Tacrolimus (ทาโครลิมัส)

Tacrolimus (ทาโครลิมัส)

Tacrolimus (ทาโครลิมัส) เป็นยากดภูมิคุ้มกันที่ทำให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายลดต่ำลง ใช้กับผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ เช่น การปลูกถ่ายไตและตับ เป็นต้น โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะช่วยยับยั้งการติดเชื้อหรือกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ซึ่งร่างกายอาจเข้าใจว่าอวัยวะใหม่ที่ปลูกถ่ายนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน จึงจำเป็นต้องใช้ยานี้เพื่อกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

1606 Tacrolimus Resized

ยา Tacrolimus มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Tacrolimus

กลุ่มยา ยากดภูมิคุ้มกัน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ในการปลูกถ่ายอวัยวะ
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน ยาใช้ภายนอก

คำเตือนในการใช้ยา Tacrolimus

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ก่อนใช้ยา เกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะหากใช้ไฮโดรจีเนท แคสเตอร์ออยล์ หรือยาไซโคลสปอรินภายใน 24 ชั่วโมงก่อนหน้า เพราะยาบางชนิดอาจทำให้ไตเกิดความเสียหายได้
  • ยานี้อาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดที่ต่อต้านการติดเชื้อในร่างกายมีจำนวนลดลง หรือทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงหรือถึงขั้้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อในสมองอย่างรุนแรง หรือติดเชื้อไวรัสที่ทำให้ไตที่ปลูกถ่ายมาทำงานล้มเหลว เป็นต้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ หากพบว่ามีอาการของการติดเชื้อในสมองที่รุนแรง เช่น สติรับรู้มีการเปลี่ยนแปลง มีปัญหาในการพูด การเดิน หรือการมองเห็นแย่ลง เป็นต้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที โดยอาการดังกล่าวอาจเริ่มเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและแย่ลงอย่างรวดเร็ว
  • หลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine) ในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยานี้อาจทำให้วัคซีนเชื้อเป็นบางชนิดมีประสิทธิภาพลดลง
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เพราะอาจทำให้ผิวไหม้แดดได้ง่าย ซึ่งผู้ป่วยควรสวมใส่เสื้อผ้าหรือใช้ครีมกันแดดปกป้องผิวจากแสงแดดเสมอ
  • การใช้ยา Tacrolimus อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะหากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากเป็นโรคตับ โรคไต ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์สูง รวมไปถึงหากกำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ เช่น ยารักษามะเร็ง หรือยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Tacrolimus

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ป้องกันร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ในการปลูกถ่ายตับ
ยาฉีด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 10-50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องประมาณ 24 ชั่วโมงหลังเริ่มปลูกถ่ายอวัยวะผ่านไป 12 ชั่วโมง โดยใช้ยาต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 7 วัน และให้เปลี่่ยนไปเป็นการรับประทานยาทันทีที่ผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้ ซึ่งควรรรับประทานยาครั้งแรกในช่วง 8-12 ชั่วโมงหลังจากหยุดการหยดยาเข้าทางหลอดเลือด
  • เด็ก ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 0.03-0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องประมาณ 24 ชั่วโมง ให้เริ่มใช้ยาเมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ และเริ่มจากการใช้ยาในปริมาณต่ำสุด ใช้ยาต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดรับประทานได้ ซึ่งควรเริ่มใช้ยาชนิดรับประทานเมื่อผ่านไป 8-12 ชั่วโมงหลังจากหยุดหยดยาเข้าทางหลอดเลือด

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 0.1-0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง โดยเริ่มรับประทานยาเมื่อผ่านไป 12 ชั่วโมงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • เด็ก รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 0.15-0.20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง โดยเริ่มรับประทานยาเมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ

ป้องกันร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ในการปลูกถ่ายไต

ยาฉีด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 0.05-0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องประมาณ 24 ชั่วโมง เริ่มใช้ยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังเริ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ และใช้ยาต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 7 วัน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดรับประทาน

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 0.2-0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง เริ่มรับประทานยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ

ป้องกันร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ในการปลูกถ่ายหัวใจ

ยาฉีด

  • ผู้ใหญ่ อาจมีการใช้หรือไม่ใช้แอนติบอดี้ก่อนเริ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ เริ่มใช้ยาภายใน 5 วันหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ไม่ควรใช้ยาเร็วกว่า 6 ชั่วโมงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 10-20 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ใช้ยาติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน และเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทานทันทีที่ผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้ ซึ่งควรใช้ยาชนิดรับประทานครั้งแรกหลังจากหยุดหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำไปแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ อาจมีการใช้หรือไม่ใช้แอนติบอดี้ก่อนเริ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ เริ่มใช้ยาภายใน 5 วันหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ และไม่ควรใช้ยาเร็วกว่า 6 ชั่วโมงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยรับประทานยาปริมาณ 75 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และแบ่งเป็นรับประทาน 2 ครั้ง

ฝีคัณฑสูตรจากโรคโครห์น

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

  • ผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป ใช้ยาขี้ผึ้งที่มีความเข้มข้นของยา 0.03 เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ค่อย ๆ ทาบริเวณที่ต้องการบาง ๆ วันละ 2 ครั้ง โดยจะใช้ในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง
  • เด็กอายุ 2-15 ปี ใช้ยาขี้ผึ้งที่มีความเข้มข้นของยา 0.03 เปอร์เซ็นต์ ค่อย ๆ ทาบริเวณที่ต้องการบาง ๆ วันละ 2 ครั้ง โดยใช้ในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น

การใช้ยา Tacrolimus

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • โดยทั่วไปมักจะฉีดยา Tacrolimus ให้ผู้ป่วยหลังจากที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะให้ยาโดยการฉีดจนกว่าผู้ป่วยจะพร้อมใช้ยาในรูปแบบรับประทาน
  • ยา Tacrolimus ชนิดแคปซูล มักจะให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง และควรรับประทานเวลาเดียวกันทุกวัน
  • การใช้ยา Tacrolimus ชนิดรับประทาน สามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ โดยรับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2-3 ชั่วโมง ควรรับประทานตอนท้องว่าง และรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดหมายและเข้ารับการตรวจด้านต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ
  • ระหว่างที่ใช้ยา ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเกรปฟรุตและน้ำเกรปฟรุต
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tacrolimus

การใช้ยา Tacrolimus อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มือบวม และเท้าบวม เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Tacrolimus ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • ผิวซีด วิงเวียน หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว ไม่มีสมาธิ
  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามตัว เป็นหวัด มีแผลในปากและคอ
  • ปวดหลังส่วนล่างหรือสีข้าง ปัสสาวะปนเลือด เจ็บหรือระคายเคืองเวลาปัสสาวะ
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือไม่ปัสสาวะ
  • ไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะหรือไอเป็นเลือด ผิวซีด เหงื่อออก หายใจมีเสียง หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอก
  • สั่น สับสน ระดับการรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง และมีอาการชัก
  • ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นไม่ชัด มีเสียงดังในหู เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดปกติ และวิตกกังวล เป็นต้น
  • น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะมาก หิวมาก หายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ ปากแห้ง ผิวแห้ง ง่วงซึม มองเห็นไม่ชัด เป็นต้น
  • โพแทสเซียมในร่างกายสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น หัวใจเต้นช้า ชีพจรอ่อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และรู้สึกชา เป็นต้น
  • แมกนีเซียมในร่างกายต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา หรือการตอบสนองของร่างกายช้ากว่าปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน