ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพัง

การทำเล็บปลอม (Artificial Nails) เป็นสิ่งที่สาว ๆ หลายคนนิยมทำ บางคนชื่นชอบการตกแต่งลวดลายบนเล็บให้สวยงามตามแฟชั่น หรือบางคนอาจต่อความยาวเล็บเพื่อทำให้นิ้วดูยาวเรียว แม้การทำเล็บปลอมมักไม่ทำให้เล็บของเราเสียหาย แต่การได้รับสารเคมีจากการทำเล็บบ่อยครั้งอาจทำให้เล็บเปราะบาง และในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อที่เล็บได้ 

เล็บปลอมมีหลายชนิดและมักเรียกตามวัสดุที่ใช้ในการทำเล็บ ชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่สาว ๆ ที่ชอบการทำเล็บคือเล็บเจลและเล็บอะคริลิก (Acrylic Nails) ซึ่งมีความสวยงามและทนทานกว่าเล็บปลอมชนิดอื่น ในบทความนี้จะชวนทุกคนมาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทำเล็บปลอมแต่ละแบบ รวมไปถึงข้อควรระวังและวิธีดูแลเล็บให้มีสุขภาพดี

ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพัง

ประเภทของเล็บปลอมที่ควรรู้จัก

เล็บปลอมที่นิยมในปัจจุบันมี 2 ชนิด ชนิดแรกคือเล็บปลอมที่ทำขึ้นจากสารเคมี ได้แก่ การทำเล็บอะคริลิกและเล็บเจล ซึ่งต้องให้ช่างที่มีความชำนาญทำให้ที่ร้านทำเล็บ และอีกชนิดหนึ่งคือเล็บปลอมที่ทำจากพลาสติกซึ่งสาว ๆ หลายคนนิยมซื้อมาติดเอง การทำเล็บปลอมแต่ละชนิดมีวิธีการที่ต่างกันและมีข้อควรระวังที่อาจทำให้เล็บเสียหายได ้ดังนี้ 

เล็บอะคริลิก

เล็บอะคริลิกเป็นเล็บปลอมชนิดหนึ่งที่ทำจากผงอะคริลิกโพลิเมอร์ (Acrylic Polymers) ผสมกับน้ำยาโมโนเมอร์ (Monomer) จนมีลักษณะเป็นเจล โดยช่างทำเล็บจะตะไบหน้าเล็บให้ขรุขระเล็กน้อยเพื่อให้เล็บที่ต่อยึดเกาะเล็บจริงได้ดีขึ้น ทาน้ำยาเชื่อมเล็บ จากนั้นจะนำเจลอะคริลิกที่ผสมมาทาที่บริเวณเล็บ และจัดแต่งรูปทรงตามต้องการ เมื่อทิ้งไว้สักครู่อะคริลิกจะแห้งและยึดเกาะกับเล็บจริง  

โดยปกติแล้ว เล็บอะคริลิกมักอยู่ได้นานประมาณ 2–3 สัปดาห์ หากต้องการให้เล็บสวยงามดังเดิมต้องให้ช่างทำเล็บเติมสีบริเวณโคนเล็บ และการถอดเล็บอะคริลิกออกไม่สามารถแกะออกได้ทันที ต้องแช่เล็บในน้ำยาอะซีโตน (Acetone) เพื่อให้ถอดออกได้ง่าย

เล็บเจล

การทำเล็บเจลคล้ายกับการทาเล็บปกติโดยไม่ได้ใช้วัสดุใด ๆ ติดเพิ่มเติมที่เล็บเหมือนเล็บอะคริลิก แต่น้ำยาทาเล็บที่ใช้จะเป็นชนิดสีเจล ซึ่งต้องอบสีเจลให้แห้งสนิทและคงรูปด้วยเครื่องอบรังสียูวี (UV)  

การทำเล็บเจลจะอยู่ได้นานกว่าการทำเล็บอะคริลิก แต่อาจต้องเติมสีบริเวณโคนเล็บทุก 2–3 สัปดาห์เมื่อเล็บยาวขึ้น และวิธีการล้างเล็บเจลเหมือนกับการถอดล็บอะคริลิกคือต้องแช่นิ้วมือในน้ำยาอะซีโตนก่อน เพื่อให้ล้างสีเจลออกง่ายขึ้น

เล็บปลอมที่ทำจากพลาสติก 

เล็บปลอมที่ทำจากพลาสติกเป็นชุดทำเล็บปลอมสำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีลวดลายอยู่แล้วและราคาไม่แพง เล็บปลอมชนิดนี้เป็นที่นิยมของสาว ๆ เนื่องจากสามารถติดได้ด้วยตัวเองโดยใช้กาวที่มาพร้อมกับเล็บปลอมเป็นตัวเชื่อมติด

ต่อเล็บปลอมอย่างไรให้เล็บไม่พัง

การต่อเล็บปลอมควรให้ช่างที่มีความชำนาญเป็นผู้ทำให้ เพราะการทำเล็บด้วยตัวเองโดยไม่มีความรู้และความเข้าใจในการทำอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายและการติดเชื้อที่เล็บได้ โดยการต่อเล็บปลอมหรือติดเล็บปลอมให้ปลอดภัยมีข้อแนะนำดังนี้

  • เลือกร้านทำเล็บที่จดทะเบียนถูกต้อง รวมทั้งเลือกช่างทำเล็บที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต 
  • บริเวณร้านและอุปกรณ์ที่ใช้ทำเล็บ เช่น ตะไบเล็บ ที่แคะเล็บ และที่ตัดเล็บ ควรผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง หรืออาจนำอุปกรณ์ทำเล็บส่วนตัวไปเอง และช่างทำเล็บควรล้างมือก่อนมาทำเล็บให้เรา
  • ไม่ควรแกะเล็บเจลและเล็บอะคริลิกออกด้วยตัวเอง เพราะจำเป็นต้องใช้น้ำยาสำหรับล้างเล็บปลอมโดยเฉพาะ จึงควรให้ช่างที่มีความชำนาญล้างเล็บให้
  • หากทำเล็บเจล ควรเลือกร้านทำเล็บที่ใช้เครื่องอบเล็บที่ใช้แสง LED แทนเครื่องอบแสงยูวี และทาครีมกันแดดบริเวณมือก่อนทำเล็บเจล
  • หากเป็นไปได้ ควรบอกให้ช่างเว้นการตัดแต่งบริเวณจมูกเล็บ (Cuticle) เพราะอาจทำให้เกิดรอยแยกระหว่างเล็บและเนื้อเยื่อใต้เล็บ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ไม่นำเล็บปลอมชนิดพลาสติกที่หลุดออกไปแล้วมาติดซ้ำโดยไม่ทำความสะอาด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เล็บ
  • ควรเลือกซื้อเล็บปลอมชนิดพลาสติกที่มียี่ห้อน่าเชื่อถือ และผู้ที่ไวต่อสารเคมีในกาวติดเล็บควรสวมผ้าปิดจมูกเมื่อทำเล็บ เพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง
  • ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงเล็บและมืออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังจากล้างเล็บด้วยน้ำยาอะซีโตน
  • หลีกเลี่ยงการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเล็บบ่อย ๆ และควรพักเล็บหลังการต่อเล็บปลอมทุก ๆ 2 เดือน เพื่อลดการสัมผัสกับสารเคมีจากการทำเล็บ
  • หลีกเลี่ยงการทำเล็บหากมีการติดเชื้อราที่เล็บ การต่อเล็บปลอมเพื่อปกปิดการติดเชื้ออาจยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  • หากมีแผลที่เล็บ หรือมีอาการแพ้สารเคมีที่ใช้ในการทำเล็บ เช่น มีผื่นแดง แสบคันบริเวณนิ้วมือ ใบหน้า และลำคอ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

การติดเล็บปลอมเป็นการตกแต่งเล็บให้สวยงามและอยู่ได้นานกว่าการทาเล็บปกติ แต่การสัมผัสสารเคมีจากการทำเล็บบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เล็บเปราะบาง อ่อนแอ และฉีกง่าย นอกจากนี้ หากเกิดรอยแยกระหว่างเล็บจริงและเล็บปลอมอาจเกิดการติดเชื้อ จึงไม่ควรทำเล็บบ่อยเกินไป ควรเลือกร้านที่ได้รับการรับรองและช่างที่เชี่ยวชาญ และหากเกิดการบาดเจ็บ แพ้สารเคมี หรือความผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษา