Phenylephrine (ฟีนิลเอฟรีน)
Phenylephrine (ฟีนิลเอฟรีน) เป็นยาลดอาการบวมของหลอดเลือดภายในโพรงจมูก ใช้รักษาอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก ลดอาการบวมของท่อระบายของเหลวจากหูชั้นใน นอกจากนี้ อาจใช้รักษาอาการอื่น ๆ เช่น เพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยภาวะความดันต่ำ ใช้เป็นยาขยายรูม่านตา รักษาริดสีดวงทวาร และภาวะหัวใจเต้นเร็วบางชนิดด้วย
เกี่ยวกับยา Phenylephrine
กลุ่มยา | ยาบีบหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดหดตัว |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ลดอาการบวมของหลอดเลือดภายในโพรงจมูก |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาใช้เฉพาะที่ ยาใช้ภายนอก ยาเหน็บทวารหนัก และยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Phenylephrine
- ห้ามใช้ยานี้หากใช้ยาในกลุ่มเอ็มเอโอไอในช่วง 14 วันที่ผ่านมา รวมถึงใช้ยาบางชนิดอยู่ เช่น ยาเมทิลีนบลู ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด ยาฟีเนลซีน ยาเซเลกิลีน หรือยาทรานิลซัยโปรมีน เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่อันตรายได้เมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดนี้
- หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ส่วนผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกได้
- ห้ามใช้ยากับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนให้เด็กเล็กรับประทานยาชนิดนี้ ยาแก้ไอ หรือยาแก้หวัดใด ๆ เพราะการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องหรือใช้ผิดจุดประสงค์อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- ไม่ควรใช้ยานี้หากมีอาการแพ้ยา Phenylephrine หรือยาบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดอื่น ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าหากต้องรับการผ่าตัดว่ากำลังใช้ยา Phenylephrine เพราะอาจต้องหยุดใช้ยาสักระยะหนึ่งก่อนการผ่าตัด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวใด ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ หรือโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง
- ควรไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาไปแล้ว 7 วัน หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง ปวดศีรษะ หรือไอ
- ยา Phenylephrine รวมถึงยาบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดอื่น ๆ อาจมีส่วนผสมของยาหลายชนิด ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยา และอ่านส่วนผสมที่ระบุบนฉลากของยาให้ชัดเจน เพราะหากรับประทานยาบางชนิดร่วมกัน อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด
ปริมาณการใช้ยา Phenylephrine
Phenylephrine มีปริมาณการใช้ยาแตกต่างกันตามอายุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียด ดังนี้
อาการคัดจมูก
ยาชนิดหยอดหรือพ่นจมูก
- ผู้ใหญ่ ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.25-1 เปอร์เซ็นต์ หยอดหรือพ่นจมูกทั้ง 2 ข้าง ทุก 4 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 2-6 ปี ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.125-0.16 เปอร์เซ็นต์ หยอดจมูกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 2-3 หยด ทุก 4 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6-12 ปี ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.25 เปอร์เซ็นต์ หยอดจมูกข้างละ 2-3 หยด หรือพ่นจมูก 1-2 ครั้ง ในจมูกทั้ง 2 ข้าง ทุก 4 ชั่วโมง
ยาชนิดรับประทาน
- ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 12 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือรับประทานยาในรูปแบบไฮโดรคลอไรด์ปริมาณ 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกินวันละ 60 มิลลิกรัม
- เด็กอายุ 2-6 ปี รับประทานยาในรูปแบบเกลือแทนเนตปริมาณ 1.87-3.75 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานยาในรูปแบบไฮโดรคลอไรด์ปริมาณ 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือรับประทานยาในรูปแบบเกลือแทนเนตปริมาณ 3.75-7.5 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รับประทานยาในรูปแบบไฮโดรคลอไรด์ปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือรับประทานยาในรูปแบบเกลือแทนเนตปริมาณ 7.5-15 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
ภาวะหัวใจเต้นเร็ว
- ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกให้ฉีดยารูปแบบไฮโดรคลอไรด์ที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 500 ไมโครกรัม จากนั้นหากมีความจำเป็นสามารถปรับเพิ่มปริมาณยาได้ 100-200 ไมโครกรัม โดยให้ยาสูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัม
เยื่อบุตาบวม
- ผู้ใหญ่ หยดยารูปแบบไฮโดรคลอไรด์ที่มีความเข้มข้น 0.12 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1-2 หยด ลงในดวงตาข้างที่มีอาการ สูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง และห้ามใช้ยาอย่างต่อเนื่องเกิน 72 ชั่วโมง
ขยายรูม่านตา
- ผู้ใหญ่ หยดยารูปแบบไฮโดรคลอไรด์ที่มีความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1 หยด และสามารถหยดซ้ำได้หลังจากหยดแรก 10-60 นาที
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หยดยาที่มีความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1 หยด ส่วนเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป สามารถหยดยาซ้ำได้หลังจากหยดแรก 10-60 นาที
ภาวะความดันต่ำ
- ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกใช้ยารูปแบบไฮโดรคลอไรด์ที่มีความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ปริมาณ 2-5 มิลลิกรัม หรือใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ปริมาณ 100-500 ไมโครกรัม สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันต่ำมาก ให้ใช้ยา 10 มิลลิกรัม ในสารละลาย 500 มิลลิกรัมที่มีกลูโคสความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ หรือโซเดียมคลอไรด์ที่มีความเข้มข้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ยาหยดเข้าทางหลอดเลือดดำในอัตรา 180 ไมโครกรัม/นาที หากผู้ป่วยมีการตอบสนอง สามารถปรับลดเป็นอัตรา 30-60 ไมโครกรัม/นาที
- เด็กที่มีความดันต่ำเฉียบพลันอายุ 1-12 ปี ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ปริมาณ 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 1-2 ชั่วโมง โดยให้ยาได้สูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม หรือฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ปริมาณ 5-20 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- เด็กที่มีความดันต่ำเฉียบพลันอายุ 12-18 ปี ในเบื้องต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ปริมาณ 2-5 มิลลิกรัม แล้วตามด้วยยาปริมาณ 1-10 มิลลิกรัม หรือฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ปริมาณ 100-500 ไมโครกรัม หากมีความจำเป็นสามารถให้ยาซ้ำได้หลังจากให้ยาครั้งก่อน 15 นาที
- เด็กที่มีความดันต่ำเฉียบพลันอายุ 1-16 ปี ให้ยาหยดเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ปริมาณ 100-500 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
- เด็กที่มีความดันต่ำเฉียบพลันอายุ 16-18 ปี หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ในอัตรา 180 ไมโครกรัม/นาที หากผู้ป่วยมีการตอบสนอง สามารถปรับลดเป็นอัตรา 30-60 ไมโครกรัม/นาที ได้
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ใช้ยารูปแบบครีมหรือขี้ผึ้งทาในบริเวณที่มีอาการ สามารถใช้ทาได้ทั้งภายนอกและภายใน และใช้ยาเหน็บทวารหนัก โดยใช้ได้สูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
การใช้ยา Phenylephrine
- ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ใช้ยานานเกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
- ควรใช้ยาแต่ละชนิดให้ถูกต้อง เช่น ยาเม็ดชนิดเคี้ยวให้เคี้ยวยาก่อนกลืน ยาน้ำให้เขย่าขวดก่อนรับประทานทุกครั้ง และใช้อุปกรณ์ตวงยาที่แนบมากับตัวยา เพื่อให้ได้ปริมาณยาที่ไม่คลาดเคลื่อน
- หากลืมรับประทานยาตามกำหนด เมื่อนึกขึ้นได้ให้รับประทานยาทันที แต่หากเป็นเวลาใกล้กับยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาและปริมาณปกติ ไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทนครั้งที่ขาดไป
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นมือเด็ก ห่างจากความร้อนและความชื้น ไม่ให้ยาสัมผัสแสงโดยตรง ปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา และไม่รับประทานยาที่หมดอายุ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Phenylephrine
ยา Phenylephrine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย รู้สึกร้อน ชา หรือแดงที่ผิวหนัง รู้สึกกระสับกระส่ายโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก เป็นต้น
นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการรุนแรงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- หัวใจเต้นแรง เต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ
- วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือรู้สึกวิตกกังวล
- เกิดแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ มีไข้ หนาวสั่น เป็นหวัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อาการของความดันโลหิตสูงที่เป็นอันตราย เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว หูอื้อ รู้สึกสับสนหรือวิตกกังวล เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก ชัก เป็นต้น