กระจกตาอักเสบ

ความหมาย กระจกตาอักเสบ

กระจกตาอักเสบ (Keratitis) คือ การอักเสบที่เนื้อเยื่อกระจกตา ซึ่งเป็นส่วนที่คลุมม่านตาและรูม่านตาไว้ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือการบาดเจ็บของกระจกตา ซึ่งทำให้มีอาการตาแดงหรือเจ็บตา โดยเกิดขึ้นบ่อยกับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ

Keratitis

อาการของกระจกตาอักเสบ

โดยทั่วไป กระจกตาอักเสบมักมีอาการ ดังนี้

  • ตาแดง ปวดตา
  • ตาบวม ตาแห้ง ระคายเคืองตา
  • ตาไวต่อแสงหรือตาแพ้แสง
  • ตามัว มีน้ำตาหรือของเหลวอื่น ๆ ไหลออกมาจากตา
  • ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง
  • รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่ในตา
  • มีอาการเจ็บเมื่อลืมตา หรือไม่สามารถลืมตาได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการของกระจกตาอักเสบควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ เพราะหากปล่อยไว้นานอาจเกิดอันตรายจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้นได้

สาเหตุของกระจกตาอักเสบ

กระจกตาอักเสบนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการบาดเจ็บที่กระจกตา ดังนี้

การติดเชื้อ

  • การปนเปื้อน เช่น เล่นน้ำที่มีสารเคมีปนเปื้อนก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและระคายเคืองที่กระจกตาได้ เป็นต้น
  • การติดเชื้อรา เป็นสาเหตุที่พบได้ยาก แต่อาจเกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ และการติดเชื้อราที่อยู่ตามบริเวณต่าง ๆ
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นการติดเชื้อ 2 ประเภท คือ Pseudomonas Aeruginosa (ซูโดโมแนส แอรูจิโนซ่า) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดจากคอนแทคเลนส์ และ Staphylococcus Aureus (สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไป
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม อีสุกอีใส ไข้หวัดทั่วไป เป็นต้น โดยหากเกิดอาการป่วยก็ควรล้างมือให้สะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา
  • การติดเชื้อปรสิต Acanthamoeba (โรคติดเชื้อจากอะมีบา) ซึ่งพบได้ทั่วไปในอากาศ น้ำประปา และในดิน

สาเหตุอื่น ๆ

  • การบาดเจ็บที่กระจกตา ซึ่งอาจเกิดจากการขยี้ตา มีวัตถุกระแทกตาหรือกระเด็นเข้าตาจนเกิดรอยขีดข่วนที่ผิวกระจกตา
  • การใส่คอนแทคเลนส์ หากใส่คอนแทคเลนส์แต่ละครั้งเป็นเวลานานจนเกินไปก็อาจเสี่ยงเกิดกระจกตาอักเสบได้
  • การเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มีอาการตาแห้ง เปลือกตาผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หรือมีภาวะขาดวิตามินเอ เป็นต้น
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือการรักษาด้วยรังสีบำบัดก็อาจส่งผลให้เกิดกระจกตาอักเสบได้
  • ปัจจัยภายนอก เช่น จ้องแสงสว่างนานเกินไปก็อาจทำให้กระจกตาอักเสบได้ เป็นต้น

การวินิจฉัยกระจกตาอักเสบ 

หากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ที่สงสัยว่าเป็นการอักเสบที่กระจกตา แพทย์จะซักอาการต่าง ๆ ตรวจดวงตา และอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  • ความคมชัดในการมองเห็น โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยมองรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ
  • การตอบสนองของดวงตาต่อแสง โดยใช้แสงตรวจดูการตอบสนองของดวงตา ความแตกต่าง หรือตรวจหาข้อบกพร่องของรูม่านตา
  • ทดสอบด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่าง Slit Lamp ซึ่งเป็นการใช้แสงร่วมกับกล้องจุลทรรศน์ขยายโครงสร้างภายในตาจนเห็นถึงม่านตา เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นจุดที่ผิดปกติได้ใกล้และชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • เก็บตัวอย่างน้ำตาหรือเซลล์จากกระจกตา เพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป

การรักษากระจกตาอักเสบ

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตาได้ โดยหากเป็นอาการบาดเจ็บที่กระจกตาเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากอาการรุนแรงอย่างปวดตาหรือมีประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง แพทย์จะทำการรักษา โดยอาจมีวิธีดังต่อไปนี้

  • การใช้ยาต้านเชื้อรา อาการกระจกตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อรามักใช้ทั้งยารับประทานและยาหยอดตาในการรักษา
  • การใช้ยาต้านไวรัส ยาต้านไวรัสจะมีทั้งแบบรับประทานและแบบหยอดตา โดยแพทย์อาจสั่งทั้ง 2 อย่างเพื่อรักษาควบคู่กัน
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้กับการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งหากไม่รุนแรงมากก็อาจใช้เพียงยาหยอดตาเท่านั้น แต่หากเกิดการติดเชื้อแบบปานกลางถึงรุนแรงก็ควรรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ
  • การผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอักเสบรุนแรงจนสูญเสียการมองเห็น ซึ่งแพทย์อาจต้องผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของกระจกตาอักเสบ

หากมีการติดเชื้ออักเสบรุนแรงหรือรับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อที่กระจกตา การอักเสบเรื้อรัง อาการตาบวม และเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลงชั่วคราวหรือถาวรได้

การป้องกันกระจกตาอักเสบ

สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ สิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันอาการกระจกตาอักเสบ คือ ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม ไม่ใช้น้ำเปล่าหรือน้ำที่มีการเจือจางสารอื่น ๆ เพื่อล้างคอนแทคเลนส์ เมื่อใส่คอนแทคเลนส์อาจต้องใช้ยาหยอดตาเพื่อป้องกันอาการตาแห้งและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เปลี่ยนคอนแทคเลนส์ทุกวันหรือทุก 3-6 เดือน ซึ่งอาจแตกต่างกันตามชนิดของคอนแทคเลนส์ที่ใช้ เก็บรักษาคอนแทคเลนส์ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดเสมอ อีกทั้งขณะว่ายน้ำหรือก่อนนอนก็ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อน ส่วนผู้ที่มีอาการอักเสบของกระจกตาอยู่ก็ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์

สำหรับคนทั่วไป อาจป้องกันกระจกตาอักเสบได้ด้วยวิธีการดังนี้

  • ป้องกันการบาดเจ็บที่ดวงตาด้วยการสวมแว่นกันแดด
  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ดวงตาได้
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสดวงตา
  • ในกรณีที่ตาแห้ง ควรใช้ยาหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม