Septic Arthritis

ความหมาย Septic Arthritis

Septic Arthritis หรือข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อข้อต่อหรือน้ำไขข้อจนเกิดอาการอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ปวดข้ออย่างรุนแรง ข้อต่อบวม และมีไข้ เป็นต้น ภาวะนี้มักเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสจากอวัยวะส่วนอื่นที่ส่งผ่านมาทางกระแสเลือด หรืออาจติดเชื้อโดยตรงผ่านทางบาดแผลเปิด การฉีดยา หรือหลังจากการผ่าตัด 

Septic Arthritis ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยปกติมักเกิดขึ้นกับข้อต่อขนาดใหญ่เพียงหนึ่งข้อต่อ อย่างหัวเข่า สะโพก หรือหัวไหล่ ซึ่งภาวะข้ออักเสบจากการติดเชื้อจะทำลายกระดูกอ่อนและกระดูกภายในข้อต่ออย่างรวดเร็วและรุนแรง หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบรับการรักษาอาจทำให้อาการทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

2467-Septic-Arthritis

อาการของ Septic Arthritis

ผู้ป่วย Septic Arthritis มักมีอาการแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะปวดข้อต่ออย่างรุนแรงโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว รู้สึกไม่สบายข้อต่อ เคลื่อนไหวข้อต่อได้ยาก ข้อต่อบวมแดง รู้สึกอุ่นบริเวณข้อต่อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตัวสั่น เหนื่อยล้า อ่อนแรง เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น หากมีอาการปวดข้อต่อรุนแรงเกิดขึ้นเฉียบพลัน ข้อต่อบวมแดง รู้สึกไม่สบาย ตัวร้อนหรือสั่นภายใน 2-3 วัน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนและป้องกันข้อต่อในบริเวณดังกล่าวเสียหายมากขึ้น

สาเหตุของ Septic Arthritis

ภาวะ Septic Arthritis เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อย่างผิวหนังหรือระบบทางเดินปัสสาวะ แพร่กระจายมายังข้อต่อผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อและการอักเสบบริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ช่องข้อต่อจากแผลเปิด การฉีดยา การผ่าตัดข้อต่อหรือบริเวณโดยรอบได้ด้วย 

ภาวะ Septic Arthritis ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย อย่างสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) สเตรปโตค็อคคัส (Streptococcus) เชื้อหนองใน รวมถึงเชื้อไวรัสหรือเชื้อราบางชนิดก็ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี เชื้อพาร์โวไวรัส บี 19 เชื้อไวรัสเริม เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสคางทูม เชื้อราฮิสโต พลาสโมซิส (Histoplasma) เชื้อราบลาสโตไมโคซิส (Blastomyces) เป็นต้น    

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น

  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุมีโอกาสพัฒนาโรคได้มากกว่าช่วงวัยอื่น
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดข้อต่อมาก่อน ผู้ที่มีปัญหาข้อต่อหรือโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับข้อต่อ เช่น ข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรคเก๊าท์ เป็นต้น
  • ผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันหรือยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เนื่องจากตัวยาที่ไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ผู้ที่มีผิวหนังอ่อนแอหรือมีปัญหาผิวหนัง เนื่องจากเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มักแตกบ่อยครั้งและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอย่างโรคสะเก็ดเงิน ผิวหนังอักเสบ และบาดแผลติดเชื้อก็เสี่ยงต่อการเกิด Septic Arthritis เช่นกัน    
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต หรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับ
  • ผู้ที่บาดเจ็บบริเวณข้อต่อ อย่างถูกแมลงกัดต่อย มีบาดแผลถูกแทงหรือแผลตัด
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดทางหลอดเลือด ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่

การวินิจฉัย Septic Arthritis

โดยปกติแพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ อาการหรือความผิดปกติของข้อต่อที่เป็นอยู่ หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ แพทย์อาจวินิจฉัยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจวิเคราะห์น้ำไขข้อในห้องปฏิบัติการเพื่อดูเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ การตรวจเลือดเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงการสร้างภาพอวัยวะภายในอย่างการเอกซเรย์ MRI Scan หรือ CT Scan เพื่อตรวจสอบข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อและประเมินความเสียหายที่มีต่อข้อต่อดังกล่าว    

การรักษา Septic Arthritis

ภาวะ Septic Arthritis สามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การระบายน้ำไขข้อที่ติดเชื้อ

การระบายน้ำไขข้อที่ติดเชื้อจะช่วยลดอาการปวด บวม และป้องกันข้อต่อเสียหาย สามารถทำได้หลายวิธีตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยแต่ละวิธีจะใช้ระยะเวลาแตกต่างกันไป เช่น ใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเข้าไประบายน้ำในช่องข้อต่อ สอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ผ่านทางผิวหนังบริเวณข้อต่อ หรือผ่าตัดเปิดโดยเฉพาะบริเวณอย่างสะโพกเนื่องจากข้อต่อบางจุดอาจระบายน้ำไขข้อด้วยเข็มหรือส่องกล้องได้ยาก เป็นต้น

การใช้ยารักษา

การรักษาจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะกับเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของภาวะ Septic Arthritis โดยเริ่มแรกแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่หลังจากอาการทุเลาลงจะเปลี่ยนไปใช้ยารับประทานโดยใช้เวลารักษาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ซึ่งตัวยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้ ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อรา แพทย์อาจจ่ายยาต้านเชื้อรามาให้ผู้ป่วยแทน สำหรับข้ออักเสบจากการติดเชื้อไวรัสนั้นสามารถหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา 

นอกจากนี้ ยังอาจบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด ใช้งานข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อให้น้อยลง โดยอาจเข้าเฝือกเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อต่อ หากบริเวณที่ติดเชื้อเป็นข้อต่อเทียมก็อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่ออันใหม่ รวมถึงทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อต่อและป้องกันข้อต่อแข็งเกร็ง 

ภาวะแทรกซ้อนของ Septic Arthritis

การรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้ภาวะ Septic Arthritis นำไปสู่ภาวะข้อเสื่อมและข้อต่อเสียหายอย่างถาวร ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อเป็นเวลานานโดยไม่ได้รักษาก็จะยิ่งทำให้ข้อต่อถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ หากมีความผิดปกติที่ข้อต่ออย่างเฉียบพลันก็ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

การป้องกัน Septic Arthritis

วิธีป้องกันตนเองจากภาวะ Septic Arthritis คือ การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงและระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอยู่เสมอตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีบาดแผลเปิดขนาดเล็กควรล้างทำความสะอาดและทายาฆ่าเชื้อ หากเป็นแผลขนาดใหญ่ควรไปให้แพทย์ทำแผลให้
  • ผู้ที่มีผิวหนังอ่อนแอหรือแตก ควรทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเป็นประจำ
  • ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่มีแมลงหรือสัตว์เยอะควรสวมชุดที่รัดกุมพอจะป้องกันแมลงหรือสัตว์กัดต่อย หรือพกยาทากันยุงหรือแมลงติดตัวไว้เสมอ
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการควรเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองจากแพทย์ เพื่อป้องกันการพัฒนาของโรคหรือการติดเชื้อต่าง ๆ
  • ผู้เสพติดควรขอคำปรึกษาศูนย์บริการเลิกใช้ยา เนื่องจากการใช้ยาเสพติดโดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งควรสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองในหรือหนองในเทียม ซึ่งเชื้อสามารถกระจายไปยังข้อต่อและเกิดการอักเสบตามมาได้