กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
Azelaic Acid (กรดอะซีลาอิก) เป็นกรดสกัดจากธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นยารักษาสิวที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง โดยตัวยาจะช่วยกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว นอกจากนี้ สามารถใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) โดยช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง
เกี่ยวกับ Azelaic Acid
กลุ่มยา | ยากลุ่มกรดดีคาร์บอกซิลิก (Dicarboxylic Acids) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | รักษาสิวและโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาทาเฉพาะที่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป และยาชนิดนี้อาจส่งผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา |
คำเตือนในการใช้ยา Azelaic Acid
ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ Azelaic Acid
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากมีอาการแพ้ยาหรือสารอื่น ๆ โดยเฉพาะ Azelaic Acid
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน และสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรคหืด
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัดและการทำทันตกรรม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงการใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหยุดใช้ Azelaic Acid ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- หากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ Azelaic Acid เนื่องจากตัวยาอาจปนเปื้อนไปกับน้ำนม
- ห้ามใช้ Azelaic Acid ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
- ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ผิวไหม้แดดหรือผิวหนังอักเสบ ไม่ควรใช้ Azelaic Acid ยกเว้นแพทย์สั่ง
ปริมาณการใช้ Azelaic Acid
Azelaic Acid จะใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ในการรักษาสิวให้ใช้ Azelaic Acid รูปแบบเจลความเข้มข้น 15% หรือรูปครีมความเข้มข้น 20% ทาบาง ๆ บริเวณที่มีอาการ 2 ครั้งต่อวัน โดยระยะเวลาใช้ยาสูงสุดไม่ควรเกิน 6 เดือน
สำหรับการใช้ยา Azelaic Acid เพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย ให้ใช้ Azelaic Acid รูปแบบเจลหรือโฟมความเข้มข้น 15% โดยทาบาง ๆ บริเวณที่มีอาการ 2 ครั้งต่อวัน
การใช้ Azelaic Acid
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ Azelaic Acid ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยไม่ควรเพิ่มปริมาณหรือทาบ่อยกว่าที่แพทย์กำหนด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้ยา
- ควรทำความสะอาดผิวบริเวณที่มีอาการและเช็ดผิวให้แห้งก่อนทายา
- หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วสัมผัสผิวหนังใกล้กับดวงตา ภายในปากและจมูก หากตัวยาสัมผัสโดนบริเวณดังกล่าว ควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที และควรไปพบแพทย์หากเกิดการระคายเคือง เช่น เกิดรอยแดงหรือรู้สึกแสบมาก
- ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดทับหลังทายา และไม่ควรแต่งหน้าขณะที่ยายังไม่แห้งดี
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ มะนาว เครื่องเทศ สารสมานผิว (Astringents) และสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันกับที่ใช้ Azelaic Acid
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร้อน อาหารรสเผ็ดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดรอยแดงบนผิวได้ง่าย
- หากผู้ป่วยลืมทายา ให้ทาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปทาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 เดือนหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นหลังการใช้ เนื่องจากอาการมักดีขึ้นในระยะเวลา 1 เดือนหลังการใช้ Azelaic Acid
- หากผู้ป่วยกลืน Azelaic Acid หรือใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายได้
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความชื้น ความร้อน แสงแดดและอากาศเย็นจัด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและควรปิดฝาให้สนิท
ผลข้างเคียงจากการใช้ Azelaic Acid
โดยทั่วไป Azelaic Acid อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น แสบ ปวดหรือเจ็บแปลบ คัน ผิวแห้ง เป็นสะเก็ด เกิดรอยแดง และเกิดการระคายเคือง หากอาการแย่ลงหรือมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
- มีอาการแพ้ยา ส่งผลให้มีผื่นลมพิษ ใบหน้า ลิ้นและคอบวม และหายใจลำบาก
- แสบ คัน เจ็บแปลบ ผิวแดง แห้งหรือลอกอย่างรุนแรง
- เกิดแผลเปิด
- ผิวเปลี่ยนสี
- ตามัว
- มีไข้
- หัวใจเต้นเร็ว
- มีปัญหาด้านการหายใจ
- ปวดหรือบวมบริเวณข้อ หรือมีภาวะข้อติด