ความหมาย ภาวะลิ้นติด (Tongue-tie)
Tongue-tie หรือภาวะลิ้นติด เป็นภาวะที่ลิ้นเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด อาจทำให้เลียริมฝีปากหรือกระดกลิ้นไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการมีเนื้อเยื่อที่หนาและสั้นเกินไปมายึดเกาะกันแน่นระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นล่างของช่องปาก ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการพูด การรับประทานอาหาร การกลืน และการดูดนมมารดา โดยเป็นภาวะที่มักพบได้ในเด็กแรกเกิดและอาจหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น
อาการของภาวะลิ้นติด
ภาวะ Tongue-tie มีลักษณะอาการที่พบได้ ดังนี้
- แลบลิ้นได้ไม่พ้นริมฝีปาก
- ไม่สามารถขยับลิ้นไปด้านข้างและมุมปากได้
- ไม่สามารถทำให้ปลายลิ้นแตะเพดานปากได้
- เมื่อแลบลิ้น ปลายลิ้นอาจมีลักษณะแบน เป็นเหลี่ยม หรือมีรอยหยักเข้ามาเป็นรูปหัวใจ
- อาจมีช่องว่างระหว่างฟันหน้าด้านล่างทั้ง 2 ซี่
นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังสามารถสังเกตอาการ Tongue-tie ของเด็กได้ในขณะให้นมบุตรด้วย เช่น
- ไม่สามารถเปิดปากได้กว้างพอจะดูดนมจากเต้า และมักดูดงับหัวนมไม่ค่อยอยู่
- มักเคี้ยวหัวนมมากกว่าดูดน้ำนม
- ดูดนมเป็นเวลานาน มีการหยุดดูดเป็นช่วงสั้น ๆ แล้วจึงดูดนมต่อ
- มีเสียงดังคลิกเกิดขึ้นขณะดูดนม
- มักหิวอยู่ตลอดเวลา และเด็กมีน้ำหนักน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
- ระหว่างหรือหลังให้นมบุตร มารดาอาจมีอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก เกิดรอยกดหรือรอยริ้วบริเวณหัวนม และหัวนมแบน
ส่วนอาการ Tongue-tie ในเด็กโตอาจทำให้เด็กเกิดปัญหาในการพูดและการรับประทานอาหาร รวมถึงการตวัดลิ้นเข้าถึงฟันด้านใน ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์หากอาการต่าง ๆ ของ Tongue-tie สร้างความรำคาญใจหรือเป็นปัญหาต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
สาเหตุของภาวะลิ้นติด
โดยปกติเนื้อเยื่อใต้ลิ้นซึ่งมีลักษณะหนา สั้น และยึดติดกับใต้ลิ้นแน่น จะแยกตัวออกจากใต้ลิ้นและพื้นล่างของช่องปากตั้งแต่ก่อนแรกเกิด แต่หากเนื้อเยื่อดังกล่าวยังคงยึดเกาะกันอยู่จะทำให้เกิด Tongue-tie ได้ โดยมักพบภาวะนี้ในเด็กผู้ชายได้มากกว่าเด็กผู้หญิง อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่รู้ถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด Tongue-tie แต่ผู้ป่วยบางคนก็อาจเผชิญภาวะนี้เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรม
การวินิจฉัยภาวะลิ้นติด
ในบางครั้งแพทย์อาจตรวจสุขภาพของทารกตั้งแต่แรกเกิด แต่ก็อาจไม่พบความผิดปกติใด ๆ จนกว่าทารกจะเกิดปัญหาจากการดูดนมมารดาหรือการรับประทานอาหาร เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามเรื่องการให้นมบุตรจากมารดาและตรวจดูความผิดปกติของลิ้น ช่องปาก และฟันของเด็กหรือผู้ป่วย ซึ่งอาจใช้ไม้กดลิ้นเพื่อตรวจสอบบริเวณใต้ลิ้น รวมทั้งประเมินลักษณะและการเคลื่อนไหวของลิ้น สำหรับเด็กโต แพทย์อาจวินิจฉัยโดยการให้ขยับลิ้นไปรอบ ๆ และทำเสียงบางอย่างออกมา
การรักษาภาวะลิ้นติด
อาการ Tongue-tie อาจดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป หรืออาจยังคงอยู่โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน ส่วนการรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากแพทย์บางคนอาจแนะนำให้รักษาทารกทันทีก่อนออกจากโรงพยาบาล ในขณะที่แพทย์บางส่วนอาจให้รอดูอาการไปก่อน ส่วนเด็กที่ยังคงมีปัญหาในการดูดนมหรือการพูด ผู้ปกครองควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตร และให้เด็กเข้ารับการทำอรรถบำบัดกับผู้แก้ไขการพูด
ในกรณีที่แพทย์พิจารณารักษา Tongue-tie ด้วยการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาสลบแล้วนำกรรไกรผ่าตัดหรือเลเซอร์ตัดเนื้อเยื่อใต้ลิ้นให้แยกออกจากกัน เนื่องจากเนื้อเยื่อนี้แทบจะไม่มีเส้นประสาทและเส้นเลือด จึงอาจทำให้มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและไม่สร้างความเจ็บปวดให้เด็กมากนัก ซึ่งหลังการผ่าตัดมารดาสามารถให้นมบุตรได้ทันที ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ใช่เด็กทารกอาจต้องบริหารลิ้นเพื่อให้ลิ้นได้เคลื่อนไหวและลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแผล
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ แม้จะเกิดได้น้อยมากก็ตาม เช่น มีเลือดออก เกิดการติดเชื้อ ลิ้นและต่อมน้ำลายถูกทำลาย เกิดรอยแผลเป็นและเกิดภาวะเนื้อเยื่อใต้ลิ้นกลับไปเชื่อมติดกันอีกครั้ง รวมถึงเด็กบางคนอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาชา เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะลิ้นติด
Tongue-tie ส่งผลต่อพัฒนาการในช่องปาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น
มารดามีปัญหาในการให้นมบุตรหรือเด็กมีปัญหาในการดูดนม
ระหว่างที่ให้นมบุตร เด็กที่มีอาการ Tongue-tie จะไม่สามารถขยับลิ้นให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสมในการดูดน้ำนมได้ เด็กจึงใช้เหงือกบริเวณขากรรไกรส่วนหน้าด้านบนและด้านล่างงับหัวนมมารดาแทน จึงอาจส่งผลให้เกิดแผลแตกที่หัวนม เต้านมคัด และเต้านมอักเสบได้ ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับน้ำนมอย่างพอเพียงก็อาจทำให้มีน้ำหนักตัวน้อยและร้องไห้งอแงบ่อยครั้ง
ออกเสียงยากลำบาก
ภาวะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาในการพูดและการออกเสียงที่ต้องใช้ลิ้นแตะเพดานปากหรือกระดกลิ้น
เกิดผลกระทบต่อการทำกิจกรรมบางอย่าง
ภาวะ Tongue-tie อาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมทางช่องปาก อย่างการเลียไอศกรีม การเลียริมฝีปาก การจูบ และการเล่นเครื่องดนตรีประเภทเป่า
นอกจากนี้ Tongue-tie ยังทำให้มีสุขภาพอนามัยช่องปากที่ไม่ดีด้วย สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจเกิดอาการฟันผุและเหงือกอักเสบได้ เนื่องจากอาจเป็นเรื่องยากต่อการปัดเศษอาหารที่ติดตามเหงือกและฟัน และอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันหน้าด้านล่างด้วย
การป้องกันภาวะลิ้นติด
เนื่องจากแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิด Tongue-tie จึงยากที่จะป้องกันภาวะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเกิดภาวะนี้มาก่อนควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยก่อนตัดสินใจมีบุตรและเตรียมตัวรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ หากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานป่วยเป็นภาวะนี้หรือมีปัญหาในการให้นมบุตร ให้ไปปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในกรณีที่เด็กมีภาวะ Tongue-tie จริง