กระดูกสันหลังหัก (ฺFracture of the spine)

ความหมาย กระดูกสันหลังหัก (ฺFracture of the spine)

กระดูกสันหลังหัก (ฺFracture of the spine) เป็นอาการบาดเจ็บของกระดูกที่อยู่บริเวณแกนกลางของร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะสุขภาพบางประการอย่างโรคกระดูกพรุน หรือการประสบอุบัติเหตุที่หลังอย่างรุนแรง กระดูกสันหลังหักสามารถรักษาได้ด้วยการใส่อุปกรณ์ค้ำยันในกรณีที่ไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่รุนแรงก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

กระดูกสันหลังประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 33 ชิ้น แบ่งเป็นกระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนอก และส่วนเอว ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องไขสันหลัง และเป็นแกนกลางของร่างกายที่คอยรองรับแขนและขา หากกระดูกสันหลังหักควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หลายประการ เช่น ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก หรืออาจส่งผลต่อการยืนหรือการเดินอย่างถาวร

กระดูกสันหลังหัก (ฺFracture of the spine)

อาการกระดูกสันหลังหัก

อาการกระดูกสันหลังหักที่เกิดจากภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคกระดูกพรุน อาจสังเกตได้ยากกว่าอาการกระดูกสันหลังหักที่เกิดจากการประสบอุบัติเหตุ ทำให้ในบางกรณีผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่ากระดูกสันหลังหัก อย่างไรก็ตาม เมื่อกระดูกสันหลังหักจะปรากฏอาการต่าง ๆ ที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • เกิดอาการปวดหลังอย่างรุนแรง และมักปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย
  • บริเวณกระดูกสันหลังอาจเกิดอาการบวมจนสังเกตได้ เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • รู้สึกเสียวแปลบหรือชาบริเวณหลัง และอาจรวมถึงบริเวณแขนหรือขาด้วย
  • แขนขาอ่อนแรง โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังด้วย
  • หลังค่อมผิดปกติ หรือสามารถสังเกตได้ว่าส่วนสูงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
  • ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะหรืออุจจาระได้ตามปกติ

นอกจากนี้ กระดูกสันหลังหักอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในส่วนอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปวดสะโพก อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด รวมถึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น หายใจลำบาก ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุของกระดูกสันหลังหัก

กระดูกสันหลังหักสามารถเกิดขึ้นได้จากอาการบาดเจ็บทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา หรือการตกจากที่สูง รวมถึงในกรณีของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน ก็สามารถเกิดอาการกระดูกสันหลังหักแบบกดทับได้ง่ายด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยหรือเงื่อนไขสุขภาพบางประการ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกเปราะบาง และอาจนำไปสู่การเกิดอาการกระดูกสันหลังหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น 

  • เพศหญิง โดยเฉพาะเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน 
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  • ผู้ที่มีภาวะขาดแคลเซียมหรือขาดวิตามินดี 
  • ผู้ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง
  • ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี 

การวินิจฉัยกระดูกสันหลังหัก

ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยอาการกระดูกสันหลังหักด้วยการสอบถามอาการและตรวจร่างกายบริเวณที่มีอาการปวด บวม ฟกช้ำ กดแล้วเจ็บ หรือกระดูกผิดรูปเกิดขึ้น จากนั้นจะทำการเอกซเรย์ (X–Ray) เพื่อดูตำแหน่งและลักษณะการหักของกระดูกสันหลัง รวมถึงตรวจสอบว่ามีกระดูกในส่วนอื่นหักด้วยหรือไม่

หากมีกระดูกส่วนอื่นหักหรือเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงบาดเจ็บร่วมด้วย แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) หรือซีทีสแกน (CT scan) เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถดูลักษณะอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง เนื้อเยื่อและเส้นประสาทโดยรอบกระดูกสันหลัง รวมถึงไขสันหลังได้อย่างชัดเจนมากกว่า 

การรักษากระดูกสันหลังหัก

วิธีการรักษากระดูกสันหลังหักอาจแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังหัก ตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่หัก และความรุนแรงของกระดูกสันหลังที่หัก การรักษากระดูกสันหลังหักส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ใช้เพียงแค่การใส่สายรัดพยุงหลัง การทำกายภาพบำบัด หรือการรักษาด้วยยาเท่านั้น แต่หากกระดูกสันหลังหักอย่างรุนแรง ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

การรักษากระดูกสันหลังหักด้วยวิธีการต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน ดังนี้

การใส่สายรัดพยุงหลัง

การใส่สายรัดพยุงหลังใช้รักษาอาการกระดูกสันหลังหักที่ไม่รุนแรง โดยเป็นการช่วยยึดกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวเดียวกัน เพื่อให้กระดูกสันหลังสามารถสมานตัวและหายด้วยตัวเอง โดยผู้ป่วยอาจจำเป็นที่จะต้องใส่สายรัดพยุงหลังเป็นเวลา 2–3 เดือน หรือนานกว่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์

การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลัง ทำให้ร่างกายไม่สูญเสียมวลกระดูกไปง่าย ๆ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกระดูกสันหลังหักตามมา อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัดอาจทำควบคู่ไปกับการใส่สายรัดพยุงหลัง หรือทำหลังจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังก็ได้เช่นเดียวกัน

การรักษาด้วยยา

ยาที่ใช้รักษาอาการกระดูกสันหลังหักมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาในกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) สำหรับบรรเทาอาการปวดจากกระดูกสันหลังหัก ยาสำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน เช่น ยาแคลซิโทนิน (Calcitonin) รวมถึงอาหารเสริมแคลเซียม สำหรับป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายของกระดูก ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอาการกระดูกสันหลังหักเพิ่มเติมในอนาคตได้

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่กระดูกสันหลังหักอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก หรืออาจมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อไขสันหลัง โดยการผ่าตัดจะมีหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดแบบฉีดซีเมนต์เหลวเข้าไปเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กระดูกสันหลัง การผ่าตัดใส่เครื่องมือเพื่อเชื่อมกระดูกสันหลังที่หักเข้าด้วยกัน รวมถึงการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกในกรณีที่เนื้องอกเป็นสาเหตุให้กระดูกสันหลังหักด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกสันหลังหัก

อาการกระดูกสันหลังหักที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรงและส่งผลให้การเคลื่อนไหวร่างกายถูกจำกัดลงไปด้วย เมื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายในหลากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องผูก เส้นเลือดตีบตัน ปอดอักเสบ แผลกดทับ ไปจนถึงการเกิดภาวะพิการได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น อาการกระดูกสันหลังหักที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลาผ่านไปจะส่งผลให้กระดูกผิดรูปและทำให้หลังค่อมอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

การป้องกันกระดูกสันหลังหัก

กระดูกสันหลังหักมักมีสาเหตุมาจากการประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างถาวร หรือเกิดจากภาวะสุขภาพที่ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวจนผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตตัวเอง อย่างไรก็ตาม วิธีต่อไปนี้อาจช่วยระมัดระวังและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการกระดูกสันหลังหักได้ เช่น

  • ขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวังและคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่โดยสารรถยนต์
  • อบอุ่นร่างกายและคูลดาวน์ก่อนและหลังการเล่นกีฬาเพื่อยืดกล้ามเนื้อ สวมอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงจัดระเบียบร่างกายให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องเมื่อเล่นกีฬา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บ
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินซี และวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กระดูกและข้อ รวมถึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วย
  • หลีกเลี่ยงการปีนป่ายที่สูงโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงระมัดระวังในการเดินหรือวิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มตามมา
  • ในกรณีของผู้ที่มาอายุมากกว่า 50 ปี ควรหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อดูความหนาแน่นของมวลกระดูก รวมถึงภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อกระดูก