ความหมาย Rhesus Disease
Rhesus Disease เป็นภาวะที่มารดาและทารกมีหมู่เลือด Rh (Rhesus) ไม่ตรงกัน หากหมู่เลือดของมารดาเป็น Rh- (Rh-negative หรือหมู่เลือดอาร์เอชลบ) แต่หมู่เลือดของทารกในครรภ์เป็น Rh+ (Rh-positive หรือหมู่เลือดอาร์เอชบวก) จะส่งผลให้เกิดภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือด (Rh Incompatibility)
อาร์เอช (Rh) คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง นำมาใช้ในการจำแนกระบบหมู่เลือดอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากทางพันธุกรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ หมู่เลือด Rh+ เป็นหมู่เลือดที่พบในคนส่วนมาก และหมู่เลือด Rh- ที่พบได้น้อยกว่า
ภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือดในคนทั่วไปอาจไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากกรณีที่มารดามีหมู่เลือด Rh- ขณะที่ทารกในครรภ์มีหมู่เลือด Rh+ ร่างกายของมารดาจะตอบสนองต่อหมู่เลือด Rh+ ในลักษณะที่เป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกาย โดยจะสร้างแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานในเลือดขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งจะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกและอาจทำให้ทารกเป็นโรคโลหิตจางหรือดีซ่าน
ในการตั้งครรภ์ครั้งแรกของมารดาอาจเกิดอันตรายเพียงเล็กน้อยเพราะบุตรที่มีหมู่เลือด Rh+ มักคลอดออกมาก่อนการสร้างแอนติบอดีในร่างกายของมารดา แต่หลังจากนั้นร่างกายมารดาจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อเนื่องตลอดชีวิต ทำให้ในการตั้งครรภ์ครั้งที่สองแอนติบอดีในร่างกายมารดาถูกส่งผ่านไปทางรกและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
อาการของ Rhesus Disease
ภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือด Rh อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในทารกได้ตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงระยะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่อาการเหล่านี้จะบรรเทาลงหลังได้รับการรักษาภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือด
เมื่อแอนติบอดีในร่างกายมารดาทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของบุตร จะเกิดการสร้างบิลิรูบิน (Bilirubin) ขึ้นมา หากถูกสร้างมามากเกินไปอาจเป็นตัวบ่งบอกถึงการทำงานของตับที่มีปัญหา โดยทารกที่มีปริมาณบิลิรูบินสูงอาจมีอาการหลังคลอด ดังนี้
- โรคดีซ่าน (Jaundice) ส่งผลให้ทารกมีภาวะตัวเหลือง
- ภาวะเซื่องซึม (Lethargy)
- ภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย (Hypotonia)
สาเหตุของ Rhesus Disease
สาเหตุของภาวะนี้เกิดจากมารดามีหมู่เลือดเป็น Rh- แต่ทารกในครรภ์มีหมู่เลือดเป็น Rh+ เมื่อมารดามีอาการไวต่อเลือด Rh+ ทำให้ร่างกายมารดาจะสร้างแอนติบอดีเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและการติดเชื้อของร่างกาย โดยถูกสร้างขึ้นเมื่อมารดาตั้งครรภ์ครั้งแรก ร่างกายจะจดจำและคอยทำลายเซลล์เม็ดเลือดแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายหลังจากนั้น
อาการไวต่อเลือด Rh+ ของมารดานั้นเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วยปัจจัยดังนี้
- เซลล์เม็ดเลือดของทารกถูกส่งข้ามมาสู่เลือดของมารดา
- ร่างกายมารดาเกิดอาการไวต่อเลือดของทารกในระหว่างการคลอด
- เกิดภาวะเลือดออกขณะตั้งครรภ์
- การใช้วิธีการทางการแพทย์ เช่น การเจาะน้ำคร่ำหรือการตรวจโครโมโซม (CVS)
- มารดาได้รับบาดเจ็บที่บริเวณท้อง
- อาจเกิดหลังการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
- มารดาที่มีหมู่เลือด Rh- ได้รับเลือด Rh+ จากการเปลี่ยนถ่ายเลือดที่มีความผิดพลาด ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
เมื่อหญิงตั้งครรภ์มีอาการไวต่อเลือด Rh+ เกิดขึ้นและได้รับเลือด Rh+ ร่างกายมารดาจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาทันที ดังนั้น หากตั้งครรภ์บุตรที่มีเลือด Rh+ แอนติบอดีจะถูกส่งผ่านมายังรกของมารดา และก่อให้เกิด Rhesus Disease ขึ้นกับทารกในครรภ์ ซึ่งแอนติบอดีจะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของเด็กภายในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด
ภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือดมักจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อทารกในการตั้งครรภ์ครั้งแรก เนื่องจากทารกจะคลอดออกมาก่อนที่แอนติบอดีในร่างกายมารดาจะถูกสร้างในปริมาณมากเพียงพอ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายต่อทารกหลังจากการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปได้มากกว่า
การวินิจฉัย Rhesus Disease
การวินิจฉัย Rhesus Disease สามารถทำได้โดยวิธีการตรวจเลือดเป็นหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
การตรวจเลือดของมารดา
โดยปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจสุขภาพและตรวจเลือดระหว่างการตั้งครรภ์ การวินิจฉัย Rhesus Disease จึงมักวินิจฉัยได้จากผลการตรวจเลือด โดยคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคโลหิตจาง โรคหัดเยอรมัน การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงการระบุหมู่เลือดอาร์เอชของมารดาได้ หากพบว่ามีหมู่เลือด Rh- แพทย์อาจทำการตรวจคัดกรองและแยกหาแอนติบอดี้ในเลือด (Antibody Screen) เพิ่มเติม
หากตรวจพบแอนติบอดีในเลือด จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่เด็กในครรภ์จะได้รับผลกระทบจาก Rhesus Disease ทำให้ทั้งมารดาและบุตรต้องได้รับการเฝ้าติดตามอาการเป็นพิเศษและอาจได้รับการตรวจภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติม อย่างโลหิตจางหรือภาวะตัวเหลือง แต่ในกรณีที่ผลตรวจไม่พบแอนติบอดีในเลือด แพทย์จะให้นัดตรวจเลือดอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ และอาจฉีดยาต้านการสร้างแอนติเจน ดี (Anti-D Immunoglobulin) เพื่อช่วยลดการสร้างภูมิต้านทานของมารดาต่อเลือดของทารกในครรภ์
การตรวจเลือดของบิดา
หากผลการตรวจเลือดระบุว่ามารดามีหมู่เลือด Rh- แพทย์อาจให้บิดาได้รับการตรวจเลือดด้วย หากผลออกมาเป็น Rh- เหมือนกัน จะไม่มีโอกาสที่ทารกจะมีหมู่เลือด Rh+ ทำให้ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือด แต่ถ้าผลการตรวจเลือดของบิดาระบุว่าเป็น Rh+ หรือไม่สามารถทราบสถานะของหมู่เลือดอาร์เอชได้ แพทย์อาจใช้วิธีการเจาะน้ำคร่ำในมารดา โดยใช้เข็มเจาะลงไปบนผิวหนังและทำการดูดเอาน้ำคร่ำปริมาณเล็กน้อยจากถุงน้ำคร่ำเพื่อนำมาตรวจสอบหมู่เลือดอาร์เอชของทารก และอาจนำไปใช้ตรวจสอบระดับบิลิรูบินในเลือดได้อีกด้วย หากมีระดับบิลิรูบินสูง ทารกจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงทำลายตนเองก่อนอายุขัย (Hemolytic Anemia)
การตรวจเลือดของเด็กในครรภ์
การตรวจเลือดของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์ก็อาจทำให้ทราบหมู่เลือดอาร์เอชจากเด็กในครรภ์ไปด้วย เนื่องจากสามารถระบุดีเอ็นเอของเด็กได้ โดยจะตรวจได้ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 11-12 ของการตั้งครรภ์เนื่องจากให้ได้ผลการตรวจที่แน่ชัด และเป็นระยะเวลาเพียงพอก่อนที่ทารกในครรภ์จะได้รับความเสี่ยงจากแอนติบอดี
หากตรวจพบว่าทารกมีหมู่เลือด Rh+ หญิงตั้งครรภ์อาจต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อทำการรักษาได้ทันในกรณีที่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น และแพทย์อาจทำการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือนที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ แต่หากตรวจไม่พบการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีในร่างกาย หญิงตั้งครรภ์อาจต้องเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูว่าบุตรในครรภ์มีหมู่เลือด Rh+ หรือ Rh-
กรณีทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิด Rhesus Disease แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อดูภาวะแทรกซ้อนอย่างโลหิตจางที่อาจเกิดขึ้นกับทารกด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- การทำ Doppler Ultrasound อาจใช้แทนการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงภายในสมอง โดยใช้คลื่นเสียงตรวจหาความเร็วในการไหลเวียนเลือด หากพบว่าเลือดมีค่าความไหลเร็วสูง จะทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงทำลายตัวเองก่อนอายุขัยได้ เนื่องจากเป็นภาวะที่ทำให้หัวใจของทารกต้องสูบฉีดเลือดมากกว่าปกติ
- การตรวจเลือด (Fetal Blood Sampling) โดยเจาะเลือดทารกผ่านสายสะดือ ซึ่งหากพบว่าทารกในครรภ์มีภาวะโลหิตจาง อาจต้องได้รับการให้เลือดแก่เด็กในครรภ์ (Intrauterine Transfusion) ต่อไป
การตรวจเลือดของเด็กทารกแรกคลอด
การวินิจฉัย Rhesus Disease ในเด็กแรกเกิดจะใช้การตรวจเลือดผ่านทางสายสะดือเพื่อดูการส่งผ่านของแอนติบอดีในเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดโดยวิธีที่เรียกว่า Coombs Test เพื่อตรวจหาแอนติบอดีที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงภายในเลือด หากผลออกมาเป็นบวกอาจเป็นสัญญาณของภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือด
การรักษา Rhesus Disease
การรักษา Rhesus Disease ก่อนการคลอด เมื่อแพทย์ทราบถึงระดับแอนติบอดีในร่างกายมารดาจากผลการตรวจร่างกายของมารดา และรวมถึงผลการตรวจทารกในครรภ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว มักพบว่าจำนวนกว่าครึ่งมีอาการไม่ร้ายแรงและไม่ต้องรับการรักษามากนัก แต่ยังต้องติดตามอาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังอาการที่อาจรุนแรงขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามารดามีระดับแอนติบอดีสูง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการเร่งคลอด (Induction of Labor) ก่อนที่แอนติบอดีจากแม่จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์และทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
ส่วนการรักษา Rhesus Disease หลังการคลอดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น หากมีอาการขั้นรุนแรงอาจต้องเริ่มการรักษาตั้งแต่ก่อนการคลอด และในกรณีที่ทารกมีอาการแทรกซ้อนหลังการคลอด อย่างภาวะตัวเหลืองหรือโลหิตจาง แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาดังนี้
-
การรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototheraphy)
เป็นการใช้ไฟชนิดพิเศษที่ให้แสงสีฟ้าผ่านหลอดไฟฮาโลเจนหรือฟลูออเรสเซนต์ส่องไปที่ตัวเด็ก โดยแพทย์จะปิดตาเด็กก่อนการส่องไฟ วิธีการนี้จะทำให้ผิวหนังดูดซับแสงไฟทำให้ตับของทารกสามารถขับบิลิรูบินออกได้ง่ายขึ้น ในระหว่างการส่องไฟแพทย์จะให้ของเหลวผ่านทางเส้นเลือด เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ซึ่งในบางกรณี วิธีการส่องไฟอาจช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนถ่ายเลือดได้
-
การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood Transfusion)
ในกรณีที่ระดับบิลิรูบินในเลือดมีสูง ทารกจะถูกเปลี่ยนถ่ายเลือดบางส่วนกับผู้ให้เลือดที่มีหมู่เลือดเดียวกันผ่านท่อที่สอดเข้าไปในหลอดเลือด ในบางครั้งอาจเปลี่ยนถ่ายเลือดเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อเพิ่มปริมาณจากที่มีอยู่เดิม วิธีการนี้จะช่วยกำจัดบิลิรูบินที่มีสูงในเลือดของทารก และยังช่วยกำจัดแอนติบอดีที่เป็นสาเหตุของ Rhesus Disease อีกด้วย อย่างไรก็ตาม โรคอาจเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ การเปลี่ยนถ่ายเลือดก่อนการคลอด (Intrauterine Foetal Blood Transfusion) จึงอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น
-
การฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าสู่เส้นเลือด (Intravenous Immunoglobulin)
แพทย์จะฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าสู่เส้นเลือดดำของทารก ในกรณีที่อัตราบิลิรูบินในเลือดของทารกเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอทุกชั่วโมงอาจใช้วิธีการนี้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีส่องไฟ การฉีดอิมมิโนโกลบูลินเข้าสู่เส้นเลือดจะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย ระดับของบิลิรูบินในเลือดของทารกจึงไม่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนถ่ายเลือด
ภาวะแทรกซ้อนของ Rhesus Disease
Rhesus Disease อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งทารกในครรภ์และเด็กแรกเกิด ดังนี้
ทารกในครรภ์
หากมีอาการของโรคโลหิตจางจาก Rhesus Disease อาจทำให้ทารกในครรภ์หัวใจล้มเหลว ทารกในครรภ์บวมน้ำ (Foetal Hydrops) หรือตายคลอด (Stillbirth)
เด็กแรกเกิด
ในกรณีที่ร่างกายของเด็กสร้างบิลิรูบินมากเกินไป หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม การสะสมของบิลิรูบินในสมองอาจนำไปสู่อาการทางสมองที่เรียกว่าคอร์นิกเตอรัส (Kernicterus) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ สูญเสียได้ยินหรือการมองเห็น สมองถูกทำลาย และอาจถึงแก่ชีวิตได้
การป้องกัน Rhesus Disease
การตรวจเลือดก่อนการตั้งครรภ์หรือในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจจะช่วยป้องกัน Rhesus Disease ได้ หากพบว่ามารดามีหมู่เลือด Rh- แพทย์อาจใช้วิธีการฉีดยาต้านแอนติเจน ดี (Anti-D Immunoglobulin) ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไวต่อการได้รับเลือด Rh+ โดยยาจะจับกับแอนติเจน Rh+ ที่อาจเข้าสู่เลือดของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้กระบวนการกระตุ้นถูกยับยั้ง เลือดของมารดาจึงไม่ผลิตแอนติบอดีขึ้นมา
หากมารดามีหมู่เลือด Rh- และไม่มีอาการไวต่อแอนติเจน ดี แพทย์จะฉีดยาต้านการสร้างแอนติบอดีในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือบางกรณีอาจมีการให้ยาต้านการสร้างแอนติบอดีภายใน 72 ชั่วโมงหลังการคลอด โดยจะเรียกวิธีดังกล่าวว่า Routine Antenatal Anti-D Prophylaxis (RAADP) ซึ่งตัวยาจะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือด Rh+ จากบุตรที่อาจถูกส่งข้ามมาสู่ระบบเลือดของมารดาระหว่างการคลอด และลดโอกาสการสร้างแอนติบอดีขึ้นในร่างกาย รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิด Rhesus Disease ในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป