กระดูกซี่โครงหัก (Broken Ribs)

ความหมาย กระดูกซี่โครงหัก (Broken Ribs)

กระดูกซี่โครงหัก (Broken Ribs) คืออาการแตกหักของกระดูกในบริเวณทรวงอก มักมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บบริเวณหน้าอก เช่น หกล้มหรือตกจากที่สูง อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือการกระแทกขณะเล่นกีฬา ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีเพียงกระดูกซี่โครงร้าวมักหายดีได้เองภายใน 1-2 เดือน ทว่าบางรายอาจกระดูกหักเป็น 2 ท่อน แล้วปลายกระดูกที่หักทิ่มแทงอวัยวะภายใน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดใหญ่และอวัยวะภายในอย่างปอดได้ 

โดยทั่วไปกระดูกซี่โครงของคนจะอยู่ในบริเวณส่วนอก มีทั้งหมด 12 คู่ ช่วยปกป้องอวัยวะภายในทรวงอกอย่างหัวใจหรือปอด การแตกร้าวของกระดูกส่วนนี้สามารถเกิดได้ในหลาย ๆ จุดพร้อมกัน อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาได้ด้วยการเข้าเฝือกเหมือนกระดูกส่วนอื่น ๆ จึงต้องปล่อยให้อาการดีขึ้นเอง ร่วมกับการรับประทานยาหรือการฝึกการหายใจภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล  

กระดูกซี่โครงหัก

อาการของกระดูกซี่โครงหัก

ผู้ป่วยกระดูกซี่โครงหักมักมีอาการเจ็บปวดในบริเวณที่กระดูกซี่โครงแตกร้าวหรือหัก และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ กดโดนบริเวณทรวงอก รู้สึกเจ็บขณะไอหรือหัวเราะ ขณะอยู่ในท่าก้ม บิด หรืองอตัว นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ เช่น อาการบวมในบริเวณจุดที่มีกระดูกซี่โครงหัก เกิดรอยช้ำที่ผิวหนัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยกดบริเวณซี่โครงแล้วรู้สึกเจ็บหลังเกิดอุบัติเหตุ หายใจลำบาก หรือเจ็บขณะหายใจเข้าลึก ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ ในกรณีที่รู้สึกแน่นหน้าอก อึดอัดที่หน้าอก ปวดบีบที่กลางอกนานหลายนาที อาการเจ็บบริเวณหน้าอกลามไปยังหัวไหล่หรือแขนควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรงอย่างภาวะหัวใจขาดเลือด

สาเหตุของกระดูกซี่โครงหัก

กระดูกซี่โครงหักหรือร้าวส่วนมากมักเป็นผลจากการได้รับแรงกระแทกที่รุนแรงและฉับพลัน เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การตกจากที่สูง การทำร้ายร่างกาย การเล่นกีฬาที่ใช้การกระแทกอย่างฟุตบอลหรือมวยไทย การเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวในรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ อย่างการหวดไม้กอล์ฟหรือไม้พายเรือ การปั๊มหัวใจ การไออย่างแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น โดยมีปัจจัยบางประการที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกซี่โครงหักมากขึ้น ดังนี้

  • โรคกระดูกพรุน เนื่องจากผู้ป่วยมีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลง จึงเสี่ยงต่อการแตกหักมากขึ้น
  • เซลล์มะเร็งบริเวณกระดูกซี่โครง ส่งผลให้กระดูกในส่วนนี้อ่อนแอและง่ายต่อการแตกร้าว
  • นักกีฬาหรือผู้เข้าร่วมการแข่งกีฬาเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หน้าอกมากขึ้นโดยเฉพาะกีฬาที่ใช้การกระแทก

การวินิจฉัยกระดูกซี่โครงหัก

ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยสัมผัสหรือกดที่ซี่โครงเบา ๆ ฟังเสียงภายในปอดและสังเกตการเคลื่อนไหวของกระดูกซี่โครงขณะหายใจ ร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

การสร้างภาพถ่ายด้วยรังสี

แพทย์อาจเอกซเรย์บริเวณกระดูกซี่โครงของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูกระดูกจุดที่มีการแตกหักหรือมีรอยร้าว หากภาพที่ออกมายังไม่ชัดเจน อาจพิจารณาให้ทำซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ แสกน (MRI Scan) ซึ่งจะได้ภาพถ่ายของกระดูกที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และอวัยวะโดยรอบที่ได้รับผลกระทบด้วย

การสแกนกระดูก 

วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กระดูกซี่โครงค่อย ๆ ปริแตกจากการบาดเจ็บซ้ำ ๆ หรือมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่หลอดเลือดของผู้ป่วยในปริมาณเล็กน้อยก่อนจะให้สแกนร่างกาย ซึ่งสารดังกล่าวจะไปจับบริเวณกระดูกซี่โครงที่เกิดการแตกหักหรือมีรอยร้าว ทำให้ภาพที่ได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

การรักษากระดูกซี่โครงหัก

ปกติแล้ว ผู้ที่มีกระดูกซี่โครงหักมักมีอาการดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน ฉีดยาชาที่ออกฤทธิ์นานบริเวณเส้นประสาทของกระดูกซี่โครง ให้ผู้ป่วยหายใจลึก ๆ หรือฝึกการหายใจเพิ่มเติม เพื่อลดอาการหายใจตื้นที่อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะปอดอักเสบ 

ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรดูแลและระมัดระวังตัวให้มาก เพื่อให้กระดูกซี่โครงที่แตกหักนั้นหายดีได้เร็วขึ้น โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • หยุดเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือยกของหนักสักระยะหนึ่งจนกว่ากระดูกซี่โครงที่หักจะผสานตัว
  • ประคบเย็นในจุดที่มีอาการปวดบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันแรก เพื่อลดอาการบวม
  • ไม่พันผ้าหรืออุปกรณ์ใด ๆ บริเวณหน้าอก เพราะอาจทำให้หายใจลำบากยิ่งขึ้น
  • หากต้องการไอ ให้ไอตามปกติ เพราะจะช่วยลดเสมหะภายในปอด และป้องกันการติดเชื้อในปอดได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยพยายามนอนในท่านั่งหรือลำตัวตั้งขึ้นในช่วง 2-3 วันแรก ไม่นอนราบลงไปกับพื้นนาน ๆ 
  • งดสูบบุหรี่จนกว่าอาการจะดีขึ้น  

อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอย่างกระดูกซี่โครงที่หักทิ่มทะลุปอดอาจจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือการผ่าตัดเพิ่มเติม เพื่อระบายลมและเลือดที่คั่งอยู่ภายในปอด ในบางรายอาจต้องใช้แผ่นเหล็กดามกระดูก เพื่อยึดกระดูกที่หักไว้ด้วยกัน 

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกซี่โครงหัก

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกซี่โครงหักจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการแตกหักและความรุนแรงของอาการ โดยความแหลมคมหรือขรุขระของปลายกระดูกซี่โครงที่หักอาจส่งผลต่อหลอดเลือดหรืออวัยวะภายในได้ เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาฉีกขาดหรือทะลุ ปอดทะลุ ม้าม ตับ หรือไตฉีกขาด เป็นต้น    

การป้องกันกระดูกซี่โครงหัก

กระดูกซี่โครงหักนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิต เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันขณะเล่นกีฬาที่ต้องมีการกระแทก สวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดขณะขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ เก็บกวาดและจัดบ้านให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม ติดตั้งแผ่นกันลื่นตามจุดเสี่ยงของบ้านอย่างในห้องน้ำหรือใต้พื้นพรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังสามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี โดยปริมาณที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัยและโรคประจำตัว จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนหรือมะเร็งบางชนิด อาจลดความเสี่ยงของกระดูกซี่โครงหักได้ด้วยการไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาโรคนั้น ๆ และขอคำปรึกษาในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี