PM 2.5 หรือที่เรียกกันว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาด้านมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพร่างกายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ โดยในระยะสั้น ๆ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก คอหรือปอด ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่อิ่ม แต่หากได้รับปริมาณมากอาจกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
โดยมีการศึกษาระบุว่าความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ร่างกายไวต่อการเกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การสัมผัสกับมลภาวะทางอากาศอย่าง PM 2.5 ที่ต้องเจออยู่ทุกวันจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
PM 2.5 ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างไร
PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ประกอบไปด้วยสสารหลายชนิดแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งฝุ่นจิ๋วนี้มีขนาดเล็กมากจนสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการหายใจเข้าออกโดยที่ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ จึงสามารถแทรกซึมเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ในระบบทางเดินหาย อย่างเช่นปอดหรือระบบไหลเวียนเลือดได้
หากเด็กได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการของปอด อาทิ อัตราการพัฒนาของปอดลดลงอย่างต่อเนื่อง ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือปอดอาจทำงานผิดปกติในระยะยาว และการศึกษายังพบว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคมะเร็งปอด ซึ่งอาจทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับผู้สูงอายุที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) นอกจากนี้ PM 2.5 อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคหืด โรคทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคทางระบบทางเดินหายใจและกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
อีกทั้งการได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายในระยะยาว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสมองเสื่อม และการศึกษาพบว่า PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลล์อาจเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน
ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกล PM 2.5
ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นประจำควรสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้อยู่เสมอ และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางระบบหายใจ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งให้ได้มากที่สุด หรือสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดหายใจรับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย
นอกจากนี้ ควรสังเกตปริมาณของ PM 2.5 ในอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพราะปริมาณฝุ่นในแต่ละพื้นที่มักผันผวนอยู่ตลอดทั้งวัน แต่ปริมาณของฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มสูงขึ้นในตอนเช้าและช่วงเย็น ซึ่งเราสามารถสังเกตประมาณของ PM 2.5 ผ่านทางแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่รายงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแต่ละวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่สภาพอากาศเป็นมลพิษสูง