ขาดวิตามินเอ อาการเป็นแบบไหน ดูแลตัวเองอย่างไร

ขาดวิตามินเอ เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับวิตามินเอในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสาเหตุอาจเกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอไม่เพียงพอ หรือเป็นผลมาจากโรคบางชนิดที่ทำให้การดูดซึมวิตามินเอของร่างกายผิดปกติไป เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคโครห์น (Crohn's Disease) หรือตับแข็ง 

การขาดวิตามินเออาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ เนื่องจากวิตามินเอมีความสำคัญต่อร่างกายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ ผิวหนัง รวมถึงกระบวนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก 

ขาดวิตามินเอ อาการเป็นแบบไหน ดูแลตัวเองอย่างไร

สัญญาณว่าร่างกายขาดวิตามินเอ 

อาการจากภาวะขาดวิตามินเอจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดวิตามินเอ โดยทั่วไปหากขาดวิตามินเอในปริมาณไม่มากก็มักไม่พบอาการใด ๆ หรือมีเพียงอาการอ่อนเพลียเท่านั้น แต่หากร่างกายเริ่มขาดวิตามินเอขั้นรุนแรง สัญญาณแรกที่พบได้บ่อย คือ การมองเห็นในที่มืดแย่ลงหรืออาการตาบอดกลางคืน

นอกจากนี้ ภาวะขาดวิตามินเออาจส่งผลให้เยื่อตาขาวแห้งจนเพิ่มความเสี่ยงให้กระจกตาเกิดแผล หรือเกิดภาวะกระจกตาขุ่นเหลว (Keratomalacia) ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

นอกจากอาการทางดวงตาแล้ว ภาวะขาดวิตามินเออาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ได้ เช่น     

  • อาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง คันผิว ผิวลอก หรือผิวหนังเกิดการอักเสบ 
  • แผลต่าง ๆ หายช้าผิดปกติ
  • ผมแห้ง
  • หากเป็นเด็กอาจพบว่าเด็กมีพัฒนาการและการเติบโตที่ช้าผิดปกติ

ทำอย่างไรเมื่อขาดวิตามินเอ

คนที่มีภาวะขาดวิตามินเอหรือคาดว่าตนเองขาดวิตามินเอ ควรไปพบแพทย์ เพราะการได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มอาจช่วยให้อาการบางอย่างดีขึ้นและหายได้ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งเป็นภาวะที่อาจรักษาให้หายเหมือนเดิมไม่ได้อีกด้วย

หากต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินเอ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องกำหนดปริมาณการบริโภควิตามินเอตามความเหมาะสมของแต่ละคนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอให้เพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดวิตามินเอได้อีกทาง เพราะร่างกายไม่สามารถผลิตวิตามินเอเองได้ และควรเพิ่มการรับประทานไขมันลงไปในอาหารแต่ละมื้อเล็กน้อย เนื่องจากวิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายนำวิตามินเอไปใช้ได้ง่ายขึ้น 

ตัวอย่างแหล่งอาหารที่มีวิตามินเอสูงที่หารับประทานได้ง่าย เช่น

  • ตับเป็นอาหารที่มีวิตามินเอที่ค่อนข้างสูงมาก ให้รับประทานสัปดาห์ละ 1 มื้อ ควบคู่ไปกับอาหารชนิดอื่น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย
  • ปลา โดยเฉพาะปลาทูน่าและแซลมอน 
  • ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือสีส้ม เช่น มันเทศ ฟักทอง แครอท มะม่วงสุก มะละกอ แคนตาลูป
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม ชีส โยเกิร์ต
  • ไข่

อย่างไรก็ตาม แม้วิตามินเอจะจำเป็นต่อร่างกาย แต่การได้รับวิตามินเอในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากการหากคุณแม่ได้รับวิตามินเอที่มากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้

ปริมาณวิตามินเอที่เหมาะสม

เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ควรรับประทานวิตามินเอในปริมาณที่เหมาะสม ผู้ใหญ่ทั่วไปให้รับประทานประมาณวันละ 700 ไมโครกรัมสำหรับผู้ชาย และ 600 ไมโครกรัมสำหรับผู้หญิง ส่วนทารกและเด็กให้รับประทานตามปริมาณต่อไปนี้

  • ทารกอายุ 6–11 เดือน รับประทานวันละประมาณ 250 ไมโครกรัม
  • เด็กอายุ 1–8 ปี รับประทานวันละประมาณ 300–350 ไมโครกรัม
  • เด็กอายุ 9–12 ปี รับประทานในปริมาณ 550 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กผู้ชายอายุ 13–18 ปี รับประทานในปริมาณ 750 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กผู้หญิงอายุ 13–15 ปี รับประทานในปริมาณ 700 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กผู้หญิงอายุ 16–18 ปี รับประทานในปริมาณ 600 ไมโครกรัม/วัน

สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อาจจะเพิ่มปริมาณอีกเล็กน้อย โดยผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ให้รับประทานตามช่วงอายุด้านบน และเพิ่มอีกประมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ให้เพิ่มอีก 700 ไมโครกรัม

หากเห็นว่าตนเองเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินเอ และไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอได้ตามปริมาณที่แนะนำ การรรับประทานวิตามินเอในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้เช่นกัน แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้แนะนำปริมาณวิตามินเอที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายแต่ละคน