ความหมาย กระดูกไหปลาร้าหัก (Broken Collarbone)
กระดูกไหปลาร้าหัก เป็นอาการบาดเจ็บของกระดูกที่เชื่อมระหว่างกระดูกหน้าอกส่วนบนและหัวไหล่ มักเกิดขึ้นเมื่อประสบอุบัติเหตุที่ทำให้ได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหัวไหล่ หรือเมื่อหกล้มแล้วใช้แขนค้ำยันพื้น ทำให้เกิดแรงกดมากจนส่งผลให้กระดูกหัก เช่น หกล้ม เกิดอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาหรือขับขี่ยานพาหนะ
กระดูกไหปลาร้าหักเกิดได้บ่อยในคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยชรา เนื่องจากว่ากระดูกไหปลาร้าจะสมบูรณ์แข็งแรงเมื่ออายุ 20 ปี และจะเสื่อมสภาพลงเมื่อถึงวัยชรา จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหัวไหล่ ทำให้กระดูกไหปลาร้าหักได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น นอกจากนี้ กระดูกไหปลาร้าหักอาจเกิดกับเด็กแรกเกิดในระหว่างการคลอดธรรมชาติได้ด้วย
อาการกระดูกไหปลาร้าหัก
เมื่อกระดูกไหปลาร้าหักจะปรากฏอาการต่าง ๆ เช่น
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่มากจนทำให้ขยับแขนได้ลำบาก
- มีอาการบวมที่หัวไหล่หรือบริเวณใกล้เคียง
- มีรอยฟกช้ำเกิดขึ้น เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ
- หัวไหล่คล้อยลงไปด้านหน้า
- บริเวณเหนือกระดูกที่หักเกิดการผิดรูป
- มีเสียงกระดูกเสียดสีกันเมื่อขยับหัวไหล่
- ในเด็กแรกเกิดที่กระดูกไหปลาร้าหักจะไม่สามารถขยับแขนได้เป็นเวลาหลายวัน
คนที่กระดูกไหปลาร้าหักจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะหากได้รับการรักษาล่าช้าอาจส่งผลให้กระดูกสมานตัวได้ไม่ดีหรือกระดูกสมานติดกันแบบผิดรูปได้
สาเหตุของกระดูกไหปลาร้าหัก
กระดูกไหปลาร้าหักมักเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยอาจเป็นการกระแทกโดยตรงเข้าที่กระดูกไหปลาร้า หรือแรงกระแทกจากแขนหรือไหล่ เช่น ใช้แขนค้ำยันพื้นขณะหกล้ม หกล้มหัวไหล่กระแทกพื้นอย่างรุนแรง เกิดอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาหรือขับขี่ยานพาหนะ
นอกจากนี้ การทำคลอดด้วยวิธีทางธรรมชาติ หรือเกิดภาวะคลอดยากที่ทำให้แพทย์ต้องใช้แรงหรือเครื่องมือในการดึงเด็กออกมาจากช่องคลอด ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกระดูกไหปลาร้าหักในเด็กแรกเกิดได้เช่นเดียวกัน
การวินิจฉัยกระดูกไหปลาร้าหัก
การหักของกระดูกไหปลาร้าเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อนจะเป็นการหักเพียงจุดเดียวหรือเป็นการหักที่กระดูกไม่ได้เคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม ส่วนในรูปแบบที่ซับซ้อนจะเป็นการที่กระดูกหักออกเป็นหลายชิ้นหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม
ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูบริเวณที่มีอาการปวด บวม ฟกช้ำ หรือกระดูกผิดรูป จากนั้นจะมีการเอกซเรย์ (X–Ray) เพื่อดูตำแหน่งและลักษณะการหักของกระดูก และตรวจสอบว่ามีกระดูกในส่วนอื่นหักด้วยหรือไม่
หากมีกระดูกส่วนอื่นหักหรือเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงบาดเจ็บร่วมด้วย แพทย์อาจใช้การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถดูลักษณะการหักของกระดูกได้ชัดเจนกว่า
การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก
กระดูกไหปลาร้าสามารถเชื่อมสมานได้เองตามธรรมชาติหากกระดูกที่หักไม่ได้เคลื่อนออกไปจากตำแหน่งเดิมมาก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเสมอไป แต่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงและส่งผลต่อการดำเนินชีวิต โดยก่อนไปพบแพทย์ ผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บให้น้อยที่สุด และปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยลดความเจ็บปวด
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อคิดว่ากระดูกไหปลาร้าหักควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนเพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขนและหัวไหล่ ถ้าหากไม่มีให้นำเสื้อหรือผ้าขนหนูมาทำเป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงแขนชั่วคราว
- ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดและบวม
- หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซน (Naproxen) แต่คนที่มีโรคประจำตัวควรระมัดระวังในการใช้ยา เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่มีอยู่
วิธีการรักษาโดยแพทย์
การหักของกระดูกไหปลาร้าแต่ละรูปแบบจะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันออกไป เช่น
การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงแขน
การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนจะใช้ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าที่หักไม่ได้เคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของแขนและหัวไหล่รอให้กระดูกที่หักสมานตัวตามธรรมชาติ ซึ่งระยะเวลาของการใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอาการบาดเจ็บ
โดยปกติแล้วกระดูกจะใช้เวลาในการสมานตัว 3–6 สัปดาห์ในเด็ก และใช้เวลา 6–12 สัปดาห์ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กทารกสามารถรักษาได้เพียงการบรรเทาความเจ็บปวดและดูแลด้วยความระมัดระวัง
การรับประทานยาบรรเทาอาการปวด
แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวดทั่วไป เพื่อลดอาการปวดและอักเสบในระหว่างรอให้กระดูกที่หักสมานตัว ในกรณีที่มีอาการปวดมากแพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์ ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้ระงับอาการปวดระดับปานกลางไปถึงรุนแรง แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่อาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติด
การทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดเป็นการฝึกเคลื่อนไหวแขนเพื่อช่วยลดอาการฝืดที่บริเวณหัวไหล่และข้อศอกในขณะที่ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงแขน และหลังจากถอดอุปกรณ์ช่วยพยุงแขนแล้ว แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอาจจะแนะนำวิธีการออกกำลังกายเพิ่มเติม เพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และเสริมความยืดหยุ่นของข้อต่อกระดูก
การผ่าตัด
การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าหักอย่างรุนแรง เช่น หักออกเป็นหลายชิ้น หักเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมมาก หักทิ่มออกมานอกผิวหนัง หรือส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดหรือเส้นประสาท
การผ่าตัดจะใช้วิธีใส่แผ่นโลหะและสกรูยึดชิ้นส่วนกระดูกที่หักออกให้อยู่ในตำแหน่งเดิม เพื่อให้กระดูกสมานตัวเองตามธรรมชาติ ภายหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูการสมานของกระดูกจนกว่าจะหายดี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกไหปลาร้าหัก
ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าหักและเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม อาจเกิดภาวะกระดูกติดผิดรูป (Malunion) คือการที่ชิ้นส่วนกระดูกที่หักสมานตัวผิดไปจากตำแหน่งเดิม หรือภาวะกระดูกต่อไม่ติด (Nonunion) ซึ่งอาจจะต้องใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก ขยับแขนไม่สะดวก หรือกระดูกสมานตัวห่างไปจากตำแหน่งเดิมมาก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้สูงอายุ มักจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการสมานตัวของกระดูกตามมาด้วย
การป้องกันกระดูกไหปลาร้าหัก
กระดูกไหปลาร้าหักมักมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน แต่สามารถลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่จะส่งผลให้กระดูกไหปลาร้าหักได้ เช่น
- ขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง และคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่โดยสารรถยนต์
- สวมอุปกรณ์ป้องกันและจัดระเบียบร่างกายให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องเมื่อเล่นกีฬา เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่กระดูกและข้อ