คนท้องท้องเสียเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หลายคนต้องรู้สึกเป็นกังวลว่าลูกน้อยในครรภ์จะได้รับผลกระทบใด ๆ หรือไม่ การเรียนรู้ถึงสาเหตุและวิธีรับมือเอาไว้จึงน่าจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์จัดการกับปัญหานี้ได้ดีขึ้น
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการท้องเสียในช่วงที่กำลังครรภ์มักไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อคุณแม่และเด็ก อีกทั้งในหลาย ๆ ครั้ง อาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม อาการท้องเสียในบางลักษณะ เช่น อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นเรื้อรัง หรือท้องเสียอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้คุณแม่เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
สาเหตุที่ทำให้คนท้องท้องเสีย
ปัญหาคนท้องท้องเสียสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ในขณะที่บางสาเหตุอาจเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยของคุณแม่เอง เช่น
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารของคุณแม่บางคนทำงานเร็วหรือช้าลงกว่าปกติจนนำไปสู่อาการท้องเสียได้
- อาหารที่รับประทาน คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์บางคนอาจปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน เช่น อาจจะลองไปรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่อาหารบางชนิดก็อาจส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
- ร่างกายไม่สามารถย่อยสารอาหารบางชนิดได้ คุณแม่บางคนอาจมีปัญหานี้จนเกิดอาการท้องเสียตามมา แม้ว่าสารอาหารดังกล่าวจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายสามารถย่อยได้เป็นปกติอยู่แล้วในช่วงก่อนตั้งครรภ์
- โรคทางระบบย่อยอาหาร เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) โรคโครห์น (Crohn's Disease) โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) หรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)
- การรับประทานอาหารที่บูดหรือเสีย
- ความเครียด
- การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรด
การรับมือเมื่อคนท้องท้องเสีย
ในหลาย ๆ ครั้ง ปัญหาคนท้องท้องเสียมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่มีปัญหานี้ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยของเหลวที่สูญเสียไปและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีอาการท้องเสียอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้ร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีปริมาณใยอาหารที่ไม่สูงมาก เช่น กล้วย ขนมปังขาว ไข่ไก่ หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด และอาหารรสเผ็ด
- หลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว หากคุณแม่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance)
- สำหรับคุณแม่คนไหนที่ต้องการรับประทานยาใด ๆ เพื่อบรรเทาอาการ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาที่ไม่พึงประสงค์
ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาคนท้องท้องเสียในเบื้องต้นเท่านั้น หากคุณแม่มีอาการผิดปกติในลักษณะดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม เช่น อาการท้องเสียรุนแรงหรือนานเกิน 2 วัน มีไข้ อุจจาระปนเลือดหรือมีเยื่อเมือก ปวดท้อง อาเจียนบ่อย เวียนศีรษะ ปากแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อยลง หรือเห็นว่าลูกดิ้นน้อยหรือมากผิดปกติ
นอกจากการดูแลตัวเองเมื่อท้องเสียแล้ว การป้องกันตัวเองจากการอาการท้องเสียก็สำคัญเช่นกัน โดยสิ่งที่คุณแม่ควรทำก็เช่น เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกดี จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม และหากต้องใช้ยาหรืออาหารเสริมใด ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน