ความหมาย คัดจมูก
คัดจมูก (Nasal Congestion/ Stuffy Nose) เป็นภาวะที่รู้สึกมีสิ่งอุดตันอยู่ภายในจมูกจนทำให้หายใจได้ไม่สะดวก ส่วนมากเกิดจากการอักเสบและบวมขึ้นของเยื่อบุในทางเดินจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก พบบ่อยในผู้ที่ติดเชื้อในทางเดินหายใจ แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง เช่น ภูมิแพ้ หรือความผิดปกติในโพรงจมูกได้
คัดจมูกเกิดขึ้นได้เป็นปกติทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ โดยทั่วไปมักไม่ร้ายแรงและหายได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้าน เพียงแต่จะสร้างความรำคาญ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาการคัดจมูกในทารกนั้นต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือการให้นมได้
สาเหตุของอาการคัดจมูก
อาการคัดจมูกอาจเกิดจากสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เกิดความระคายเคืองหรืออักเสบที่เนื้อเยื่อในจมูก เช่น การติดเชื้อ สารก่อภูมิแพ้ หรือโรคต่าง ๆ มักพบว่าสาเหตุที่ทำให้มีอาการคัดจมูก ได้แก่
1. โรคติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ
การติดเชื้อโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และไซนัสอักเสบเป็นสาเหตุของอาการคัดจมูกที่พบได้บ่อย โดยโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่เดิกจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนไซนัสอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่ในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้
โรคหวัดและไข้หวัดใหญ่อาจทำให้มีอาการเบื้องต้นคล้ายกัน เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ไอ เจ็บคอ แต่ไข้หวัดใหญ่มักทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่า เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามร่างกาย ส่วนอาการไซนัสอักเสบคือคัดจมูก หายใจติดขัด มีน้ำมูกเหนียวข้น ไอ เจ็บคอ ปวดหัวและใบหน้า
2. โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ คือโรคที่เกิดจากการตอบสนองผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา และสะเก็ดผิวหนังสัตว์ จะทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุโพรงจมูก ทำให้เกิดอาการคัดจมูก ร่วมกับน้ำมูกไหล จาม คันตา น้ำตาไหล และมีผื่นขึ้นตามตัว
3. สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถ การอยู่ในสภานที่ที่มีอากาศเย็น และการรับประระทานอาหารที่มีรสเผ็ด อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกและน้ำตาไหลได้
4. ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps)
ริดสีดวงจมูกเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุภายในจมูกและโพรงจมูก ทำให้มีก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ยื่นออกมากีดขวางทางเดินหายใจ หากมีขนาดใหญ่อาจทำให้มีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก และมีอาการอื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหลลงลำคอ การรับกลิ่นและรสชาติแย่ลง ปวดหัว และปวดไซนัส
5. ต่อมอะดีนอยด์โต
ต่อมอะดีนอยด์คือต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูก ทำหน้าที่ดักจับชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ เมื่อต่อมอะดีนอยด์เกิดการอักเสบหรือบวมขึ้นจะทำให้มีอาการคัดจมูกและหายใจลำบากตามมาได้
6. ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ยาหลายชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการคัดจมูกได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น
- ยาลดความดัน
- ยารักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น ไวอากร้า (Viagra)
- ยารักษาอาการทางจิต เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) ดูล็อกซีทีน (Duloxetine)
- สเปรย์พ่นจมูกที่ช่วยรักษาอาการคัดจมูก
- ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
7. สาเหตุอื่น ๆ
คัดจมูกอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- เยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
- การได้รับบาดเจ็บที่จมูก
- มีเนื้องอกที่โพรงจมูกหรือภายในจมูก
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสแรกหรือเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและเลือดที่มาเลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้นจนทำให้เยื่อจมูกเกิดการอักเสบ แห้ง หรือมีเลือดออกได้
- โรคอื่น ๆ เช่น ไทรอยด์ กรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อาการคัดจมูก
คัดจมูกเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคโดยตรง ผู้ที่มีอาการคัดจมูกอาจมีอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น
- รู้สึกคัดแน่นในจมูก หายใจไม่ค่อยสะดวก จากการมีน้ำมูกหรือสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- น้ำมูกไหล
- จาม คันจมูก
อาการคัดจมูกที่ควรไปพบแพทย์
โดยทั่วไป อาการคดจมูกมักไม่รุนแรงและหายได้ภายในเวลาไม่นาน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตัวเองใน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการคัดจมูก ควรไปพบแพทย์
- หน้าผาก แก้ม ตา หรือข้างจมูกบวม มีอาการชาที่แก้มหรือหน้าผาก
- เจ็บคอ หรือมีตุ่มสีขาวหรือเหลืองที่ลำคอ
- คัดจมูกข้างใดข้างหนึ่ง หรือมีน้ำมูกไหลออกจากจมูกเพียงข้างเดียว
- น้ำมูกเป็นสีเหลืองหรือเขียว พร้อมกับมีอาการเจ็บโพรงจมูกหรือมีไข้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรียและจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- น้ำมูกมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- มองเห็นภาพซ้อน
- มีเลือดออกปนมากับน้ำมูกหรือมีน้ำมูกใส ๆ ไหลอย่างต่อเนื่องหลังได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- เลือดกำเดาไหลไม่หยุด
- มีไข้
- เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนที่มีอาการคัดจมูกร่วมกับมีไข้
- ทารกที่มีอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหลจนเป็นอุปสรรคต่อการให้นมหรือทำให้หายใจได้ลำบาก
- ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืด หรือโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
- มีอาการคัดจมูกจนไม่สามารถนอนได้ หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
การวินิจฉัยอาการคัดจมูก
แพทย์มักวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการคัดจมูกด้วยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งโดยมากจะไม่จำเป็นต้องรับการตรวจใด ๆ เป็นพิเศษ แต่หากไม่พบสาเหตุของอาการคัดจมูกที่แน่ชัดหรืออาการยังไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษา อาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจภูมิแพ้ และการตรวจเลือด
วิธีอื่น ๆ ที่ใช้ตรวจหาสาเหตุของอาการคัดจมูกเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจดูบริเวณหลังจมูก การตรวจด้วยการถ่ายภาพซีที สแกน (CT Scan) และเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan)
การรักษาอาการคัดจมูก
การดูแลรักษาอาการคัดจมูก มีดังนี้
1. การดูแลตนเอง
อาการคัดจมูกโดยทั่วไปอาจบรรเทาได้ด้วยการดูแลรักษาตนเองตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้
- สั่งน้ำมูกออกมาเบา ๆ เพื่อให้จมูกโล่งขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้น้ำมูกไม่จับตัวเหนียวและปิดกั้นโพรงจมูก
- ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ช่วยขจัดน้ำมูกให้เบาบางลง ชะล้างสิ่งแปลกปลอม สารก่อภูมิแพ้ และอาจช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคในโพรงจมูก กรณีเด็กทารกและเด็กเล็กให้หยดน้ำเกลือปราศจากเชื้อปริมาณเล็กน้อยเข้าไปในจมูก จากนั้นใช้ลูกยางที่สะอาดดูดเอาน้ำมูกออกมาเบา ๆ
- หลีกเลี่ยงสารก่อความระคายเคืองที่อาจกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ยิ่งขึ้น เช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5
- ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ปิดหน้าต่างในวันที่มีลมแรง ทำความสะอาดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ หรือใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อให้อากาศในบ้านสะอาด
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดวางบนใบหน้า เป็นการช่วยเปิดโพรงจมูกที่แน่น เพื่อให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือหายใจโดยอังหน้ากับไอจากหม้อน้ำร้อน ทำประมาณ 5–10 นาที
- ยกศีรษะให้สูงขึ้นจากปกติระหว่างการนอนหลับในเวลากลางคืน จะทำให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกตอนกลางคืน
2. การรักษาด้วยการใช้ยา
อาการคัดจมูกสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรและอ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยารักษาอาการคัดจมูกต่อไปนี้
ยาทาชนิดขี้ผึ้ง
ยาทาที่มีส่วนผสมของการบูร เมนทอล หรือยูคาลิปตัส ใช้ทาบริเวณหน้าอกช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้หายใจได้คล่อง แต่ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
ยาแก้คัดจมูก
ยาแก้คัดจมูกชนิดเม็ดหรือน้ำเชื่อม ถือเป็นยาชนิดที่ปลอดภัยหากจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) และฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)
ยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูก เช่น ยาเอฟีดรีน (Ephedrine) และออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดี แต่ไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5–7 วัน เพราะหากใช้นานกว่านี้อาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำมูกหลังหยุดใช้ได้
และหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ส่วนเด็กอายุ 6–12 ปีอาจใช้ยานี้ได้เป็นเวลานานสุด 5 วัน หากไม่มีการรักษาวิธีอื่น ๆ ที่ได้ผล
ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นยาใช้บรรเทาอาการคัดจมูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสาเหตุมาจากภูมิแพ้หรือริดสีดวงในจมูก ยานี้จะช่วยลดอาการบวมภายในจมูก ปลอดภัยต่อเด็กและผู้ใหญ่ และการใช้ยาควรได้รับการดูแลจากแพทย์หากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน
ยาแก้แพ้
ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากโรคภูมิแพ้ เช่น มีอาการคัดจมูกร่วมกับมีน้ำมูกใส ๆ ไหลอย่างต่อเนื่อง จาม คันหรือน้ำตาไหล การใช้ยาแก้แพ้ เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) หรือเซทิริซีน (Cetirizine) จะช่วยลดอาการอื่น ๆ ของโรคที่เกิดขึ้นได้ในคราวเดียว นอกจากนี้ ยารักษาโรคหวัดบางชนิดก็อาจพบว่ามีส่วนผสมของยาแก้แพ้เช่นกัน
ทั้งนี้ ยาแก้แพ้ควรรับประทานตอนกลางคืนก่อนนอน เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกง่วงนอนได้
ยาบรรเทาอาการปวด
แม้ว่าจะไม่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก แต่ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซนสามารถใช้รับประทานเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโพรงจมูกอักเสบได้
ภาวะแทรกซ้อนของอาการคัดจมูก
หากมีอาการคัดจมูกเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น ริดสีดวงจมูก โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-Allergic Rhinitis) การติดเชื้อแบคทีเรีย การมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือโรคทางพันธุกรรม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น
- ไม่สามารถหายใจทางจมูกได้
- มีปัญหาเกี่ยวกัลการนอนหลับ เช่น หยุดหายใจขณะหลับ
- อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ
- มึนงง สมองตื้อ และซึมเศร้า
การป้องกันอาการคัดจมูก
อาการคัดจมูกสามารถป้องกันได้โดย
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
- ใช้ปลอกหมอน ผ้านวม และฟูกที่ช่วยป้องกันไรฝุ่น และซักผ้าปูที่นอนเป็นประจำด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอก
- ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ปิดหน้าต่างและประตูให้สนิทในวันที่ลมแรง เพื่อป้องกันละอองเกสรดอกไม้และเชื้อราปลิวเข้าบ้าน
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุ เนื้อสัตว์ และถั่วต่าง ๆ