การอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa)

ความหมาย การอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa)

Hidradenitis Suppurativa หรือการอักเสบของต่อมเหงื่อ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในรูขุมขนและต่อมเหงื่อ ผู้ป่วยจะมีตุ่มคล้ายสิวเกิดขึ้นบนผิวหนังในระยะเริ่มต้น จากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

แม้ว่าอาการของโรคนี้มักเริ่มที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แต่ก็สามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ในภายหลัง หากพบว่าตนเองมีอาการของ Hidradenitis Suppurativa ควรพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังหรือรุนแรงจนยากต่อการรักษา

A,Patient,Diagnosed,With,Crohn’s,Disease,With,Hidradenitis,Suppurativa,Under

อาการของ Hidradenitis Suppurativa

อาการของ Hidradenitis Suppurativa จะเริ่มจากไม่รุนแรงก่อนแล้วค่อย ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นในภายหลังหากไม่ได้รับการรักษา โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่อไปนี้

  • เกิดรอยแดงหรือตุ่มคล้ายสิวหัวดำขนาดเล็กบนผิวหนัง มักเกิดเป็นตุ่มคู่กัน
  • เกิดก้อนเล็กขนาดเท่าเม็ดถั่วบริเวณผิวหนัง ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บ เมื่อเกิดตุ่มแรกขึ้น ตุ่มอื่น ๆ อาจจะเกิดขึ้นตามมาบริเวณใกล้เคียงกัน โดยอาจกลายเป็นแผลเปิดหรือหายไปเองในเวลา 2–3 วัน แต่บางรายอาจคงอยู่หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
  • เกิดช่องคล้ายโพรงเชื่อมจากตุ่มใต้ผิวหนัง ก่อนจะเป็นแผลปะทุและมีหนองไหลออกจากแผลหรือทำให้แผลมีกลิ่น รวมทั้งอาจเกิดรอยแผลเป็น การเกิดซ้ำและอาจเกิดการติดเชื้อได้

Hidradenitis Suppurativa มักพบในบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีบ่อยหรือบริเวณที่มีรูขุมขน มีต่อมเหงื่อและความมันของผิว ได้แก่ ต้นขาด้านใน แก้มก้น ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ และรอบทวารหนัก นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการในบริเวณอื่นของร่างกายเนื่องจากการลุกลามของโรค เช่น ใบหน้า ต้นคอ ข้อมือ ลำตัวด้านหลังหรือด้านข้าง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการของโรค รู้สึกเจ็บ เกิดผื่นแดงบ่อย อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์ อาการเกิดขึ้นในหลายบริเวณของร่างกาย หรือมีอาการของ Hidradenitis Suppurativa เกิดซ้ำหลังการรักษา ควรพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะการรักษาตั้งแต่อาการของ Hidradenitis Suppurativa ยังไม่รุนแรง จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

สาเหตุของ Hidradenitis Suppurativa

Hidradenitis Suppurativa ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถติดต่อกันได้ และไม่ได้มีสาเหตุมาจากการไม่รักษาความสะอาด แต่แพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิด Hidradenitis Suppurativa ได้อย่างแน่ชัด

โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากเซลล์ในรูขุมขนหรือต่อมเหงื่อเจริญเติบโตมากเกินไปเนื่องจากฮอร์โมนบางชนิด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อต่อมเหงื่ออุดตันและอักเสบก็อาจเกิดการฉีกขาดอักเสบจนเป็นแผล

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิด Hidradenitis Suppurativa ได้มากขึ้น ได้แก่ เพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18–29 ปี มีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ เป็นสิว น้ำหนักตัวมาก มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังบางชนิด และสูบบุหรี่

การวินิจฉัย Hidradenitis Suppurativa

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว สอบถามถึงลักษณะอาการและระยะเวลาที่มีอาการ และตรวจผิวหนังในบริเวณที่มีอาการ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากแผล อาจมีการเก็บตัวอย่างของเหลวหรือเนื้อเยื่อจากแผลเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย

การรักษา Hidradenitis Suppurativa

ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการรักษาเฉพาะสำหรับ Hidradenitis Suppurativa แต่จะเน้นไปที่การควบคุมอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอาการของแต่ละคน เช่น

การดูแลตนเอง

ผู้ที่ป่วยด้วยโรค Hidradenitis Suppurativa สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการและชะลอการปะทุของบาดแผลได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ประคบแผลด้วยถุงชาหรือผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นไว้ประมาณ 10 นาทีเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง
  • ทำความสะอาดร่างกายด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดการเกิดกลิ่นจากบริเวณที่มีอาการอักเสบ และไม่ควรขัดถูบริเวณที่เป็นด้วยผ้า แปรงหรือฟองน้ำ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือระคายเคืองผิว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ร้อนหรืออบอ้าว เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้
  • ไม่ควรบีบเค้นสิวหรือบาดแผล และควรหลีกเลี่ยงการกำจัดขนในบริเวณที่มีการอักเสบของผิวหนัง
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้อาการของ Hidradenitis Suppurativa รุนแรงมากขึ้น

การใช้ยา

ยาที่แพทย์ใช้รักษา Hidradenitis Suppurativa จะเป็นยาปฏิชีวนะในรูปของยาทาเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ อย่างยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) และยาเจนตามัยซิน (Gentamicin)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) อย่างยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม หากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดอาการอักเสบ บวมและเจ็บ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีแผลเกิดขึ้นทั่วร่างกาย แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะแบบรับประทานหรือแบบฉีด เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้ในระดับรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาเรตินอยด์แบบรับประทานแทน อย่างยาไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin)

การผ่าตัด

ในกรณีที่แผลของผู้ป่วยเป็นโพรงลึกเข้าไปในผิวหนังและแผลมีขนาดเล็ก แพทย์จะผ่าตัดเพื่อเปิดแผลและระบายหนองออก แต่ผู้ป่วยอาจเกิดอาการอักเสบในบริเวณเดิมได้อีกในอนาคต นอกจากนี้ การใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์อาจนำมาใช้เพื่อรักษาโรคนี้ด้วย

หากผู้ป่วยมีอาการของ Hidradenitis Suppurativa เกิดซ้ำอยู่บ่อยครั้งหรือมีอาการรุนแรง แพทย์อาจผ่าตัดนำก้อนและรูขุมขนส่วนที่อุดตันในบริเวณนั้น ๆ ออกทั้งหมด หรือตัดผิวหนังส่วนที่มีการอักเสบออกและใช้ผิวหนังส่วนอื่นมาปิดปากแผลไว้แทน

ภาวะแทรกซ้อนของ Hidradenitis Suppurativa

ผู้ป่วย Hidradenitis Suppurativa โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในบริเวณที่มีบาดแผล เกิดรอยแผลเป็นหรือผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนสี เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลงเพราะรู้สึกเจ็บบาดแผล โดยเฉพาะบริเวณรักแร้หรือต้นขา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะทางเดินน้ำเหลืองถูกอุดกั้น ส่งผลให้เกิดอาการบวมบริเวณแขน ขาหรืออวัยวะเพศจนส่งผลต่อความมั่นใจ และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าหรือการปลีกตัวจากสังคม

การป้องกัน Hidradenitis Suppurativa

Hidradenitis Suppurativa เป็นโรคที่ยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำทุกวันเพื่อกำจัดแบคทีเรียตามร่างกาย โดยควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน
  • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่สะสมความชื้นหรือเสียดสีกับผิวหนังมากเกินไป
  • ไม่สูบบุหรี่