คอมพิวเตอร์ กับอาการตาล้าหลังจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน

หลายคนอาจเคยมีอาการตาล้าหลังจากจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในยุคดิจิทัล เนื่องจากคอมพิวเตอร์และเครื่องมือเหล่านี้มีประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการทำงาน การเรียน การติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการผ่อนคลายความเครียด ทำให้หลายคนจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณเรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้อย่างถูกต้อง อาจช่วยป้องกันการเกิดอาการตาล้าและช่วยถนอมสายตาได้อีกด้วย

2094 คอมพิวเตอร์ กับอาการตาล้า rs

อาการตาล้าเป็นอย่างไร ?

ตาล้า เป็นอาการเจ็บปวดบริเวณดวงตาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยอาจเกิดจากการใช้งานสายตาอย่างหนัก เช่น จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ และขับรถเป็นระยะทางไกล เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีอาการตาล้าอาจมีสัญญาณอาการที่บ่งบอก ดังนี้

  • เจ็บตา รู้สึกตาล้า แสบตา
  • คันบริเวณดวงตา
  • มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน
  • ตาไวต่อแสง
  • ลืมตาไม่ขึ้น
  • ตาแห้ง หรือน้ำตาไหล
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดบริเวณคอ ไหล่ หรือหลัง
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ทำให้มีอาการตาล้าได้อย่างไร ?

การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของปัญหาสายตาต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมและอาการตาล้า โดยปกติแล้วคนเราจะกะพริบตาประมาณ 15 ครั้งต่อนาที ซึ่งการกะพริบตาจะทำให้น้ำตากระจายไปทั่วบริเวณดวงตาและช่วยลดอาการตาแห้งหรือระคายเคืองตาได้ แต่มีนักวิจัยที่พบว่ากิจกรรมบางอย่างที่ต้องอาศัยการเพ่งสายตา เช่น การอ่านหนังสือ การดูโทรทัศน์ และการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ส่งผลให้คนกะพริบตาน้อยลงประมาณครึ่งหนึ่งจากปกติ จึงอาจทำให้ตาแห้งหรือระคายเคืองตาได้ นอกจากนี้ ความเข้มข้นของแสง เงา และความจ้าของแสง รวมถึงการกะพริบของหน้าจอคอมพิวเตอร์ อาจทำให้มองเห็นภาพได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตาล้าได้เช่นกัน

วิธีป้องกันอาการตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์

อาการตาล้าหลังจากใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิตัลต่าง ๆ ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงาน และการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่คุณอาจป้องกันหรือบรรเทาอาการตาล้าในเบื้องต้นได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์
ไม่จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ใกล้จนเกินไป โดยควรรักษาระยะห่างที่ประมาณ 25 นิ้ว หรือประมาณความยาวของแขน และหน้าจอควรอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาประมาณ 10-15 องศา และอาจมีการพักสายตาโดยใช้สูตร 20-20-20 ซึ่งเป็นวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อในการเพ่งมองของดวงตาด้วยการหยุดพักสายตาเป็นเวลา 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที ด้วยการมองไกลออกไป 20 ฟุต หรืออาจหยุดพักสายตาเป็นเวลา 15 นาทีหลังจากใช้อุปกรณ์ดิจิทัลทุก ๆ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ อาจกะพริบตาบ่อยขึ้นเพื่อเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงที่ดวงตา ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการตาล้าได้อีกด้วย

ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับการใช้งาน
การปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมอาจช่วยบรรเทาอาการตาล้าได้ เช่น เพิ่มค่าความเข้มข้นของแสงเงาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในระดับที่เหมาะสม ปรับค่าความสว่างของหน้าจอไม่ให้มืดหรือสว่างกว่าสภาพแวดล้อมรอบข้าง ปรับขนาดตัวอักษรและรูปภาพให้อ่านแล้วสบายตา ลดค่าอุณหภูมิสีของหน้าจอเพื่อให้แสงสีฟ้าลดลง เพิ่มอัตราความเร็วในการแสดงข้อมูลบนหน้าจอเพื่อลดการกะพริบของหน้าจอ และใช้แผ่นจอกรองแสงเพื่อลดความจ้าของแสง เป็นต้น

จัดสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เหมาะสม
ควรปรับความสว่างของแสงไฟในห้อง หรือเลือกสถานที่ที่มีความสว่างเพียงพอและเหมาะสมกับความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ควรปรับสภาพอากาศภายในห้องให้เหมาะสมด้วย โดยอาจติดตั้งเครื่องทำความชื้นไว้ในห้องที่ใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ เป็นประจำ

ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
การใช้น้ำตาเทียมอาจช่วยบรรเทาอาการตาล้าและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง และอาการแสบตาหรือไม่สบายตาซึ่งมีสาเหตุมาจากอาการตาแห้งได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้น้ำตาเทียมในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

สวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์
ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพสายตาหากพบว่ามีความผิดปกติทางสายตา ซึ่งอาจจำเป็นต้องตัดแว่นเพื่อปรับระดับสายตาให้เหมาะสม นอกจากนี้ ควรเลือกประเภทของแว่นตาให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานด้วย และอาจใช้แว่นตาสำหรับสวมขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ส่วนผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรรักษาความสะอาดในการใช้คอนแทคเลนส์อยู่เสมอ และสลับสวมแว่นตาบ้างในบางครั้งเพื่อพักสายตา

รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
การรับประทานผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างสารสกัดจากบิลเบอร์รี่และกรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลาอาจช่วยบรรเทาอาการตาล้าได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในด้านนี้อีกครั้ง ดังนั้น ผู้ที่ต้องการบำรุงหรือรักษาสุขภาพดวงตาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแต่ละชนิดก่อนบริโภคเสมอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสายตาและดวงตาจากการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัล ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นประจำควรเข้ารับการตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอทุกปี และหากมีอาการใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติทางสายตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที