PDA (Patent Ductus Arteriosus)

ความหมาย PDA (Patent Ductus Arteriosus)

PDA (Patent Ductus Arteriosus) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจเกิน คือภาวะการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดหัวใจดักตัสอาร์เตอริโอซัส (Ductus Arteriosus) ปิดไม่สนิทหลังจากทารกเกิด ทำให้ทารกที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีเลือดถูกส่งไปที่ปอดมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยโรคนี้มักพบบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

ระดับความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดที่เปิดอยู่ ในกรณีผู้ป่วยมีหลอดเลือดเปิดอยู่ไม่กว้างมาก ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและอาจไม่จำเป็นจะต้องรับการรักษา เพราะรูดังกล่าวอาจหดเล็กลงและปิดเองภายใน 1 ปี

PDA

อาการของ PDA

โรคหลอดเลือดหัวใจเกินสามารถเกิดได้กับทั้งทารกที่คลอดก่อนกำหนดและคลอดตามกำหนด โดยอาการจะแตกต่างกันตามขนาดรูของหลอดเลือดที่เปิดอยู่ ในกรณีที่รูหลอดเลือดของทารกที่เปิดอยู่มีขนาดเล็กอาจไม่แสดงสัญญาณหรืออาการ และอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่หากทารกมีรูหลอดเลือดเปิดอยู่เป็นรูขนาดใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและปอด ซึ่งทารกอาจมีอาการ ดังนี้

  • หายใจแรงและเร็ว หรือหายใจสั้น
  • หายใจลำบากเรื้อรัง
  • รับประทานอาหารได้น้อย และมักจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
  • หัวใจเต้นอย่างหนักและเร็ว ชีพจรเต้นแรงกว่าปกติ
  • เหงื่อออกขณะร้องไห้หรือรับประทานอาหาร

สาเหตุของ PDA

PDA เป็นโรคจัดอยู่ในกลุ่มโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด โดยเป็นผลมาจากพัฒนาการขณะสร้างหัวใจของตัวอ่อนภายในครรภ์ผิดปกติ ซึ่งหลอดเลือดดักตัสอาร์เตอริโอซัสเป็นหลอดเลือดเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายและขวา ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดของทารกในครรภ์ไหลเวียนได้ดี โดยปกติแล้วหลอดเลือดดังกล่าวจะตีบตัวและปิดลงได้เองภายในไม่กี่วันแรกหลังทารกคลอด แต่ในผู้ป่วย PDA จะพบว่าหลอดเลือดดังกล่าวยังคงเปิดและทำงานเหมือนตอนทารกยังอยู่ในครรภ์ 

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิด PDA ได้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าปัจจัยทางพันธุกรรมอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรค และมักพบผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
  • มารดาเป็นโรคหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
  • มีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • ทารกที่มีโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
  • ทารกเกิดในความสูงที่มากกว่า 3,048 เมตรจากระดับน้ำทะเล
  • มีโอกาสเกิดในทารกเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

การวินิจฉัย PDA

แพทย์จะวินิจฉัยจากการสังเกตระดับการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยการใช้หูฟังทางการแพทย์ (Stethoscope) ในการฟังเสียงเต้นของหัวใจ ซึ่งทารกที่มีเสียงการเต้นของหัวใจในลักษณะเป็นเสียงฟู่ (Mur-Mur) มักเป็นอาการที่บ่งบอกถึง PDA ในกรณีที่พบความผิดปกติลักษณะดังกล่าวหรือคาดว่าทารกอาจมีความเสี่ยงต่อโรคในกลุ่มโรคหัวใจพิการ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังนี้

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiogram) หรือการทำเอ็กโคหัวใจ เป็นการสร้างภาพจำลองของหัวใจและหลอดเลือดให้แพทย์สามารถเห็นได้ทันที ซึ่งเครื่องมือนี้จะทำให้แพทย์สามารถเห็นถึงขนาดรูของหลอดเลือด ปริมาณเลือดที่ไหลผ่าน และยังสามารถตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ ของหัวใจ
  • การตรวจเอกซเรย์ทรวงอกจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินและวินิจฉัยอาการได้จากภาพถ่ายเอกซเรย์ที่แสดงภาพความผิดปกติของปอดและหัวใจ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากภาวะหัวใจพิการได้เช่นกัน
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) โดยเครื่องตรวจนี้จะบันทึกการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยจังหวะการเต้นและตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ

 การรักษา PDA

การรักษาโรคนี้จะขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้ารับการรักษาและความรุนแรงของโรค โดยสามารถแบ่งออกเป็นวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การเฝ้าระวังอาการ 

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่รูหลอดเลือดจะปิดตามธรรมชาติ แพทย์จะเฝ้าดูอาการเพื่อให้มั่นใจว่ารูหลอดเลือดหัวใจของทารกนั้นปิดเรียบร้อยดีแล้ว เช่นเดียวกับกรณีที่เด็กคลอดตามกำหนด แต่ยังพบว่าหลอดเลือดเปิดเป็นรูขนาดเล็ก แพทย์จะเฝ้าระวังและสังเกตอาการเช่นกันในช่วง 2-3 เดือนแรก เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวมักไม่ส่งผลให้ปอดและหัวใจทำงานหนัก รวมถึงมักไม่พบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แต่หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจหรือมีปัญหาการหายใจ ควรรีบนำผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

การใช้ยา

หากเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด แพทย์จะจ่ายยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs : NSAIDs) อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยาอินโดเมทาซิน ซึ่งอาจช่วยให้รูหลอดเลือดปิด เพราะยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ต่อสารเคมีในร่างกาย เพื่อช่วยให้รูหลอดเลือดปิดตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์นี้จะไม่สามารถช่วยให้รูหลอดเลือดหัวใจปิดในทารกที่คลอดตามกำหนด เด็ก และผู้ใหญ่ได้

การผ่าตัดเพื่อปิดรูหลอดเลือด

ในกรณีที่การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล มีอาการรุนแรงหรืออาการอื่น ๆ แทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจได้รับการผ่าตัดเพื่อปิดรูหลอดเลือด โดยศัลยแพทย์จะผ่าเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณกระดูกซี่โครงทางซ้าย เพื่อทำการผ่าตัดปิดรูหลอดเลือด ซึ่งหลังการผ่าตัดจะต้องนอนพักในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการระยะหนึ่ง โดยทั่วไปเด็กจะใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายอย่างสมบูรณ์หลังการผ่าตัดหัวใจประมาณ 1-2 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่มีอาการของโรค PDA และส่งผลไปสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดปิดรูหลอดเลือดด้วยเช่นกัน สำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เสียงแหบ ตกเลือด ติดเชื้อ หรือกระบังลมเป็นอัมพาตได้

การสวนหัวใจ (Catheter Procedures) 

แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดบริเวณขาหนีบและแยงขึ้นไปที่หัวใจ และทำการอุดรูหลอดเลือดด้วยท่อขดหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็กเพื่อปิดรูหลอดเลือด แต่วิธีการรักษาดังกล่าวเหมาะสำหรับทารกที่คลอดตามกำหนด เด็ก และผู้ใหญ่ทั่วไป ในกรณีของทารกที่คลอดก่อนกำหนด แพทย์จะแนะนำให้สังเกตอาการจนกว่าจะมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นก่อนแล้วจึงจะพิจารณาให้รักษาด้วยการสวนหัวใจ

ถึงแม้ว่าผู้ที่เป็นโรคนี้จะได้รับการรักษาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ควรจะเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอยู่เสมอ เนื่องจากโรคนี้อาจมีอาการแทรกซ้อนได้ในทุกช่วงวัย รวมไปถึงวางแผนการดูแลสุขภาพร่วมกันกับแพทย์เพื่อป้องกันอาการผิดปกติต่าง ๆ

ภาวะแทรกซ้อน PDA

หากผู้ป่วย PDA ไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Endocarditis) ภาวะหัวใจวาย ภาวะความดันปอดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเกินที่ต้องการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาและวางแผนการมีบุตรร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพราะอาจเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิตขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง เป็นต้น

การป้องกันภาวะ PDA

โรคหลอดเลือดหัวใจเกินยังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันทารก คือการดูแลครรภ์ขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ควรเข้ารับคำปรึกษาและวางแผนการตั้งครรภ์กับแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมหรือโรคหัวใจ 
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและวิตามินเสริมกรดโฟลิค รวมถึงปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยาขณะตั้งครรภ์ 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้บุหรี่หรือยาเสพติด การแช่น้ำร้อนหรือการทำซาวน่า
  • ป้องกันความเจ็บป่วยด้วยการฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ และควรตรวจเช็คให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายเป็นวัคซีนชนิดที่ไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในครรภ์

หากมารดาป่วยเป็นโรคเบาหวานต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำตาลและจัดการภาวะต่าง ๆ ทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์