ความหมาย ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis)
ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบางราย มักส่งผลให้ปวดข้อต่อ ข้อต่อบวม ข้อขัด หรือข้อยึดติด โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันเฉพาะ ทำได้เพียงควบคุมอาการและชะลอการเกิดโรค เพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้สะดวกมากขึ้น
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่อาการมักค่อย ๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาเร็ว อาจลดความเสี่ยงหรือป้องกันข้อต่อเสียหาย ข้อต่อผิดรูป และอาการที่รุนแรงจนขยับข้อต่อไม่ได้
อาการของข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
ผู้ป่วยข้ออักเสบสะเก็ดเงินมักมีอาการเกี่ยวกับข้อต่อที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และอาการจะค่อย ๆ แย่ลงตามกาลเวลา ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน และบางช่วงเวลาอาจมีอาการดีขึ้นหรือแย่ลงได้ชั่วคราว เช่น
- อาการปวดบวมบริเวณข้อต่อทั่วร่างกาย โดยเฉพาะนิ้วมือ นิ้วเท้า และเส้นเอ็น
- ข้อแข็งตึงหลังตื่นนอนในตอนเช้า ข้อต่อผิดรูปเนื่องจากการอักเสบในระยะยาว
- ปวดบริเวณฝ่าเท้าหรือหลังส้นเท้าเนื่องจากเอ็นอักเสบ
- ปวดหัวไหล่ แนวกระดูกสันหลัง และข้อต่อกระดูกเชิงกราน
- เล็บมีลักษณะเปลี่ยนไป ผิวเล็บอาจเป็นหลุมขนาดเล็ก แตก หรือร่นออกจากเนื้อเยื่อใต้เล็บ
- ตาอักเสบ เจ็บตา ตาแดง มองเห็นเป็นภาพเบลอ
- เกิดผื่นโรคสะเก็ดเงินที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่า ข้อศอก หรือหนังศีรษะ
หากผู้ป่วยสะเก็ดเงินมีอาการปวดข้อต่อ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและรับการรักษาโดยเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณการดำเนินโรคสะเก็ดเงินไปสู่โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ในกรณีที่ไม่ได้มีประวัติเป็นโรคสะเก็ด แต่พบสัญญาณของข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เช่น ข้อต่อแข็ง บวม แดง หรือตาแดง ระคายเคืองตา ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
เนื่องจากข้ออักเสบสะเก็ดเงินก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคข้ออักเสบและผิวหนังอื่น ๆ อย่าง โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้นจึงควรไปพบแพทย์เช่นกัน เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
สาเหตุของข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
สาเหตุของข้ออักเสบสะเก็ดเงินยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเป็นผลจากระบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนก่อให้เกิดอาการอักเสบตามมา การถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แผลในปากที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ภาวะอ้วน การบาดเจ็บ หรือกระดูกแตกหัก
โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินมักพบบ่อยในคนที่มีอายุประมาณ 30–55 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงบางประการ เช่น ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินอยู่ก่อน คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
การวินิจฉัยข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยหรือคนในครอบครัว และตรวจร่างกายหาอาการบวมที่ข้อต่อ ความผิดปกติที่เล็บ อาการปวดที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า หรืออาการที่เข้าข่ายโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินอื่น ๆ
จากนั้นแพทย์อาจสั่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้วินิจฉัยผิดพลาดไปเป็นปัญหาสุขภาพอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis) หรือโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) ด้วยวิธีต่อไปนี้
การตรวจเลือด
วิธีนี้จะช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์ให้แม่นยำมากขึ้น โดยอาจใช้ประเมินหรือตรวจหาอาการอักเสบและความรุนแรงของอาการอักเสบ รวมถึงปริมาณกรดยูกริกในเลือด และสารบ่งบอกโรครูมาตอยด์ด้วย
การตรวจด้วยภาพถ่าย
แพทย์อาจใช้การเอกซเรย์ การอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงของข้อต่อหรือเส้นเอ็นภายในร่างกาย
การตรวจน้ำไขข้อ
แพทย์อาจเก็บตัวอย่างจากน้ำไขข้อเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูผลึกยูเรต (Urate Crystals) ซึ่งช่วยแยกวินิจฉัยโรคเก๊าท์หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
การรักษาข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ แต่แพทย์จะเน้นการควบคุมอาการที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ชะลอการโรค รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยพิจารณาให้ใช้ยารักษา การบำบัด หรือการผ่าตัด ซึ่งจะต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน
ตัวอย่างกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เช่น
- ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) จะช่วยบรรเทาปวดและลดอาการอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) แต่ยากลุ่มนี้อาจทำให้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) จะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดได้เช่นกัน โดยมีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หากมีอาการที่ข้อต่อเพียงจุดเดียว แพทย์อาจฉีดยาเข้าข้อต่อโดยตรง ซึ่งมักเห็นผลไวและมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย
- ยากลุ่ม Disease-Modifiying Antirheumatic Drugs (DMARDs) จะเข้าไปยับยั้งอาการอักเสบจากภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการและชะลอการดำเนินโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินเช่น ยาเลฟลูโนไมด์ (Leflunomide) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine)
- ยากลุ่มสารชีวภาพ (Biologics) เช่น ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาอะพรีมิลาสต์ (Apremilast) หรือยาโทฟาซิทินิบ (Tofacitinib) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม DMARDs ไม่ได้ผล โดยจะช่วยกดภูมิคุ้มกัน ทำให้อาการปวดและอักเสบลดลง แต่ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ทั้งนี้ การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การนวด รวมถึงการออกกำลังที่เหมาะสม เช่น เดิน โยคะ ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น ในกรณีที่ข้อต่อถูกทำลายอย่างรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อเทียมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินอาจรุนแรงจนกลายไปเป็นข้ออักเสบสะเก็ดชนิดรุนแรงที่ส่งผลต่อกระดูก (Arthritis Mutilans) ซึ่งจะไปทำลายข้อต่อและเนื้อเยื่อกระดูก โดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ส่งผลให้ข้อต่อและกระดูกในบริเวณดังกล่าวผิดรูป เหยียดและงอนิ้วไม่ได้ หรือพิการอย่างถาวร
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยข้ออักเสบสะเก็ดเงินบางรายยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคคอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
การป้องกันข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินไม่อาจป้องกันได้ แต่หากตนเองป่วยเป็นสะเก็ดเงินหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นสะเก็ดเงินหรือข้ออักเสบสะเก็ดเงินมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจช่วยชะลออาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ การหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะกระดูกและข้อต่อให้แข็งแรง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หาวิธีผ่อนคลายความเครียด อาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินด้วย