โรคดึงผม (Trichotillomania)

ความหมาย โรคดึงผม (Trichotillomania)

Trichotillomania หรือโรคดึงผม เป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องการดึงผมหรือขนตามร่างกายของตนเอง โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ ขนตา ขนคิ้ว หรือขนตามตัว จนผมหรือขนบริเวณนั้นลดลงอย่างสังเกตได้ชัด โดยผู้ป่วยมักดึงผมหรือขนของตนเองเมื่อรู้สึกเครียด และแม้ผมหรือขนจะบางลงเรื่อย ๆ ก็ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ โดยโรคดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง แต่ในผู้ใหญ่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคนี้  

อาการของโรคดึงผม

ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคนี้ในช่วงก่อนอายุ 17 ปี โดยมักดึงผมหรือขนตามร่างกายของตนเอง และหากเสพติดการดึงผมก็อาจถึงขั้นทำให้เกิดรอยแหว่งเป็นวงกลมหรือเป็นหย่อม ๆ ทั่วหนังศีรษะ ซึ่งแต่ละรอยอาจมีขนาดไม่เท่ากัน บางรายอาจใช้มือม้วนผม ใช้ฟันกัดดึงผม เคี้ยวผม หรืออาจรับประทานผมเข้าไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเสพติดการถอนขนตาหรือขนคิ้วด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจรู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย หรือพอใจหลังจากที่ได้ดึงผมหรือขนของตนเอง และอาจสำรวจเส้นผมหรือรากผมของตนเองหลังจากดึงผมหรือขนออกไปแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายก็ไม่ยอมรับว่าตนเองมีอาการดังกล่าว และพยายามปกปิดบริเวณที่ไม่มีผมหรือขนด้วยการสวมหมวก ใส่ผ้าพันคอ ใส่ขนตาปลอมหรือคิ้วปลอม

1970 Trichotillomania rs

สาเหตุของโรคดึงผม

โรค Trichotillomania ถือเป็นโรคความผิดปกติในการยับยั้งพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าโรคนี้อาจเป็นผลมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงระหว่างส่วนที่ควบคุมอารมณ์ การเคลื่อนไหว การสร้างนิสัย ความเคยชิน และความยับยั้งชั่งใจ
  • ความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ของตนเอง
  • พันธุกรรม

การวินิจฉัยโรคดึงผม

เมื่อผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ แพทย์อาจสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและอาจตรวจร่างกายโดยละเอียด โดยเน้นตรวจบริเวณผิวหนัง ผม หรือหนังศีรษะ ซึ่งการวินิจฉัยอาจขึ้นอยู่กับอาการหรือสัญญาณของโรคด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจตัดเอาชิ้นเนื้อบริเวณหนังศีรษะของผู้ป่วยบางรายไปตรวจหาการติดเชื้อหรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ผมหลุดร่วงด้วย

ในบางกรณี แพทย์อาจเอกซเรย์หรือตรวจเลือดของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรค Trichotillomania แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อวินิจฉัยโรคจากการสอบถามหรือการใช้เครื่องมือช่วยในการประเมินอาการขาดความยับยั้งชั่งใจ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในลำดับต่อไป

การรักษาโรคดึงผม

วิธีการรักษาหลักของโรคนี้ คือ Habit Reversal Training (HRT) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีบำบัดทางพฤติกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้ทันอาการขณะที่ต้องการดึงผม โดยจิตแพทย์จะให้ผู้ป่วยสังเกตพฤติกรรมตนเองว่ารู้สึกอยากดึงผมบริเวณใด เมื่อไหร่ และสอนให้ผู้ป่วยทำพฤติกรรมอื่นทดแทน ซึ่งอาจทำได้โดยการกำมือขณะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันการนำมือไปดึงผมหรือขน นอกจากนี้ จิตแพทย์บางรายอาจนำวิธีบำบัดทางความคิดมารักษาผู้ป่วย เพื่อช่วยจัดการกับความคิดที่อาจกระตุ้นให้เกิดความเครียดจนต้องการดึงผมหรือขนของตนเอง รวมทั้งอาจใช้ยานาลเทรกโซนหรือยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอมารักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เนื่องจากยานี้อาจช่วยระงับแรงกระตุ้นที่เกิดจากโรคนี้ได้  

ภาวะแทรกซ้อนของโรคดึงผม

ผู้ป่วยโรค Trichotillomania อาจมีอาการแทรกซ้อน ดังนี้

  • พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องพบปะกับผู้คน เพื่อปกปิดบริเวณที่ผมหรือขนหายไป
  • สูญเสียผมหรือขนบริเวณนั้น ๆ อย่างถาวร และผิวหนังอาจได้รับความเสียหายหรือติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับภาพลักษณ์และความพึงพอใจในตนเอง รวมทั้งอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์ที่มีต่อคนอื่น ๆ ด้วย
  • หากมีพฤติกรรมรับประทานผมหรือขนเข้าไปในร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารหรือลำไส้อุดตัน เนื่องจากขนอาจสะสมรวมกันจนเป็นก้อนอยู่บริเวณกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และอาจทำให้มีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีเลือดออกผิดปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

การป้องกันโรคดึงผม

ปัจจุบันยังไม่พบวิธีรักษาโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้โดยการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง ใช้เวลากับคนในครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรเข้ารับการตรวจรักษาทันทีเมื่อสงสัยว่ามีอาการของโรคนี้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว เพื่อน หรือผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย