ความหมาย Rickets
Rickets หรือโรคกระดูกอ่อนในเด็ก คือภาวะที่เนื้อกระดูกอ่อนและโค้งงอ เนื่องจากร่างกายของเด็กมีความบกพร่องในด้านพัฒนาการของกระดูก ส่วนมากมักเกิดจากการขาดหรือได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสลดลง ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของกระดูก ทำให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนและเปราะบาง ขัดขวางการเจริญเติบโต และอาจส่งผลให้กระดูกผิดรูป
โรคกระดูกอ่อนชนิดนี้พบมากในเด็กอายุ 6-36 เดือน เนื่องจากเป็นวัยที่ร่างกายกำลังพัฒนากระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกระดูกอย่างเรื้อรังหรือถาวร
อาการของ Rickets
เด็กที่ป่วยเป็นโรค Rickets จะเจริญเติบโตช้า ตัวเตี้ย เคลื่อนไหวช้า มีอาการเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกรานและขา มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เหน็บชาบริเวณกล้ามเนื้อ รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันขึ้นช้า มีรูบริเวณชั้นเคลือบฟัน ฟันเป็นหนอง โครงสร้างฟันเกิดความเสียหาย มีฟันผุมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีการเติบโตของกระดูกผิดปกติหรือผิดรูป เช่น กระดูกช่วงอกนูน พบปุ่มกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังคด กระดูกเชิงกรานผิดรูป ขาโก่ง หรือเข่าชนกัน เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่แผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth Plate) ยังเปิดอยู่ ซึ่งปกติส่วนนี้จะกลายเป็นกระดูกแข็งเมื่อเด็กเจริญเติบโตเต็มที่ แต่เมื่อกระดูกส่วนที่อ่อนโค้งงอไปกระทบกับการทำงานของแผ่นการเจริญเติบโต จึงอาจมีผลต่อการเติบโตของกระดูก
สาเหตุของ Rickets
สาเหตุสำคัญของโรค Rickets มาจากการขาดวิตามินดี หากเด็กไม่ได้รับวิตามินดังกล่าวตามปริมาณที่ร่างกายต้องการจะส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งการขาดวิตามินดีอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม และไข่ ในกรณีที่เป็นทารกอาจเกิดได้จากภาวะแพ้แล็กโทสหรือไม่สามารถย่อยนมได้ จึงต้องรับประทานนมชนิดอื่นที่ปราศจากน้ำตาลจากนม (Lactose) หรือแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรมีภาวะขาดวิตามินดี จึงส่งผลให้ร่างกายทารกได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอ
- การไม่ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอหรือใช้ครีมกันแดดทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง จึงส่งผลต่อการสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกาย
- การดูดซึมในร่างกายมีความผิดปกติเนื่องมาจากภาวะต่าง ๆ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตหรือการอักเสบของลำไส้ เป็นต้น
- การรับประทานยาบางชนิดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดูดซึมวิตามินของร่างกาย อย่างยาต้านชักหรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral)
นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคกระดูกอ่อน อาจส่งต่อความผิดปกติผ่านทางพันธุกรรม ทำให้ไตของผู้ที่มียีนดังกล่าวไม่สามารถดูดซึมฟอสฟอรัสได้ รวมถึงปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และสีผิวก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Rickets ด้วยเช่นกัน โดยมีการระบุว่าทารกที่อยู่ในแถบทวีปเอเชีย แอฟริกา แคริบเบียน และตะวันออกกลางมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากเม็ดสีขัดขวางการดูดซึมวิตามินดีบริเวณผิว
การวินิจฉัย Rickets
เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว อาหารที่รับประทาน ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์จะกดเบา ๆ บริเวณกระดูกส่วนต่าง ๆ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ทารกที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะพบว่ากระดูกบริเวณกะโหลกจะนิ่ม กระหม่อมอาจปิดช้า ขาโก่งมากกว่าปกติ ข้อมือและเข่ามักใหญ่และหนากว่าทารกทั่วไป ในบางรายกระดูกบริเวณซี่โครงจะแบนมีปุ่ม ซึ่งเป็นความผิดปกติของร่ายกาย ทำให้กระดูกช่วงอกนูนขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด หรือการทำเอกซเรย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของกระดูก ส่วนการผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยจะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องนำชิ้นส่วนกระดูกไปตรวจอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
การรักษา Rickets
การรักษาจะเน้นไปที่การเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุชนิดที่ร่างกายผู้ป่วยขาดไป โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมสูง เช่น ปลา เครื่องใน ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เป็นต้น บางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานวิตามินหรือแรธาตุในรูปแบบอาหารเสริม พร้อมทั้งแนะนำให้เด็กโดนแสงแดดหรืออยู่กลางแจ้ง เพื่อให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดด
ในกรณีที่เด็กไม่สามารถรับประทานได้เองทางปากหรือมีปัญหาในการทำงานของระบบลำไส้และตับ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวิตามินดี ปีละ 1 ครั้ง โดยปริมาณของวิตามินดีและแคลเซียมจะขึ้นอยู่กับอายุและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากอาการนั้นเกิดจากการปัญหาดูดซึม เด็กอาจต้องรับวิตามินหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีกระดูกผิดรูปอย่างรุนแรง แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกให้อยู่ในรูปทรงที่เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของ Rickets
หากผู้ป่วยโรคกระดูกอ่อนชนิด Rickets ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า ตัวเตี้ย กระดูกโค้งงอผิดรูป มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและฟัน ปวดกระดูกเรื้อรัง กระดูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการชักได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยได้รับวิตามินดีหรือแคลเซียมในปริมาณมากหรือได้รับติดต่อกันนานจนเกินไป อาจก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcaemia) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก เกิดก้อนนิ่วในไต มีปริมาณปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น รู้สึกกระหาย ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน วิงเวียนและปวดหัว และอาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย
การป้องกัน Rickets
โรคกระดูกอ่อน Rickets สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีและแคลเซียม เช่น ปลาที่มีไขมันดีอย่างปลาแซลมอนหรือปลาซาร์ดีน ตับ เนื้อแดง ไข่แดง รวมไปถึงอาหารชนิดที่มีการเสริมวิตามินดีและแคลเซียมเพิ่มลงไป เช่น เนยเทียม ซีเรียลธัญพืชบางชนิด นมหรือนมผงสำหรับเด็กบางสูตร
- ให้ผิวสัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ เป็นเวลา 10-15 นาที เนื่องจากวิตามินดีจะถูกสังเคราะห์ขึ้นใต้ผิวหนังหลังจากสัมผัสกับแดด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกอ่อนได้อีกทางหนึ่ง
- รับประทานอาหารเสริม โดยปริมาณและการรับประทานจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 1 ปี ควรได้รับวิตามินดีเสริมในปริมาณ 8.5-10 ไมโครกรัม หากเป็นวัยที่สามารถรับประทานนมผงได้ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม แต่ควรดื่มนมในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ต่ำกว่า 500 มิลลิลิตรต่อวัน หากเป็นเด็กอายุ 1 ขึ้นไป จนถึงวัยผู้ใหญ่ ควรได้รับวิตามินดี 10 ไมโครกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและป้องกันอันตราย และถึงแม้ว่าการให้ผิวสัมผัสแสงแดดจะช่วยในเรื่องการดูดซึมวิตามิน แต่แสงแดดอาจทำร้ายผิวหรือก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังด้วยเช่นกัน จึงควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวไหม้หรือถูกทำร้าย