โรคกลัว (Phobia)

ความหมาย โรคกลัว (Phobia)

Phobia (โรคกลัว) เป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวสิ่งของหรือสถานการณ์บางอย่างเกินกว่าเหตุหรือกลัวอย่างไม่มีเหตุผล อาการของ Phobia นั้นรุนแรงกว่าอาการวิตกกังวลทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยจะเผชิญภาวะนี้เป็นระยะเวลานาน และมักแสดงปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายและจิตใจร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก หายใจถี่ หากอาการกลัวรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

Phobia

Phobia เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ โรคกลัวแบบจำเพาะ และโรคกลัวแบบซับซ้อน ดังนี้

โรคกลัวแบบจำเพาะ คือความรู้สึกกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ รวมถึงสถานการณ์หรือกิจกรรมบางอย่าง มักเกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น อาการอาจค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อโตขึ้น เช่น โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวเครื่องบิน โรคกลัวความสูง โรคกลัวเลือด โรคกลัวการแสดงออก โรคกลัวตัวเองไม่ดีพอ เป็นต้น

โรคกลัวแบบซับซ้อน มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่และเป็นผลมาจากความรู้สึกหวาดกลัวสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างที่ฝังใจ โรคกลัวในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • โรคกลัวที่ชุมชน เป็นความรู้สึกกลัวการอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือบางรายอาจมีความวิตกกังวลหากต้องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่หลบหนีได้ลำบากหรือไม่มีคนช่วยเมื่อเกิดอาการตื่นกลัว
  • โรคกลัวการเข้าสังคม ผู้ป่วยมักกลัวการพูดต่อหน้าบุคคลอื่น เนื่องจากเป็นกังวลว่าอาจทำตัวน่าอายในที่สาธารณะ ผูที่มีอาการรุนแรงอาจไม่กล้าออกไปเผชิญสังคมภายนอก เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือหลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง

อาการของโรคกลัว

อาการของโรค Phobia อาจเกิดขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรงหรือเพียงจินตนาการถึงสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น โดยผู้ป่วยมักตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้กลัว ดังนี้

  • เกิดอาการตื่นกลัว ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ วิงเวียนศรีษะ พูดติดขัด ปากแห้ง คลื่นไส้ เหงื่อออก มือเท้าสั่น ความดันโลหิตสูง หมดสติ วิตกกังวลว่าตนเองจะตาย เป็นต้น
  • ควบคุมตนเองไม่ได้ แม้รู้ตัวว่าเป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล
  • รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  • พยายามทำทุกทางเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  • เด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียว ร้องไห้งอแง ไม่ยอมอยู่ห่างพ่อแม่ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว

หากความรู้สึกกลัวส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ เช่น ไม่กล้าออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

สาเหตุของโรคกลัว

Phobia แบ่งชนิดตามสิ่งที่แต่ละคนรู้สึกกลัว เช่น โรคกลัวความสูง โรคกลัวเข็มฉีดยา โรคกลัวเลือด โรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการกลัวเหล่านี้ แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • การรับฟังหรือประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกกลัว เช่น ผู้ที่เสพข่าวเครื่องบินตกอาจเกิดความรู้สึกกลัวจนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
  • การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนใกล้ชิดและลักษณะการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
  • กระบวนการทำงานของสมองที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ โรค Phobia มีแนวโน้มเกิดขึ้นในเด็ก ผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว หรือผู้ที่ต่อต้านสังคม มากกว่าบุคคลช่วงวัยอื่นหรือผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง

การวินิจฉัยโรคกลัว

ในขั้นแรกแพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นและซักประวัติทางการแพทย์ เช่น ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการเกิดโรค Phobia หรือโรคชนิดอื่น นอกจากนั้น แพทย์อาจนำหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา มาใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรคควบคู่กับวิธีอื่น ๆ ด้วย

การรักษาโรคกลัว

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวได้และอาการป่วยไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ในกรณีที่ต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันเพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีที่สุด ดังนี้

  • จิตบำบัด คือการปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อเรียนรู้วิธีรับมือกับความกลัว แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาโดยใช้การเผชิญกับความกลัวหรือการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ดังนี้
  • การเผชิญกับความกลัว อาจช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวได้ด้วยตนเอง โดยให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ และค่อย ๆ ปรับระดับความใกล้ชิดให้มากขึ้น เช่น แพทย์จะให้ผู้ที่กลัวการขึ้นลิฟต์จินตนาการถึงการขึ้นลิฟต์ ดูรูปภาพของลิฟต์ ลองเข้าใกล้ลิฟต์ จากนั้นจึงให้ลองใช้งานลิฟต์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะจำเป็นต้องมีลำดับขั้นของการบำบัดที่ถูกต้องและเหมาะสม หากลองทำเองที่บ้านอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • การบำบัดพฤติกรรมและการรู้คิด คือการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับความกลัวอย่างเหมาะสม โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะชี้แนะให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวได้ด้วยตนเอง
  • การรับประทานยา บางครั้งแพทย์อาจใช้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลหรือตื่นกลัวก่อนเริ่มรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดหรือเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่กลัว ยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ ได้แก่
  • ยาต้านอาการซึมเศร้า มีสรรพคุณช่วยลดความวิตกกังวล ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะการหยุดยาทันทีอาจทำให้เกิดอาการถอนยา ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • ยาคลายเครียด เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่แพทย์อาจนำมาใช้ช่วยลดอาการวิตกกังวล เช่น เบนโซไดอะซีปีน ไดอะซีแพม เป็นต้น ยานี้ควรใช้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด เพราะการใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ และการหยุดรับประทานยาทันทีอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องการหยุดใช้ยา ส่วนผู้ที่มีประวัติติดสุราหรือติดยาเสพติดไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
  • เบต้าบล็อกเกอร์ เป็นกลุ่มยาลดความดันโลหิต แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดนี้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากความกลัวหรือวิตกกังวล เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาการสั่นตามแขนและขา เสียงสั่น เป็นต้น

นอกจากนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยรับมือกับความวิตกกังวลและความกลัวได้ เช่น การฝึกสมาธิ การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลัว

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัวจนไม่กล้าออกไปเผชิญสังคมภายนอกอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับบุคคลรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก ส่วนเด็กที่เป็นโรคนี้อาจขาดทักษะการเข้าสังคม ทักษะทางวิชาการ และเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วย Phobia ยังมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย บางรายอาจเกิดความเครียดจากการเผชิญกับอาการป่วยและเลือกใช้วิธีจัดการกับความเครียดอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกฮอล์ เป็นต้น

การป้องกันโรคกลัว

ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันโรค Phobia ที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ ทว่าการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่มีบุตรควรปรึกษาจิตแพทย์ถึงวิธีรับมือกับความกลัวและการแสดงออกทางพฤติกรรมเมื่อรู้สึกกลัวอย่างเหมาะสม เนื่องจากพฤติกรรมของพ่อแม่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กเลียนแบบและเกิดโรค Phobia ตามไปด้วย