ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) ทักษะในการรับมือกับอุปสรรคในชีวิต

ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) คือความสามารถในการรับมือเมื่อพบเจออุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ปัญหาครอบครัว การงาน การเงิน โรคภัยไข้เจ็บ และการสูญเสียคนที่รัก คนที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจจะไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าเสียใจหรือท้อแท้หลังเจอปัญหา แต่จะปรับตัวคืนสู่สภาพเดิม และก้าวต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ความยืดหยุ่นทางจิตใจเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เพื่อช่วยให้เรารับมือกับความเครียดความล้มเหลว และภาวะวิกฤตในชีวิต แล้วกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลหลังเจอความทุกข์ในชีวิต และอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเหล่านี้รับมือกับอาการของโรคที่เป็นอยู่ได้ดีขึ้นด้วย

ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) ทักษะในการรับมือกับอุปสรรคในชีวิต

ลักษณะของความยืดหยุ่นทางจิตใจ

โดยทั่วไป คนที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจจะเข้าใจธรรมชาติของชีวิตว่าอุปสรรคเกิดขึ้นได้เสมอ และเชื่อว่าตัวเองสามารถจัดการความรู้สึกในแง่ลบโดยไม่ปล่อยให้บั่นทอนจิตใจ มีความมุ่งมั่นและมีทักษะในการแก้ปัญหาเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่มีความเมตตาต่อตัวเอง (Self-Compassion) ไม่โทษตัวเองเมื่อเจอปัญหา และรู้ว่าเมื่อไรที่ควรขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัว

ความยืดหยุ่นทางจิตใจแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก ทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่มคนในสังคม ดังนี้

  • ความสามารถในการการฟื้นฟูร่างกาย (Physical Resilience) คือการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสามารถฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเผชิญกับความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
  • ความสามารถในการปรับสภาพจิตใจ (Mental Resilience) คือความแข็งแกร่งทางจิตใจในการรับมือและปรับตัวต่อความไม่แน่นอน ความท้าทาย และความยากลำบากในชีวิตได้ และยังมีความหวังเสมอแม้จะเผชิญกับความล้มเหลว
  • ความสามารถในการปรับสภาวะอารมณ์ (Emotional Resilience) คือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในภาวะเครียดและยากลำบาก รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และกระตือรือร้นที่จะจัดการกับความรู้สึกของตัวเองในทางที่ดี
  • ความสามารถในการฟื้นคืนของสังคมและชุมชน (Social/Community Resilience) คือความสามารถของชุมชนในการร่วมกันจัดการปัญหา และฟื้นตัวหลังเจอภาวะวิกฤต เช่น ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด รวมทั้งหาแนวทางการป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ในอนาคต

เทคนิคฝึกความยืดหยุ่นทางจิตใจ

คนแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือเมื่อเจอปัญหาแตกต่างกัน ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น กรรมพันธุ์ ความแข็งแรงทางร่างกาย และลักษณะนิสัยส่วนตัว รวมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ประสบการณ์ชีวิต และสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา ความยืดหยุ่นทางจิตใจจึงเป็นสิ่งที่เรียนรู้และฝึกฝนได้ ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงเทคนิคการฝึกความยืดหยุ่นทางจิตใจในระดับบุคคล เช่น

ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น การจดบันทึกเพื่อทบทวนความคิด เล่นโยคะ นั่งสมาธิ และทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หลีกเลี่ยงการระบายความเครียดด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด

คิดบวกและรู้จุดแข็งของตัวเอง

เทคนิคสำคัญในการฝึกความยืดหยุ่นทางจิตใจคือการปรับความคิดให้เป็นเชิงบวก เริ่มจากยอมรับและเข้าใจว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้คงอยู่ไปตลอด และรู้จักจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด

เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ แต่การก้าวผ่านความล้มเหลวมักจะช่วยให้เราเติบโตขึ้น  จึงไม่ควรคิดมาก หรือปล่อยให้ความทุกข์ในปัจจุบันมาบั่นทอนตัวเอง ควรแก้ไขปัญหาในปัจจุบันโดยใช้ข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำอีก และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคต

สร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง

ความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจได้ เช่น ตั้งเป้าหมายในแต่ละวันที่ชัดเจนและเป็นไปได้ เพราะการทำบางสิ่งได้สำเร็จแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเอง และทำให้เรามีความหวังในการใช้ชีวิตต่อไป หรืออาจช่วยเหลือคนรอบตัวที่กำลังมีปัญหา เช่น เพื่อนสนิท หรือเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ยากไร้ก็อาจทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

เสริมความเชื่อมั่นให้ตัวเอง

แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อมั่นในตัวเองและมองโลกในแง่ดีเมื่อชีวิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่พยายามไม่วิตกกังวลและรู้สึกแย่กับตัวเองจนเกินไป อาจลองนึกภาพสิ่งดี ๆ และความสำเร็จที่เราอยากให้เกิดขึ้นหากเราพยายามอีกสักครั้ง บอกกับตัวเองว่าทุกปัญหามีทางแก้ไขเสมอ ถ้าคนอื่นสามารถเอาชนะปัญหาได้ ในสักวันหนึ่งเราก็จะสามารถก้าวข้ามปัญหาในชีวิตได้เช่นกัน 

พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เช่น คนในครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน จะช่วยให้เสริมความแข็งแรงทางจิตใจได้ เพราะเมื่อเราเจอปัญหา คนเหล่านี้จะสามารถเป็นที่พึ่งและเป็นแรงสนับสนุนให้เราได้ จึงควรหาเวลาพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง เช่น รับประทานอาหาร และออกไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุด

ทั้งนี้ หากรู้สึกเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่สนใจทำในสิ่งที่เคยชอบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือมีอาการอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป