acetate เข้าที่รอยโรคปริมาณ 20-60 มิลลิกรัม อาจฉีดยา 1-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับประเภทโรคและระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูหลังเริ่มใช้ยา
ยาใช้ภายนอก
- ผู้ใหญ่ ทายา Methylprednisolone Aceponate ชนิดขี้ผึ้ง ครีม หรือโลชั่นที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ลงบนบริเวณที่มีอาการบาง ๆ วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลาไม่เกิน 12 สัปดาห์
- เด็ก ทายา Methylprednisolone Aceponate ชนิดขี้ผึ้ง ครีม หรือโลชั่นที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ลงบนบริเวณที่มีอาการบาง ๆ วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์
รักษาโรคหืดรุนแรง (Status Asthmaticus)
- ผู้ใหญ่ ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 40 มิลลิกรัม หรืออาจฉีดยาซ้ำโดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยา
- เด็ก ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 1-4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 1-3 วัน
รักษาปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่จากการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ใหญ่ ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 0.5-1 กรัม/วัน โดยให้ยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการจะคงที่ ซึ่งอาจใช้เวลาไม่เกิน 48-72 ชั่วโมง
- เด็ก ฉีดยา Methylprednisolone Na Succinate เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/วัน
รักษาโรคภูมิแพ้
ผู้ใหญ่
- วันที่ 1 ให้รับประทานยาปริมาณ 24 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับเวลาที่เริ่มต้นรับประทาน หรือแบ่งรับประทานยาปริมาณ 8 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน หรือรับประทานยาปริมาณ 4 มิลลิกรัม หลังอาหารกลางวันและอาหารเย็น
- วันที่ 2 ให้รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานยาครั้งละ 4 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า หลังอาหารกลางวัน หลังอาหารเย็น และรับประทานยาปริมาณ 8 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอน
- วันที่ 3 ให้รับประทานยาปริมาณ 16 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานยาครั้งละ 4 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า หลังอาหารกลางวัน หลังอาหารเย็น และก่อนนอน
- วันที่ 4 ให้รับประทานยาปริมาณ 12 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานยา 4 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า หลังอาหารกลางวัน และก่อนเข้านอน
- วันที่ 5 ให้รับประทานยาปริมาณ 8 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานยาครั้งละ 4 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า และก่อนนอน
- วันที่ 6 ให้รับประทานยาปริมาณ 4 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า
การใช้ยา Methylprednisolone
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง มีไข้ เกิดการติดเชื้อ เข้ารับการผ่าตัด หรือรักษาทางการแพทย์ฉุกเฉินอื่น ๆ อาจต้องมีการปรับปริมาณการใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์
- ก่อนเข้ารับการตรวจทางการแพทย์ใด ๆ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่ากำลังใช้ยา Methylprednisolone เพราะยาอาจทำให้ผลทดสอบทางการแพทย์บางประเภทคลาดเคลื่อนได้
- หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ให้แจ้งแพทย์ผู้รักษาทราบว่ากำลังใช้ยา Methylprednisolone เพราะอาจต้องหยุดใช้ยาชั่วคราว
- แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบหากลืมใช้ยา
- หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Methylprednisolone
การใช้ยา Methylprednisolone อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ภาวะคั่งน้ำ เวียนศีรษะ บ้านหมุน ประจำเดือนผิดปกติ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องอืด ไม่สบายท้อง เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Methylprednisolone ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาหรือไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ลิ้นบวม คอบวม เป็นต้น
- ตัวบวม น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายใจไม่อิ่ม
- เกิดรอยช้ำ ผิวบาง หรือเป็นแผลไม่หายขาด
- มองเห็นไม่ชัดหรือเห็นเฉพาะกลางภาพ เจ็บตา เห็นแสงไฟกระจายเป็นแฉกหรือรัศมีรอบดวงไฟ
- ภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง พฤติกรรมหรือความคิดเปลี่ยนแปลงไป
- เจ็บแขน ขา หรือหลังอย่างผิดปกติ
- อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ ไอเป็นเลือดหรืออาเจียนเป็นสีน้ำตาลเข้ม
- มีอาการชัก
- ภาวะโพแทสเซียมต่ำ อาจทำให้เป็นตะคริวที่ขา ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ กระหายน้ำมาก ปัสสาวะมาก หรือเหน็บชา
- ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจมีการเจริญเติบโตผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของเด็กในช่วงวัยเดียวกัน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน