ความหมาย Tardive Dyskinesia
Tardive Dyskinesia หรือกลุ่มอาการยึกยือ เป็นกลุ่มอาการผิดปกติบริเวณกล้ามเนื้อใบหน้า แขน ขา รวมถึงนิ้ว ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นทำงานเอง อย่างนิ้วกระดิกเองหรือขมวดคิ้วโดยไม่ได้ตั้ง โดยมักเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาในกลุ่มยารักษาโรคจิตและยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
อาการจากกลุ่มอาการยึกยือนั้นพบได้หลากหลาย และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น หากมีสัญญาณเตือนหรือกำลังอยู่ในช่วงใช้ยากลุ่มดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยง
อาการของ Tardive Dyskinesia
กลุ่มอาการยึกยืออาจส่งผลให้อวัยวะแข็งเกร็ง กระตุก หรือเคลื่อนไหวโดยไม่ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ กลุ่มอาการนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามอวัยวะที่มีอาการปรากฏ ดังนี้
Orofacial dyskinesia
กลุ่มอาการยึกยือบริเวณใบหน้าจะส่งผลกระทบกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า กระดูกขากรรไกร ลิ้น และริมฝีปาก ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเคลื่อนไหวเอง เช่น กะพริบตาถี่ ๆ แลบลิ้น ขบเคี้ยวฟัน เม้มปาก ขมวดคิ้ว และหายใจมีเสียงฮึดฮัด เป็นต้น
Dyskinesia of the limbs
กลุ่มอาการยึกยือบริเวณแขนขา รวมถึงนิ้วมือและนิ้วเท้าด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดท่าทาง อย่างกระดิกนิ้ว ย่ำเท้า สะบัดแขน เอวกระตุก และแกว่งแขน
สาเหตุของ Tardive Dyskinesia
โดยปกติร่างกายจะหลั่งสารโดปามีนที่มีหน้าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้คล่องตัว แต่ยารักษาโรคจิตและยาแก้คลื่นไส้นั้นออกฤทธิ์ส่งผลยับยั้งการหลั่งของสารดังกล่าว และเมื่อโดปามีนถูกผลิตมาในปริมาณที่น้อยจึงทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกขึ้น ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เกิน 3 เดือน มีแนวโน้มที่เกิดกลุ่มอาการดังกล่าวได้ โดยความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้ยาด้วย ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับผลข้างเคียงตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ยาแต่พบได้น้อยมาก
ยารักษาโรคจิตมักใช้รักษาโรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ รวมทั้งความผิดปกติทางสมองอื่น ๆ ในบางครั้งแพทย์อาจจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยรายชื่อยารักษาโรคจิตที่อาจทำให้เกิด Tardive Dyskinesia เช่น ยากันชัก ยาต้านเศร้า ยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) ยาฟลูนาริซีน (Flunarizine) ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) ยาไทโอริดาซีน (Thioridazine) และยาไตรฟลูโอเพอราซีน (Trifluoperazine) เป็นต้น ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน หรือยาที่ใช้รักษาความผิดปกติในช่องท้องบางชนิดก็อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการยึกยือได้เช่นกัน อย่างยาโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) และยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ก็อาจเกิดกลุ่มอาการดังกล่าวได้ในรูปแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของ Tardive Dyskinesia เช่น หญิงวัยหมดประเดือน ผู้ที่อายุเกิน 55 ปี ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และเสพยาเสพติด และผู้ที่มีเชื้อสายเอเชียอเมริกัน เป็นต้น
การวินิจฉัย Tardive Dyskinesia
ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วยและทำการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจใช้การตรวจรูปแบบอื่นเพิ่มเติม ดังนี้
-
ระยะเวลาการใช้ยา
กลุ่มอาการยึกยืออาจปรากฏขึ้นได้ภายหลังการใช้ยาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี หากผู้ป่วยเพิ่งเริ่มใช้ยาและปรากฏอาการแพทย์อาจยังไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาในทันที เพราะอาจส่งผลให้การวินิจฉัยทำได้ยากขึ้น
-
Abnormal Involuntary Movement Scale (AIMS)
เทคนิค AIMS เป็นวิธีประเมินการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติที่มีจุดประสงค์เพื่อวัดระดับความรุนแรงและตัดโรคที่มีอาการคล้ายกันออก โดยวิธีนี้มีหลักการประเมิน 3 หัวข้อ ได้แก่ ความรุนแรงของการเคลื่อนไหว ความรู้สึกรู้ตัวเมื่อเคลื่อนไหว และภาวะความเครียดจากการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม อย่างการตรวจเลือดและตรวจภาพสมองเพื่อหาความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน
การรักษา Tardive Dyskinesia
การรักษากลุ่มอาการยึกยือมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดอาการ แพทย์อาจปรับปริมาณยาที่ผู้ป่วยใช้ให้ลดลง หรือสั่งจ่ายยาตัวอื่นเพื่อใช้รักษาแทนยาตัวเดิม แต่หากปรับปริมาณหรือเปลี่ยนยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งแพทย์และห้ามหยุดยาเอง โดยการรักษากลุ่มอาการดังกล่าวแพทย์อาจประเมินความรุนแรงของอาการ ชนิดของยาที่เป็นสาเหตุ ระยะเวลาที่ใช้ยา อายุของผู้ป่วย รวมถึงโรคเกี่ยวกับสมองชนิดอื่น ๆ
ในเบื้องต้นนอกจากการปรับเปลี่ยนยา แพทย์อาจจ่ายยา Valbenazine และยา Deutetrabenazine เพิ่มเติมเพื่อปรับปริมาณของสารโดปามีนในสมอง ซึ่งอาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของกลุ่มอาการยึกยือได้ อย่างไรก็ตาม มีบางรายงานแจ้งว่ายา Deutetrabenazine อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนเปลี่ยนยา ในผู้ป่วย Tardive Dyskinesia ที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ เชื่อกันว่าการรับประทานใบแปะก๊วย เมลาโทนิน วิตามินบี 6 และวิตามินอี อาจช่วยบรรเทาอาการได้ แต่อาหารเสริมเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดถึงประโยชน์ในการรักษากลุ่มอาการยึกยือ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้อาหารเสริมทุกชนิด
ภาวะแทรกซ้อนของ Tardive Dyskinesia
การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกลุ่มอาการยึกยืออาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งในผู้ป่วยบางรายอาจยังคงมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติแม้ว่าหยุดการใช้ยาแล้ว ดังนั้น เมื่อปรากฏสัญญาณของกลุ่มอาการนี้ขึ้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
การป้องกัน Tardive Dyskinesia
ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคจิตอย่างต่อเนื่อง ควรหมั่นเข้ารับการตรวจกลุ่มอาการยึกยือเป็นประจำทุกปี เนื่องจากความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการใช้ยา ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคจิตรุ่นแรกมีความเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการนี้สูงกว่ายารุ่นใหม่จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากเปลี่ยนยา