ความหมาย โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
OCD (Obsessive Compulsive Disorder) หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นอาการทางจิตที่ผู้ป่วยจะมีรูปแบบความคิดหรือความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผลจนนำไปสู่การทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา เช่น คิดว่ามือสกปรกตลอดเวลาจึงต้องล้างมือบ่อย ๆ คิดว่าลืมปิดประตูบ้านหรือเตาแก๊สจึงต้องคอยตรวจตราจนไปทำงานสาย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันและกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการย้ำคิดร่วมกับอาการย้ำทำ หรืออาจมีเฉพาะอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
อาการย้ำคิด เป็นความคิดซ้ำซากที่ผุดขึ้นมาซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดอาการย้ำทำตามมา จึงมักส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์และมีความวิตกกังวลจากความคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหรือคิดมากเกินพอดี เช่น
- กลัวความสกปรกหรือกลัวเชื้อโรคจากการหยิบจับสิ่งของและการสัมผัสผู้อื่น
- วิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่ตลอดเวลา เช่น คิดว่าลืมปิดประตูบ้านหรือเตาแก๊ส
- ไม่สบายใจเมื่อเห็นสิ่งของไม่เป็นระเบียบ ถูกแบ่งออกไม่เท่ากัน หรือไม่หันไปในทิศทางเดียวกัน
- มีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น
- มีความคิดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องเพศหรือศาสนา
อาการย้ำทำ เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออาการย้ำคิด เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความวิตกกังวลในใจ รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์บางอย่างที่ผู้ป่วยคิดว่าตนเองต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันเหตุร้าย ผู้ป่วยจึงมักรู้สึกสบายใจเมื่อได้ลงมือทำ ซึ่งคนปกติอย่างผู้ที่ชอบความสมบูรณ์แบบอาจมีพฤติกรรมตรวจดูความเรียบร้อยในเรื่องต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดหรือเพื่อเสริมความมั่นใจ แต่ผู้ป่วย OCD มักไม่สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตนเองได้ ทำให้เสียเวลากับอาการย้ำทำวันละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงจนมักส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยตัวอย่างอาการย้ำทำ มีดังนี้
- ล้างมือหรืออาบน้ำบ่อยเกินจำเป็น
- ไม่กล้าหยิบจับสิ่งของหรือสัมผัสผู้อื่น เพราะกลัวว่าจะสกปรกหรือติดเชื้อโรค
- ตรวจดูประตูหรือเตาแก๊สซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ลืมปิด
- คอยตรวจนับสิ่งของ จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบและหันไปทางเดียวกันอยู่เสมอ
- ท่องคำพูดหรือบทสวดมนต์ในใจซ้ำ ๆ มีความคิดบางอย่างวกวนในหัวจนทำให้นอนไม่หลับ
- ต้องทำอะไรให้ครบจำนวนครั้งตามที่ตนเองกำหนดไว้
- ชอบเก็บหรือสะสมสิ่งของในบ้านมากเกินไป
- บางรายอาจชอบขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นจังหวะเร็ว ๆ เช่น ขยิบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ขยับหน้า ยักไหล่หรือศีรษะ กระแอมไอ เป็นต้น
ผู้ป่วยมักเป็น OCD ตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นไปจนตลอดชีวิต อาการของโรคนี้มักเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจรุนแรงมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นหรือมีความเครียด ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ
OCD ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายส่วนร่วมกัน ดังนี้
- พันธุกรรม OCD อาจถูกถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกได้ และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค OCD ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้เช่นกัน
- ความผิดปกติทางสมอง การทำงานบกพร่องของสมองบางส่วนอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้
- สภาพแวดล้อม การถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางเพศ การเจ็บป่วย และปัญหาชีวิตที่รุนแรง อาจก่อให้เกิดความเครียดแล้วกระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงอาการของ OCD ได้
การวินิจฉัยโรคย้ำคิดย้ำทำ
แพทย์มักวินิจฉัยโรค OCD จากการซักประวัติและประเมินผลทางจิตเวชเป็นหลัก ซึ่งผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ความรุนแรงของอาการ รูปแบบความคิดและพฤติกรรม และระยะเวลาที่หมดไปกับอาการย้ำคิดย้ำทำ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายหรือมีอาการร่วมกับโรคจิตเวชอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเภท เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจร่างกายหาร่องรอยที่เป็นสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อนของ OCD และอาจตรวจหาปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของไทรอยด์ การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด เป็นต้น
การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ
OCD อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายต้องไปพบแพทย์อยู่เสมอ โดยการรักษาจะช่วยควบคุมอาการให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งมี 2 วิธีหลัก ดังนี้
การรับประทานยาจิตเวช แพทย์มักรักษา OCD ด้วยการให้ผู้ป่วยลองรับประทานยาต้านเศร้าหลายชนิดเพื่อช่วยควบคุมอาการ เช่น โคลมิพรามีน เซอร์ทราลีน พาร็อกซีทีน ฟลูวอกซามีน หรือฟลูออกซิทีน เป็นต้น ซึ่งอาการของผู้ป่วยมักดีขึ้นหลังจากรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการดีขึ้นในเวลาน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องคำนึงถึงข้อควรระวังและผลข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีซึ่งมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในช่วงแรกของการรับประทานยาและช่วงที่ต้องปรับเปลี่ยนยา ยิ่งไปกว่านั้น การรับประทานยาต้านเศร้าอาจช่วยลดการฆ่าตัวตายได้เมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่การหยุดใช้ยาหรือลืมรับประทานยาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากต้องการหยุดใช้ยา ซึ่งจะต้องค่อย ๆ ลดปริมาณการใช้ยาลง นอกจากนี้ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยารักษาข้างต้น แพทย์อาจให้รับประทานยาริสเพอริโดน ซึ่งเป็นยาที่มักได้ผลดีในรายที่มักมีอาการขยิบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ขยับหน้า ยักไหล่หรือศีรษะ หรือกระแอมไอซ้ำ ๆ
จิตบำบัด ผู้ป่วยอาจเข้ารับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งต้องฝึกเผชิญหน้ากับความกลัวทีละน้อย เพื่อช่วยปรับการรับรู้และจัดการกับความวิตกกังวลได้อย่างถูกต้อง การบำบัดนี้ต้องใช้ทั้งเวลาในการรักษาและความพยายามของผู้ป่วย อีกทั้งอาจต้องเข้ารับการบำบัดร่วมกับสมาชิกในครอบครัวหรือคนอื่น ๆ ด้วย โดยการรักษาด้วยวิธีนี้อาจได้ผลดีแม้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช
นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย 2 วิธีข้างต้นด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กในสมองบริเวณที่พบความผิดปกติ โดยถือเป็นการรักษาแบบใหม่ที่ยังได้รับการศึกษาวิจัยไม่มากนัก
ภาวะแทรกซ้อนของโรคย้ำคิดย้ำทำ
OCD อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอาการหรือปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้
- เป็นผื่นแพ้สัมผัสจากการล้างมือบ่อยเกินไป
- ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ โดยมีปัญหาด้านการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม รวมทั้งด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม
- มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เพราะมีทัศนคติในเรื่องอาหารที่ต่างไปจากเดิม
- คิดว่าตนเองมีรูปลักษณ์บกพร่องหรือมีตำหนิ ทั้งที่ไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ
- ชอบเก็บสะสมสิ่งของรวมถึงขยะมูลฝอยที่อาจก่อโรคตามมาได้
- วิตกกังวลในหลาย ๆ เรื่องมากเกินควร โดยไม่สามารถควบคุมความรู้สึกนั้นได้
- ซึมเศร้า สิ้นหวัง หรือสูญเสียความสนใจในสิ่งที่ตนเองชอบ หากมีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
การป้องกันโรคย้ำคิดย้ำทำ
ยังไม่มีวิธีการป้องกัน OCD ที่ได้ผลอย่างแน่ชัด แต่การเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมเมื่อพบว่าตนเองมีอาการย้ำคิดย้ำทำก็อาจช่วยลดความรุนแรงของโรค และอาจช่วยลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอาการของโรคแย่ลง ผู้ป่วย OCD ควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น ทำงานประจำ ใช้เวลาสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง รวมทั้งผ่อนคลายความเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ เล่นโยคะ เป็นต้น
- เรียนรู้วิธีจัดการและรับมือกับอาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้น โดยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือเข้ากลุ่มบำบัดเพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดใช้ยาเองเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาหรืออาหารเสริมชนิดอื่น ๆ
- ไปพบแพทย์ทันทีหากไม่สามารถรับมือกับอาการย้ำคิดย้ำทำได้อีกต่อไป