ความโกรธและผลกระทบต่อสุขภาพที่ต้องระวัง

ความโกรธอาจมีข้อดีที่ทำให้เราได้ระบายความรู้สึกขุ่นมัวในใจและกระตุ้นให้เราหาทางแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น แต่หากรับมือกับอารมณ์โกรธไม่ถูกวิธี เช่น การแสดงอารมณ์โมโหรุนแรงอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและทำร้ายร่างกาย หรือบางคนอาจเก็บอารมณ์โกรธไว้กับตัวเองจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

ความโกรธเป็นอารมณ์ในด้านลบที่ทุกคนต้องเคยเจอ ไม่ว่าจะแค่รู้สึกขุ่นเคืองเล็กน้อยหรือโกรธรุนแรงจนควบคุมได้ยาก ก็สามารถส่งผลกระทบได้ไม่แพ้กัน บทความนี้จึงอยากพูดถึงผลกระทบของความโกรธที่มีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ และวิธีรับมือกับความโกรธอย่างเหมาะสมก่อนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

โรคหัวใจ

ความโกรธส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

เมื่อคนเรารู้สึกโกรธ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มความเครียด (Stress Hormones) เช่น อะดรีนาลิน (Adrenalin) และคอร์ติซอล (Cortisol) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในระยะสั้น ๆ โดยจะเร่งอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจให้เร็วขึ้น เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นกลไกในการป้องกันตัวของร่างกายแบบหนึ่ง 

นอกจากนี้ ความโกรธยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ดังนี้

โรคหัวใจและหลอดเลือด

การหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มความเครียดเป็นปริมาณมากจะส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวเร็วและแรงขึ้น และมีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้นในหลอดเลือดเพื่อเก็บเป็นพลังงาน ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดแข็งตัวกว่าปกติและตีบแคบลง เกิดลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังเส้นเลือด และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคอื่น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ภายในสองชั่วโมงแรกของการระเบิดอารมณ์โกรธออกไปจะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันสมองและเลือดออกในสมองมากถึง 3 เท่า และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 6 เท่าในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง 

นอกจากนี้ ผู้ที่โกรธและโมโหบ่อย ๆ มีแนวโน้มที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายได้ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยโกรธ  

การทำงานของภูมิคุ้มกันต่ำลง

ความโกรธทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงและเจ็บป่วยง่ายขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดไปยับยั้งกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าการคิดถึงแต่เรื่องในอดีตที่ทำให้รู้สึกโกรธ อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง แม้ว่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และคนที่โมโหง่ายอาจมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับทางระบบย่อยอาหาร และระบบทางเดินหายใจมากขึ้น

สุขภาพจิตแย่ลง

ความโกรธอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต โดยคนที่มีความเครียดเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้ และโรควิตกกังวล (Generalized Anxiety Disorder: GAD) ได้ ส่วนคนที่มีโรควิตกกังวลอยู่แล้ว อาจมีอาการแย่ลงกว่าเดิมเมื่อรู้สึกโกรธ โดยเฉพาะคนที่เก็บความรู้สึกโกรธไว้ภายในจิตใจ

หากปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเรื้อรัง อาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร และโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจตนเองหรือผู้อื่น และการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ

เทคนิคระงับความโกรธให้อยู่หมัด

สถานการณ์ที่เผชิญ พื้นเพครอบครัวและวัฒนธรรม เพศ หรือแม้แต่ระดับความเครียดในขณะนั้น ล้วนส่งผลให้คนแสดงปฏิกิริยาต่ออารมณ์โกรธได้หลากหลายรูปแบบ เช่น หงุดหงิด เดินหนี ไม่คุยด้วย ตะโกนโวยวาย ด่าทอ ขว้างปาข้าวของ ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย 

การเลือกแสดงออกในทางที่เหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อร่างกายและความสัมพันธ์มากกว่า เรามีวิธีการระงับความโกรธง่าย ๆ ให้ฝึกทำกัน

  • รู้ทันอารมณ์โกรธของตัวเอง โดยสังเกตอาการที่เป็นอยู่จากความรู้สึกและท่าทาง เช่น ใจเต้นแรง โมโห และหงุดหงิด
  • ตั้งสติ สูดหายใจลึก ๆ ช้า ๆ นับ 1-10 ในใจ หรือเลือกถอยออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธสักระยะก่อนที่จะระเบิดอารมณ์ออกไป
  • ทบทวนและวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ เมื่อใจเย็นขึ้นค่อยกลับมาเผชิญสถานการณ์ เพราะการเลือกพูดหรือระเบิดทุกอย่างออกไปตอนอารมณ์โกรธเดือดดาล อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
  • ฝึกปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นเชิงบวก เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมักมีสองด้านเสมอ ไม่ควรจดจ่อกับปัญหาที่มีจนลืมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ ปล่อยให้ตนเองได้ยิ้มกับเรื่องเล็กน้อยบ้าง การนั่งจมปลักกับความทุกข์และความโกรธนาน ๆ ไม่ช่วยให้พบทางออกของปัญหาแต่อย่างใด
  • ระบายความเครียดที่สะสมด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ อาจช่วยให้รับมือกับความโกรธในระยะยาวได้ดีขึ้น โดยอาจจะเป็นการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลงที่ชอบ

ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ทุกคนมีได้ สิ่งสำคัญคือการรับมือกับความโกรธอย่างไรให้เหมาะสม ไม่กระทบต่อตนเองและผู้อื่น แต่หากไม่สามารถรับมือกับความโกรธได้ด้วยตนเอง ก็ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม