ความหมาย โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis)
Spondylolisthesis หรือโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสันหลังระดับเอวเคลื่อนไปด้านหน้าเหนือข้อต่อปล้องกระดูกสันหลังชิ้นล่างที่อยู่ติดกัน ในบางกรณีอาจทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ชา อ่อนแรงที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งหากได้รับการรักษาทันท่วงทีจะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้
อาการของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และจะมีอาการแย่ลงหลังออกกำลังกาย โดยเฉพาะเมื่อมีการบริหารกระดูกบั้นเอว และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- รู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อขาด้านหลัง
- ปวดหรือชาบริเวณขา ต้นขา และสะโพก
- กระดูกสันหลังโค้งมากเกินไป
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการปวดบริเวณหลังหรือสะโพกเป็นประจำ สังเกตเห็นว่ากระดูกสันหลังโค้งมากผิดปกติ หรือมีอาการของโรคดังข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์
สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
สาเหตุของโรคนี้จะแตกต่างกันไปตามอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความพิการแต่กำเนิด พันธุกรรม อุบัติเหตุ ความเสื่อมตามอายุ การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวัยรุ่น การทำกิจกรรมที่ทำให้มีแรงตึงสะสมบริเวณกระดูกหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะกีฬา เช่น ฟุตบอล ยิมนาสติก กรีฑา ยกน้ำหนัก เป็นต้น รวมถึงการติดเชื้ออย่างวัณโรคกระดูกสันหลังหรือโรคมะเร็งที่กระจายลุกลามมายังกระดูกสันหลัง
โดยโรค Spondylolisthesis อาจพบได้ 6 ชนิด ซึ่งมีลักษณะและสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- Congenital Spondylolisthesis เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่กำเนิดของการสร้างกระดูกสันหลัง (Neural Arch) และส่วนบนของกระดูกกระเบนเหน็บ ทำให้กระดูกเอวเคลื่อนไปทางด้านหน้า และอาจไปทับเส้นประสาทได้หากมีการเคลื่อนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
- Isthmic Spondylolisthesis เป็นการเคลื่อนของกระดูกสันหลังจากรอยแตกของกระดูก Pars Interarticularis ทำให้กระดูกเอวมีความมั่นคงน้อยลงและกระดูกเคลื่อนไปทางด้านหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับบาดเจ็บซ้ำ ๆ ที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มนักกีฬาที่แอ่นตัวมากเกินไป โดยเฉพาะนักยิมนาสติก และมักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า
- Degenerative Spondylolisthesis เป็นผลมาจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนหรือหมอนรองกระดูกที่เป็นไปตามกาลเวลา จึงไม่สามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังได้ และส่งผลให้กระดูกสันหลังเคลื่อน มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- Traumatic Spondylolisthesis เป็นการเคลื่อนของกระดูกสันหลังส่วนเอวที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่กระดูกสันหลังโดยตรง
- Pathological Spondylolisthesis เป็นผลมาจากโรคบางชนิดที่ส่งผลให้กระดูกสูญเสียความแข็งแรง และทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน เช่น โรคกระดูกพรุน การลุกลามของมะเร็ง การติดเชื้อ หรือเนื้องอก เป็นต้น
- Post-Surgical Spondylolisthesis เป็นผลมาจากการผ่าตัดเพื่อลดการกดทับของรากประสาทกระดูกสันหลัง เกิดขึ้นเมื่อแพทย์ตัดกระดูก Pars Interarticularis ออกมากเกินไป และผู้ป่วยมักมีอาการแย่ลงหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลัง
การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
การวินิจฉัยเริ่มต้นจากการตรวจร่างกายและทดสอบการเหยียดตรงของขา ซึ่งผู้ป่วยอาจเหยียดขาตรงไปด้านหน้าได้ลำบากหากเป็นโรคนี้ จากนั้นแพทย์จะเอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนล่าง เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนของกระดูก การแตกหักอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และอาจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเส้นประสาทอาจถูกกดทับจากการเคลื่อนของกระดูกสันหลัง และเพื่อดูรายละเอียดต่าง ๆ
เมื่อตรวจพบโรค แพทย์จะจัดความรุนแรงของโรคตามเปอร์เซ็นต์ในการเคลื่อนของกระดูกสันหลังเป็น 4 ระดับ ดังนี้
- ระดับที่ 1 กระดูกสันหลังเคลื่อนไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์
- ระดับที่ 2 กระดูกสันหลังเคลื่อนตั้งแต่ 26-50 เปอร์เซ็นต์
- ระดับที่ 3 กระดูกสันหลังเคลื่อนตั้งแต่ 51-75 เปอร์เซ็นต์
- ระดับที่ 4 กระดูกสันหลังเคลื่อนตั้งแต่ 76-100 เปอร์เซ็นต์
การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
การรักษา Spondylolisthesis จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีวิธีการ ดังต่อไปนี้
- การใช้ยา อาจใช้ยาไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ หากผู้ป่วยมีอาการชาที่ขาอาจต้องฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์บริเวณเส้นประสาทที่ถูกกระดูกสันหลังกดทับด้วย
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง
- การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องโค้งหรืองอตัว การยกน้ำหนัก และการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก
- การผ่าตัด โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในระดับที่ 1 และ 2 ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีประคับประคองอาการ แต่หากรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นประจำหรือรุนแรง และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระดับที่ 3 และ 4 ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้สกรูและแท่งโลหะยึดกระดูกในบริเวณใกล้เคียง หรืออาจผ่าตัดเส้นประสาทที่ถูกกดทับออกแล้วเชื่อมข้อกระดูกสันหลังหรือใส่โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลังให้อยู่ในสภาพปกติ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดก่อน เพราะอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น ติดเชื้อในบริเวณที่ผ่าตัด มีลิ่มเลือดก่อตัวจนทำให้เส้นเลือดขอดที่ขา หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหายจนทำให้มีอาการชาที่ขา กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ หรือเป็นอัมพาต เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
- หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังส่วนล่างอย่างเรื้อรัง
- หากกระดูกสันหลังเคลื่อนทับรากประสาทจนได้รับความเสียหาย จะส่งผลให้ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
- หากกระดูกสันหลังเคลื่อนจนหลุดออกจากกัน อาจทำให้ผู้ป่วยหลังค่อม และในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อที่กระดูกสันหลังได้
การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
โรค Spondylolisthesis นั้นป้องกันได้ยาก แต่อาจทำได้ ดังนี้
- อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย
- เพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อกลางลำตัว
- จำกัดเวลาในการทำกิจกรรมหรือกีฬาที่เพิ่มแรงตึงให้กับกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกีฬายิมนาสติก ฟุตบอล หรือยกน้ำหนัก เพราะอาจเสี่ยงเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนได้
- ไม่หักโหมเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายมากเกินไป ใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายอย่างระมัดระวัง และพักฟื้นให้เพียงพอหลังการทำกิจกรรมใด ๆ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี