ความหมาย ขนคุด
ขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน มักพบว่ามีผิวแห้ง เป็นปื้นหยาบ และเป็นตุ่มนูนที่รูขุมขน เวลาลูบไปที่บริเวณดังกล่าวจะให้ความรู้สึกสาก ๆโดยมักเกิดขึ้นบริเวณแขนส่วนบน ต้นขา ก้นหรือแก้ม ปกติจะไม่ทำให้รู้สึกคันหรือเจ็บ
อาการของขนคุด
ขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง
- มักเกิดขึ้นที่แขนส่วนบน ต้นขา แก้มหรือก้น และจะไม่ทำให้เกิดอาการคันและเจ็บ
- บริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มจะมีผิวที่แห้งและหยาบกร้าน
- เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อมีความชื้นในอากาศน้อย มักจะทำให้อาการแย่ลงหรือผิวบริเวณที่เป็นขนคุดแห้งกว่าเดิม
- เมื่อลูบที่ผิวหนังจะทำให้รู้สึกคล้ายกระดาษทราย
เมื่อไรที่ควรพบแพทย์?
โดยปกติอาจไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากอาการที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือเกิดความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อขอคำปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขได้
สาเหตุของขนคุด
ขนคุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในการสะสมของเคราติน (Keratin) โดยเคราตีนเป็นโปรตีนที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการการติดเชื้อหรือป้องกันการดูดซึมสารอันตรายต่าง ๆ ซึ่งการสะสมของเคราตินทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณรูขุมขน จึงทำให้ขนไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติและเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเคราติน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมหรือภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
นอกจากนั้น ผู้ที่มีผิวแห้งมักมีโอกาสเกิดขนคุดได้มาก และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะมีความชื้นในอากาศน้อยและมักทำให้ผิวแห้ง
การวินิจฉัยขนคุด
โดยปกติผู้มีขนคุดไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพราะเป็นภาวะที่ไม่มีความร้ายแรง แต่หากผู้ป่วยมีความต้องการพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยได้โดยการตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการ และไม่มีความจำเป็นต้องมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม
นอกจากนั้น การวินิจฉัยหรือศึกษาอาการของผู้ป่วย จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการเรื้อรัง รวมไปถึงตรวจสอบถึงความจำเป็นในการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอาจมีการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยว่าภาวะขนคุดไม่ได้เป็นโรคติดต่อและไม่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมแต่อย่างใด
การรักษาขนคุด
โดยส่วนใหญ่ เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ขนคุดจะค่อย ๆ หายไปเอง และสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นดูแลรักษาผิวเพื่อทำให้บริเวณที่เป็นขนคุดมีอาการดีขึ้นได้ แต่หากใช้แล้วไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอครีมที่สั่งโดยแพทย์มาใช้ได้ โดยแพทย์อาจจ่ายยาต่อไปนี้
- ครีมยาช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แพทย์จะให้ใช้ครีมยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี กรดแลคติก กรดซาลิไซลิก หรือยูเรีย ซึ่งนอกจากครีมที่มีส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยผลัดและกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป ยังช่วยให้ความชุ่มชื้นและช่วยให้ผิวที่แห้งกร้านมีความนุ่มนวลขึ้น นอกจากนั้น แพทย์จะสามารถแนะนำวิธีการใช้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม กรดที่ผสมอยู่ในครีมเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแดงหรือระคายเคืองต่อผิวได้ ซึ่งจะไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก
- ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แพทย์จะให้ครีมยาวิตามินเอ เช่น ยาเตรทติโนอิน ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเซลล์และป้องกันการอุดกั้นของรูขุมขน อย่างไรก็ตาม ครีมยาชนิดนี้อาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือผิวแห้งได้ และสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร แพทย์จะไม่ให้ใช้หรืออาจเลือกใช้วิธีอื่นรักษาแทน
- ทำเลเซอร์ไอพีแอล (Intense Pulsed Light: IPL) หรือเพาซ์ดายเลเซอร์ (Pulse Dye Laser) จะช่วยในการลดอาการแดงที่ผิวหนัง แต่จะไม่สามารถลดความหยาบหรือผิวที่ขรุขระได้ หรือบางรายอาจแนะนำให้ทำเลเซอร์กำจัดขน
ภาวะแทรกซ้อนของขนคุด
ขนคุดไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญและความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ นอกจากนั้น พบว่าผู้ที่มีอาการขนคุดมักจะมีโรคหรือภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ ด้วย เช่น ผิวหนังอักเสบออกผื่นหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมไปถึงผู้ที่มีสภาพผิวแห้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขนคุดได้มากขึ้น
การป้องกันขนคุด
แม้ไม่สามารถป้องกันการเกิดขนคุดได้ แต่สามารถทำให้อาการหรือรูปลักษณ์ดีขึ้นได้ ด้วยการดูแลผิวไม่ให้แห้งและมีความชุ่มชื้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ไม่ควรเกาบริเวณตุ่มรูขุมขนหรือขัดถูผิวหนังบริเวณที่เป็นขนคุดรุนแรงเกินไป
- เวลาอาบน้ำควรใช้น้ำอุ่นที่อุณหภูมิไม่สูงจนเกินไป และเมื่อต้องอาบน้ำ แช่น้ำ หรือว่ายน้ำ ควรจำกัดเวลาอยู่ในน้ำไม่ให้นานจนเกินไป ประมาณ 10 นาที หรือน้อยกว่า เพราะเมื่ออาบน้ำร้อนหรืออยู่ในน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ไขมันที่ผิวหนังถูกกำจัดไปและทำให้ผิวแห้ง
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่อาบน้ำที่ทำให้ผิวแห้ง โดยสามารถกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้วยผ้าขนหนูหรือฟองน้ำที่ใช้ขัดตัวแทน
- ใช้ครีมบำรุงที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ โดยหลังจากอาบน้ำในขณะที่ผิวกำลังหมาด ๆ สามารถใช้ครีมหรือโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ซึ่งอาจมีส่วนผสม เช่น ลาโนลิน (Lanolin) ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum Jelly) หรือกลีเซอรีน (Glycerine)
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่คับหรือเข้ารูปจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีที่ผิวหนัง