Reye’s Syndrome (กลุ่มอาการราย) เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและตับ ผู้ป่วยมักอาเจียนอย่างต่อเนื่อง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว หรือหมดสติ บางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สาเหตุสำคัญมักเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส หรือการใช้ยาแอสไพรินเพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัส เป็นภาวะเจ็บป่วยที่พบได้น้อยมากและเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่พบในเด็กไปจนถึงช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี
อาการของกลุ่มอาการราย
โดยปกติแล้วอาการของ Reye’s Syndrome จะปรากฏภายใน 3-5 วันหลังติดเชื้อไวรัส โดยมีอาการหลัก ๆ ดังนี้
- อาเจียนบ่อย
- กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- สับสน มึนงง
- มีปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน และการพูด
- ในเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี จะมีอาการหายใจถี่และถ่ายเหลว
ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจอาเจียนอย่างต่อเนื่อง หมดสติ ชักเกร็ง แขนขาอ่อนแรง หรืออาจถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ นอกจากนี้ ภาวะ Reye’s Syndrome อาจทำให้การทำงานของตับมีปัญหา จนของเสียในเลือดมีปริมาณสูงขึ้นเพราะตับไม่สามารถกรองของเสียได้ จึงอาจเป็นอันตรายต่อส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงอาจเพิ่มแรงดันสมอง หรือนำไปสู่อาการสมองบวมและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการป่วยโดยเฉพาะอาการที่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์
สาเหตุของกลุ่มอาการราย
แม้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่าผู้ป่วย Reye’s Syndrome มักมีอาการหลังใช้ยาแอสไพรินในการบรรเทาการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคอีสุกอีใส โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เป็นต้น
ส่วนสาเหตุหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับ Reye’s Syndrome ได้แก่
- ร่างกายมีความบกพร่องในการสังเคราะห์กรดไขมัน
- สัมผัสกับสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือทินเนอร์ เป็นต้น
การวินิจฉัยกลุ่มอาการราย
ภาวะนี้ยังไม่มีวิธีตรวจหาโรคแบบเฉพาะเจาะจง แต่เบื้องต้นแพทย์อาจตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อแบคทีเรีย ตรวจระดับความเป็นพิษในเลือด ตรวจการทำงานของตับ รวมทั้งตรวจหาความบกพร่องของการสังเคราะห์กรดไขมันหรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญอาหารด้วย
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- ตรวจน้ำไขสันหลัง เป็นการเจาะเอาน้ำจากข้อกระดูกสันหลังออกมา เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณแบคทีเรียหรือการติดเชื้อในสมอง อีกทั้งยังสามารถแยกโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันด้วย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เป็นการสแกนเพื่อตรวจดูลักษณะภายในว่าสมองยังปกติดีหรือไม่ มีการบวมหรือผิดปกติอย่างไร
- ตรวจชิ้นเนื้อจากผิวหนัง แพทย์จะตัดตัวอย่างผิวหนังปริมาณเล็กน้อยเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยหาความบกพร่องด้านการสังเคราะห์กรดไขมัน และตรวจหาโรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ
- ตรวจชิ้นเนื้อจากตับ โดยการเจาะผ่านช่องท้องนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากตับไปส่งตรวจ เพื่อหาอาการผิดปกติที่สอดคล้องกับ Reye’s Syndrome
การรักษากลุ่มอาการราย
แพทย์จะรักษา Reye’s Syndrome ตามอาการที่เกิดขึ้นเป็นหลัก เพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นหรือไปกระทบกระเทือนถึงสมอง โดยอาจใช้หลายวิธีรวมกันและคอยดูแลอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เช่น
- ให้สารอาหารหรือเกลือแร่ผ่านทางหลอดเลือด เพื่อช่วยให้เลือดกลับสู่ภาวะสมดุล
- ให้วิตามินเค เกล็ดเลือด หรือพลาสมา เพื่อลดการเกิดเลือดออกในตับ
- ให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณน้ำในร่างกาย และลดการเกิดสมองบวม
- ใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่การทำงานของปอดมีปัญหา
- ให้ยาต้านชัก เพื่อป้องกันการชักในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
- เฝ้าดูการทำงานของหัวใจ ปอด และระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
- ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในขั้นรุนแรง อาจต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) เพราะเป็นอาการที่อันตราย ซึ่งสามารถกระทบกระเทือนต่อสมองและร้ายแรงถึงชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการราย
ผู้ป่วยภาวะ Reye’s Syndrome ส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติได้ แม้บางรายอาจมีอาการสมองเสียหายจากอาการบวม โดยในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจทำให้สมองเสียหายอย่างถาวรได้ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมาก นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างของ Reye’s Syndrome อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น มีปัญหาด้านการกลืนหรือการเคลื่อนไหว ความจำสั้น เป็นต้น
การป้องกันกลุ่มอาการราย
เนื่องจากยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า Reye’s Syndrome เกิดมาจากสาเหตุใด จึงอาจทำได้เพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสและไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในเด็กอายุ 2-16 ปี ยกเว้นแพทย์จะแนะนำ และอาจใช้ยาชนิดอื่นแทน เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น
- ก่อนใช้ยาควรสอบถามเภสัชกรและอ่านฉลากยาให้ครบถ้วนทุกครั้ง เพราะยาหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแอสไพริน เช่น กรดอะซีทิลซาลิซิลิก อะซีทิลซาลิไซเลต กรดซาลิซิลิก ซาลิไซเลต เกลือซาลิไซเลต เป็นต้น