ความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ เรื่องควรรู้เพื่อความปลอดภัย

ความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะสุขภาพที่คนท้องหลายคนต้องเผชิญ ซึ่งแม้ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง แต่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะนี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อว่าที่คุณแม่จะได้รับมืออย่างถูกวิธีและรู้จักเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและลูกน้อย

ตั้งครรภ์(ความดันต่ำ)

ความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์เป็นอย่างไร ?

ภาวะความดันโลหิตต่ำ ในระหว่างตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้ หากมีความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายต่อคนท้อง แต่หากความดันโลหิตต่ำมาก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

ความดันโลหิตกับการตั้งครรภ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

การตั้งครรภ์ส่งผลโดยตรงต่อระดับความดันโลหิตของผู้หญิง เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง เป็นสาเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำ โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 คนท้องจึงมักมีอาการหน้ามืดหรือเป็นลม เมื่อยืนนาน ๆ และลุกจากท่านั่งหรือท่านอนเร็วเกินไปในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ ระดับความดันโลหิตของคุณแม่ยังบ่งบอกถึงสุขภาพของตัวเองและลูกในท้อง โดยระดับความดันโลหิตที่สูงเกินไปอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนความดันโลหิตที่ต่ำเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณของการท้องนอกมดลูก ซึ่งอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก ในรายที่มีความดันโลหิตผิดปกติอย่างรุนแรงอาจทำให้แม่และเด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ส่งผลอย่างไรบ้าง ?

ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ได้ดังนี้

  • วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะเวลาลุกหรือนั่ง
  • เป็นลม
  • ไม่มีสมาธิ
  • รู้สึกเหนื่อย
  • คลื่นไส้
  • มองเห็นไม่ชัด
  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • หายใจเร็ว หรือหายใจตื้น
  • ผิวหนังซีดเย็น

นอกจากนี้ ภาวะความดันโลหิตต่ำที่รุนแรงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกวิงเวียนและเสี่ยงหกล้ม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทารก รวมทั้งอาจส่งผลให้อวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย มีอาการช็อก และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น หากคุณแม่มีอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

ภาวะความดันโลหิตไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่เอง แต่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าภาวะดังกล่าวในมารดาอาจส่งผลให้ทารกเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือกระทั่งทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์ ?

ภาวะความดันโลหิตต่ำเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากเกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวเองและทารกในครรภ์จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงหรือชา

ความดันโลหิตต่ำระหว่างตั้งครรภ์รักษาอย่างไร ?

ส่วนใหญ่แล้ว สตรีมีครรภ์ที่มีภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากความดันโลหิตจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากการคลอดบุตร อีกทั้งแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยาในการรักษาภาวะใด ๆ ก็ตามในระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่จำเป็น เพราะตัวยาอาจส่งผลกับทารกได้ แต่หากมีอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำ และคาดว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้คุณแม่เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคุณแม่สามารถบรรเทาอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำได้ดังนี้

  • หากรู้สึกคล้ายจะเป็นลมควรนั่งหรือนอนลงจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการลุกขึ้นนั่งหรือยืนอย่างรวดเร็ว และไม่ควรยืนเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
  • นอนตะแคงซ้าย เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปที่หัวใจมากขึ้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ
  • ดื่มน้ำให้มาก
  • แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ตลอดวัน

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และรับประทานวิตามินเสริมสำหรับคนท้องตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน ทั้งยังเสริมสร้างสุขภาพของแม่และลูกน้อยให้แข็งแรงอีกด้วย

ความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ป้องกันได้อย่างไร ?

ภาวะความดันต่ำระหว่างตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือน และไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ จึงต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์โดยการวัดระดับความดันโลหิตทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ ส่วนตัวคุณแม่เองก็ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ หากมีอาการใด ๆ ที่เข้าข่ายภาวะความดันโลหิตต่ำและอาการเหล่านั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรแจ้งแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป