Streptomycin (สเตรปโตมัยซิน)

Streptomycin (สเตรปโตมัยซิน)

Streptomycin (สเตรปโตมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกาย ใช้รักษาวัณโรคหรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ กาฬโรค เป็นต้น และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

Streptomycin

ยา Streptomycin  มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Streptomycin  

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาวัณโรค รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Streptomycin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อ โรคไต มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน หรือสูญเสียการได้ยิน
  • ห้ามใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ
  • เด็กหรือผู้ท่ี่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยา เพราะยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ และแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากเกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ิ

ปริมาณการใช้ยา Streptomycin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

วัณโรค
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน

สำหรับการใช้ยาแบบไม่ต่อเนื่อง ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 25-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/ครั้ง
เด็ก ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 20-40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน

สำหรับการใช้ยาแบบไม่ต่อเนื่อง ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 25-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/ครั้ง
ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 40 ปี ฉีดยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 500-750 มิลลิกรัม/วัน

กาฬโรค
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 2 กรัม/วัน โดยแบ่งใช้ยา 2 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน

เด็ก ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งใช้ยา 2-3 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน

เยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ผู้ใหญ่ เยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อสเตรปโตคอกคัล (Streptococcal) ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในสัปดาห์ที่ 2

เยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อเอนเทอโรคอกคัล (Enterococcal) ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยใช้ร่วมกับยาเพนิซิลลิน
เด็ก เยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อเอนเทอโรคอกคัล ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งใช้ยา 2 ครั้ง และใช้ร่วมกับยาเพนิซิลลิน
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อสเตรปโตคอกคัล ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

โรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 1-2 กรัม/วัน โดยแบ่งใช้ ใช้ยาเป็นระยะเวลา 7-14 วัน จนกว่าผู้ป่วยจะไม่มีไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน
เด็ก ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อครั้งละ 15 มิลลิลกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 10-14 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน

โลหิตเป็นพิษ โรคบรูเซลโลซิส เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดบวม และการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

ผู้ใหญ่ กรณีใช้รักษาร่วมกับยาชนิดอื่นและเป็นยาทางเลือกลำดับที่ 2 ให้ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 1-2 กรัม/วัน โดยแบ่งฉีดยาทุก 6-12 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน
เด็ก ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 20-40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดยาทุก 6-12 ชั่วโมง

การใช้ยา Streptomycin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • หากรับยามาฉีดเองที่บ้าน ผู้ป่วยต้องศึกษาขั้นตอนการเตรียมยาและวิธีใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
  • ยา Streptomycin ใช้ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อต้นขาหรือก้นส่วนบน
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที#
  • ตรวจสอบความผิดปกติของยาก่อนใช้ และห้ามใช้ยาหากยาเปลี่ยนสีหรือมีตะกอน
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส พ้นจากแสงแดด ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาและวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Streptomycin
การใช้ยา Streptomycin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน เบื่ออาหาร ท้องเสีย เกิดอาการแดง ระคายเคือง หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดยา หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

นอกจากนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Streptomycin ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ไตผิดปกติ ทำให้มีอาการ เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • มีไข้
  • สับสน
  • เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ ปวดศีรษะ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อ่อนเพลียมาก
  • มีปัญหาในการทรงตัว
  • มีเสียงดังในหู
  • สูญเสียการได้ยิน
  • มีอาการชาที่รู้สึกแสบหรือเหมือนมีเข็มทิ่มตามผิวหนัง
  • มีอาการชัก กระตุก
  • ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน
  • มีปัญหาในการหายใจ หายใจช้า หรือหายใจไม่อิ่ม
  • มีอาการท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile-Associated Diarrhea: CDAD) ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง ถ่ายเหลวมาก ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นเลือด

การใช้ยา Streptomycin เป็นระยะเวลานานหรือใช้ยาซ้ำอีกช่วงหนึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากหรือมีการติดเชื้อราในช่องคลอด หากพบว่ามีปื้นขาวในปาก มีการเปลี่ยนแปลงของของเหลวในช่องคลอด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ รวมทั้งกรณีที่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติมจากนี้