ขนดก

ความหมาย ขนดก

ขนดก คือ ภาวะที่มีขนขึ้นตามร่างกายมากผิดปกติ โดยมักปรากฏตามใบหน้า คอ หลัง หรือต้นขา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น ฮอร์โมน การใช้ยา น้ำหนักตัว หรือความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น โดยภาวะนี้อาจรักษาได้ด้วยการกำจัดขนวิธีต่าง ๆ หรือการใช้ยารับประทานและยาทา แต่ยารักษาขนดกบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง

1536 ขนดก Resized

อาการของขนดก

อาการหลักของขนดก คือ มีขนขึ้นปกคลุมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากผิดปกติ เช่น บริเวณใบหน้า อก คอ หลัง ท้องช่วงล่าง ต้นขา ขาหนีบ หรือก้น เป็นต้น ซึ่งอาจปรากฏเป็นขนเส้นเล็กและบาง และอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น เป็นสิว มีเสียงทุ้ม หน้าอกเล็ก มีมวลกล้ามเนื้อมาก ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาด เป็นต้น

สาเหตุของขนดก

ขนดกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ในหลายกรณีก็ยังไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร โดยสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้ขนดก มีดังนี้

พันธุกรรม ภาวะขนดกอาจเป็นกรรมพันธุ์ที่ส่งผ่านกันทางสายเลือด ซึ่งพบได้ทั่วไปในผู้คนแถบตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเมดิเตอร์เรเนียน

ฮอร์โมน ในช่วงวัยทอง ฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงจนทำให้มีขนบนใบหน้าเพิ่มมากขึ้น และอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนด้วย ซึ่งแม้ร่างกายของผู้หญิงจะสามารถผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ แต่หากมีฮอร์โมนนี้มากเกินไปก็อาจทำให้ขนดก เสียงทุ้ม หรือประจำเดือนมาไม่ปกติได้เช่นกัน โดยมักพบในผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคความผิดปกติของฮอร์โมนอย่าง PCOS กลุ่มอาการ Cushing Syndrome ภาวะเนื้องอกในรังไข่หรือต่อมหมวกไต เป็นต้น

การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดอาจปรับเปลี่ยนระดับฮอร์โมนในร่างกาย จนทำให้ขนขึ้นตามตัวและใบหน้ามากขึ้น โดยยาที่อาจทำให้ขนดก ได้แก่

  • ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์
  • ยาไมนอกซิดิล
  • ยาดานาซอล
  • ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
  • ยากลูโคคอร์ติคอยด์
  • ยาไซโคลสปอริน
  • ยาเฟนิโทอิน
  • ยาฟลูออกซิทีน
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะอ้วน เป็นต้น เพราะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากมีแนวโน้มจะมีขนดก

การวินิจฉัยขนดก

อาการขนดกอาจวินิจฉัยได้โดยสังเกตปริมาณของเส้นขนที่ขึ้นมากผิดปกติ แต่หากปรากฏอาการขนดกและอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจวัดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกาย
  • การทำอัลตราซาวด์หรือซีทีสแกน เพื่อตรวจหาเนื้องอกในต่อมหมวกไตจากภาพฉาย
  • การตรวจหน้าท้องหรือการตรวจภายใน เพื่อหาเนื้องอกในรังไข่

การรักษาขนดก

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ขนดกสามารถรักษาได้ ซึ่งการรักษารวมไปถึงการกำจัดขนส่วนเกิน การชะลอการงอกใหม่ของเส้นขน ร่วมกับการรักษาสาเหตุของขนดก โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

การกำจัดขน อาจทำได้ด้วยตนเอง เช่น การโกน ถอน แว็กซ์ หรือใช้ครีมกำจัดขน เป็นต้น เพื่อลดปริมาณขนส่วนเกินตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ควรกระทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการถอนและการแว็กซ์อาจทำให้เจ็บปวดและเกิดรอยแดงได้ ส่วนใบมีดโกนก็อาจทำให้แสบผิวจนต้องทาครีมให้ความชุ่มชื้นเพื่อบรรเทาอาการด้วย

นอกจากนี้ อาจลองปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำจัดขนด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น อิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นการใช้เข็มสอดลงไปที่รากขนทีละเส้นแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน เพื่อกำจัดขนและป้องกันขนงอกใหม่ หรืออาจทำเลเซอร์กำจัดขนเพราะอาจช่วยกำจัดขนส่วนเกินแบบลึกถึงรากขน เป็นต้น ทั้งนี้ ควรศึกษาแต่ละวิธีให้ดีก่อนตัดสินทำ เพราะบางวิธีอย่างการเลเซอร์อาจทำให้เจ็บปวด ผิวหนังเสียหาย และเกิดแผลเป็นได้

การใช้ยา แพทย์อาจให้รับประทานยาบางชนิดเพื่อปรับสมดุลระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยปรับลดระดับฮอร์โมนเพศชายลงและลดการงอกใหม่ของเส้นขน เช่น ยาคุมกำเนิด และยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เป็นต้น ส่วนยาชนิดอื่น ๆ อย่างยาทาอีฟลอร์นิทีนอาจช่วยชะลอการงอกใหม่ของเส้นขนได้เช่นกัน แต่ยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์หรือการตั้งครรภ์และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง

การลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักอาจช่วยลดระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาขนดกได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาขนดกอาจต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความต่อเนื่อง เพราะอาจต้องใช้เวลาร่วม 2-3 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อนของขนดก

เนื่องจากการมีขนขึ้นมามากกว่าปกติอาจทำให้ภาพลักษณ์ดูผิดแปลกจากคนทั่วไป อาการขนดกจึงอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ ประหม่า หรือซึมเศร้า ส่วนการรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดขณะตั้งครรภ์ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เป็นต้น

การป้องกันขนดก

โดยทั่วไป ยังไม่มีวิธีการใดที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันภาวะขนดกได้ แต่หากขนดกเกิดจากการมีน้ำหนักตัวมาก หรืออยู่ในภาวะ PCOS ก็อาจลดการเพิ่มปริมาณขนได้โดยการลดน้ำหนัก