ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งภาวะนี้อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการคลอด ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์จึงเป็นภาวะที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อทั้งคุณแม่และเด็กในครรภ์
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ การตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก มีแม่ พี่หรือน้องที่เคยมีภาวะนี้ขณะตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์แฝด การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานเมื่อตั้งครรภ์ เคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษหรือภาวะความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหรือเป็นผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์และผู้ที่กำลังรักษาโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานหรือโรคแพ้ภูมิตัวเองก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวเช่นกัน
ภาวะความดันโลหิตสูงอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์และในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่หากภาวะดังกล่าวไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบไหลเวียนโลหิตและเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และเด็กในครรภ์ บทความนี้จึงจะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กัน
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร ?
ภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์อาจทำให้รกขาดเลือด ซึ่งจะส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น
- เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption)
- เกิดภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
- คลอดก่อนกำหนด
- เลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม
- อวัยวะภายในได้รับความเสียหาย
- เกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
- เกิดอาการชักในผู้ที่ตั้งครรภ์
- มีอาการไตวายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ
- ตับอักเสบ
ชนิดของความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ในระหว่างการฝากครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องทำการสังเกตระดับความดันโลหิตอยู่เสมอ ซึ่งชนิดของความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ
ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ (Gestational Hypertension)
ผู้ป่วยภาวะนี้จะมีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ช่วงหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ หรือช่วงใกล้ถึงกำหนดคลอดเท่านั้น โดยจะไม่พบโปรตีนอยู่ในปัสสาวะหรือมีปัญหาที่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์อาจหายไปหลังการคลอด แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น
ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง (Chronic Hypertension)
ผู้ป่วยภาวะนี้จะมีความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์หรือก่อนถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์
ความดันโลหิตสูงเรื้อรังร่วมกับภาวะครรภ์เป็นพิษ (Chronic Hypertension With Superimposed Preeclampsia)
สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการของความดันโลหิตสูงที่แย่ลงร่วมกับการพบโปรตีนในปัสสาวะ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia/Eclampsia)
ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติเป็นภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนและมีภาวะนี้เกิดขึ้นกะทันหันร่วมกับการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะหรือความผิดปกติอื่น ๆ หลังมีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการชักร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยภาวะครรภ์เป็นพิษจะมีอาการปวดหัวอย่างต่อเนื่อง ตามัว มองเห็นจุดดำหรือค่าสายตาเปลี่ยนไป เจ็บบริเวณท้องช่วงบน คลื่นไส้ อาเจียน บวมบริเวณใบหน้าหรือมือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีปัญหาด้านการหายใจ
วิธีป้องกันความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ และยังไม่มีวิธีการตรวจที่สามารถคาดเดาหรือวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้ แต่การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์ ระดับความดันโลหิต และโปรตีนในปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ทราบได้ว่าสุขภาพครรภ์เป็นอย่างไร ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอตลอดการตั้งครรภ์
- รักษาระดับความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติโดยการจำกัดปริมาณในการรับประทานโซเดียม
- ออกกำลังกายเป็นประจำและควรทำกิจกรรมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ควรใช้ยาเสพติด อีกทั้งควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
โดยทั่วไปอาการของความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์จะหายไปภายใน 6 สัปดาห์หลังการคลอด แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของภาวะดังกล่าวอยู่หรืออาจมีอาการเกิดขึ้นหลังการคลอด ซึ่งเป็นอาจเป็นอันตรายและควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การทำตามข้อแนะนำของแพทย์อาจช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และช่วยลดความวิตกกังวลของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ได้